ข่าวประจำวันที่ 6 มิถุนายน 2567

ข่าวในประเทศ

A person in a suit sitting in a chair

Description automatically generated

นายภูมิธรรม เวชยชัย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

1. 'ภูมิธรรม' ดัน 3 จว. ใต้ เป็นสนามการค้า (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 6 มิถุนายน 2567)

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ลงพื้นที่ตรวจด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และประชุมติดตามความคืบหน้าการยกระดับพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ของไทยกับรัฐติดชายแดนของมาเลเซียสู่การเป็นเมืองคู่แฝด (Twin Cities) มี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ท.ศานติ ศกุลตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ครั้งนี้ ตั้งใจรับฟังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะประชาชน เยาวชน และผู้นำศาสนา ทั้งความยากลำบากและความสำเร็จในการทำงาน เพื่อให้เข้าใจพื้นที่มากขึ้นและนำไปปรับมอบนโยบายการทำงาน ขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด เป้าหมายของรัฐบาลคือ "สนามรบเป็นสนามการค้า" สร้างสันติสุขใน จังหวัดชายแดนผ่านโครงการที่กำลังดำเนินการ อาทิ พัฒนาเมืองคู่แฝด พัฒนาด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก และก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 ที่จะเป็นรูปธรรมในปี 2569 และทุกเรื่องที่นำเสนอขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อชายแดนใต้และประเทศชาติ

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT

 

2'อัญมณี-เครื่องประดับ' ไหลลื่น 8 เดือน ส่งออกเม.ย.พุ่ง 13.57% ห่วงปัจจัยนอก (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 6 มิถุนายน 2567)

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนเมษายน 2567 มีมูลค่า 511.97 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.57% และฟื้นตัวต่อเนื่อง 8 เดือนแล้ว หากรวมทองคำมีมูลค่า 800.61 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 36.74% ส่วนยอดรวม 4 เดือนแรก 2567 ส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 3,025.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 13.39% หากรวมทองคำ มีมูลค่า 4,915.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.83% ทั้งนี้ การส่งออกอัญมณีฯ ไม่รวมทองคำ ฟื้นตัวต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยฟื้นตัวดีขึ้น เงินเฟ้อลด ท่องเที่ยวฟื้นตัว ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ทองคำส่งออกลด เพราะตั้งแต่เดือนมีนาคมราคาปรับตัวสูงขึ้นจนทำนิวไฮในเดือนเมษายน จึงเก็งกำไรมีความเสี่ยง ผู้ส่งออกเลยไม่กล้าที่จะส่งออก จึงมีผลต่อตัวเลขส่งออก โดยตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด อาทิ ฮ่องกง เพิ่ม 27.20% สหรัฐ เพิ่ม 11.91% อินเดีย เพิ่ม 90.33% เบลเยียม เพิ่ม 69.43% เป็นต้น สินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น คือ เครื่องประดับทอง เพิ่ม 11.76% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 27.37% พลอยก้อน เพิ่ม 89.02% เพชรก้อน เพิ่ม 48.31% ของทำด้วยไข่มุกและรัตนชาติ เพิ่ม 33.90% ทองคำ ลด 30.61%

อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งออกช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่ายังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะเครื่องประดับไม่รวมทองคำ จากปัจจัยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น เงินเฟ้อลด เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ท่องเที่ยวฟื้นตัว ส่งผลทำให้แรงซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องจับตาเศรษฐกิจโลก ทั้งตัวเลขจีดีพีสหรัฐ และยุโรป ต่ำกว่าที่คาด ความกังวลเฟดลดดอกเบี้ยใช้มาตรการกีดกันทางการค้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มีอยู่ ฉะนั้น GIT มีข้อแนะนำผู้ประกอบการ ให้ทำตลาดผ่านสื่อดิจิทัล เชื่อมโยงช่องทางค้าปลีกและค้าออนไลน์ให้เป็นหนึ่งเดียว รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายผยง ศรีวณิช

ประธานสมาคมธนาคารไทย

 

3. สารพัดปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 6 มิถุนายน 2567)

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ว่า สถานการณ์การค้าโลกและปริมาณการส่งออกชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น ทำให้ปริมาณการส่งออกของโลกชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศสำคัญๆ ยังฟื้นตัวได้ช้าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้น โดยเฉพาะมาตรการขึ้นภาษีรอบล่าสุดของสหรัฐฯต่อสินค้ากลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โซลาร์เซลล์ เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น โดยมีกำหนดบังคับใช้ภายในปีนี้ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อการค้าโลกส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ถูกสหรัฐฯ มองว่า จีนใช้เป็นฐานการผลิต ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 เติบโต 1.5% ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน จากการหดตัวของการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จำกัด เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวได้ช้าตามการค้าโลกที่ชะลอตัว และปัญหาเอลนีโญ (ฝนแล้ง) ส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ส่วนการใช้จ่ายของครัวเรือนได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ดังนั้น กกร.จึงประเมินว่าในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างจำกัดอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวได้แบบช้าๆตามการค้าโลกที่ชะลอตัว จึงคาดว่าทุกๆปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะทำให้อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้จะเติบโต 2.2-2.7% ภาคการส่งออกขยายตัว 0.5-1.5% อัตราเงินเฟ้อ 0.5-1.0%

อย่างไรก็ตาม กกร. ได้มีการหารือในประเด็นสำคัญๆ อาทิ 1. กกร.เห็นด้วยที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นทั้งมาตรการเพิ่มการท่องเที่ยวช่วงโลว์ซีซัน ที่เชื่อว่าจะช่วยกระจายรายได้ไปทั่วประเทศ 2. กกร. อยู่ระหว่างหารือกับภาครัฐเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำในประเด็นที่ได้นำเสนอรัฐบาลไปแล้วก่อนหน้านี้ และ 3.กกร. มีความกังวลต่อภาคการส่งออกสินค้าที่อยู่ในภาวะชะลอตัวจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่มีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้น

 

ข่าวต่างประเทศ

4. GDP ออสเตรเลีย ขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1/2567 เหตุดอกเบี้ยสูงกระทบการใช้จ่ายผู้บริโภค (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควส์, ประจำวันที่ 6 มิถุนายน 2567)

สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย เปิดเผยรายงานว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียชะลอตัวลงในไตรมาส 1/2567 เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมและเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 1/2567 ของออสเตรเลียขยายตัวเพียง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ต่ำกว่าในไตรมาสก่อนหน้าซึ่งมีการขยายตัว 0.3% และต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่า GDP จะขยายตัว 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี GDP ในไตรมาส 1 ของออสเตรเลียขยายตัวเพียง 1.1% ชะลอตัวลงไตรมาสก่อนหน้าซึ่งมีการขยายตัว 1.5% และเป็นการขยายตัวที่ช้าที่สุดในรอบ 30 ปี หากไม่นับรวมช่วงเวลาที่ออสเตรเลียเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของตัวเลข GDP ออสเตรเลียนั้น ปรับตัวขึ้นเพียง 1.3% และการลงทุนในภาคเอกชนปรับตัวลดลง 0.8%

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การชะลอตัวของ GDP ในไตรมาส 1 อาจเพิ่มแรงกดดันให้กับธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ในการเริ่มวงจรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน หลังจากที่ RBA ได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4.35% ในการประชุม 4 ครั้งที่ผ่านมา

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)