ข่าวประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2567

ข่าวในประเทศ

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

1. พณ.ถกสถานการณ์อาหาร เสริมความมั่นคงในอาเซียน (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2567)

 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้ส่งผู้แทนเดินทางไปเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 44 (The 44 th ASEAN Food Security Reserve Board (AFSRB) Meeting) ระหว่างวันที่ 5-6 มิถุนายน 2567 ณ เมืองวังเวียง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยในปีนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิต การบริโภค การค้า และปริมาณสำรองของอาหารสำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด น้ำตาล และถั่วเหลือง เพื่อประเมินสถานการณ์อาหารในภูมิภาคอาเซียน โดยในปี 2567 คาดการณ์ผลผลิตข้าวรวมของอาเซียนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวหลัก เช่น เวียดนามและเมียนมา มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ไทยจะมีผลผลิตข้าวลดลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 5 อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้ง คาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลในอาเซียนลดลงเนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา และฟิลิปปินส์ มีผลผลิตลดลง อย่างไรก็ดีในภาพรวมอาเซียนยังคงมีผลผลิตข้าวและน้ำตาลเพียงพอต่อความต้องการบริโภคและส่งออกไปทั่วโลก ในขณะที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลือง และข้าวโพดเนื่องจากมีผลผลิตไม่ เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในภูมิภาค โดยคาดว่าในปี 2567 อาเซียนจะ นำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพดเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 5.91 และร้อยละ 0.97 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ในปีนี้ที่ประชุม AFSRB ได้หารือเกี่ยวกับความท้าทายที่ประเทศสมาชิกกำลังเผชิญในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าอาหารหลักในหลายประเทศ ราคาปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ความผันผวนของต้นทุนในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการใช้มาตรการการค้า ซึ่งล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เห็นควรให้มีการศึกษาวิเคราะห์บทบาทและความสำคัญของอาเซียนในระบบอาหารโลก เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค โดยเห็นควรให้ขอความช่วยเหลือด้านเทคนิคและงบประมาณในการดำเนินการจากองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เช่น ASEAN Development Bank (ADB) และ the Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแนวทางการ แก้ปัญหาเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ Senior Officials Meeting of the ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry (SOM-AMAF) ต่อไป

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ 

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

2. เร่งสปีดดันไทยฮับลงทุนอาเซียน (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2567)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังบีโอไอ และธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการลงทุนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ว่า ไทยถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน ด้วยศักยภาพและความพร้อมหลายด้านที่เอื้อต่อการลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและทักษะขั้นสูง รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนเชิงรุกจากภาครัฐ ถือเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยที่ผ่านมารัฐบาลและบีโอไอได้เดินหน้าออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆ ซึ่งในปี 2566 ไทยมีตัวเลขการลงทุนทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี ด้วยมูลค่าขอรับการส่งเสริมกว่า 8.48 แสนล้านบาท เติบโต 43% เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) กว่า 6.63 แสนล้านบาท เพิ่มกว่า 72% โดยไตรมาสแรก 2567 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 724 โครงการ มูลค่า 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% คาดปี 2567 ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เอชเอสบีซีจะใช้เครือข่ายลูกค้าธุรกิจระดับโลก และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย ยกระดับความสามารถในการแข่งขันและสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจ นอกจากนี้ เอชเอสบีซี จะจัดกิจกรรมโรดโชว์ในตลาดสำคัญ เช่น จีน ฮ่องกง อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย อาเซียน ยุโรป และสหราชอาณาจักร เป็นต้น เพื่อส่งเสริมไทยให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค โดยเฉพาะ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์ของบีโอไอ ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานสะอาด

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า บทวิจัย HSBC Global Connections ระบุว่า 37% ของบริษัทที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแล้ว ซึ่งแรงงานที่มีทักษะเป็นปัจจัยทำให้ไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจ ไทยยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคยาวนาน และเป็นส่วนสำคัญของซัพพลายเชนของโลก ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตยานยนต์ใหญ่สุดของอาเซียน มียอดการผลิตสัดส่วนถึง 50% ของภูมิภาค ส่งผลให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ จากประเทศเศรษฐกิจในภูมิภาคและทั่วโลก โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยธนาคารให้การสนับสนุนบีโอไอในกิจกรรมโรดโชว์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเศรษฐกิจดิจิทัล และในรายงานชี้ให้เห็นว่าธุรกิจระหว่างประเทศ 18% ยังไม่ได้ดำเนินธุรกิจในไทย มีแผนขยายธุรกิจเข้ามาในไทยภายใน 2 ปีข้างหน้า

 

A person in a suit

Description automatically generated

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์

รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

3. ดันส่งออกอาหารโต 30% (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2567)

 

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาหอการค้าฯ และสถาบันอาหารได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้มีคุณภาพมาตรฐาน ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูง รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของไทย มีสัดส่วนถึง 24.6% ของจีดีพีอุตสาหกรรม สร้างการ   จ้างงาน 1.14 ล้านคน แต่มีผู้ประกอบการถึง 96% เป็นเอสเอ็มอีที่ยังจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในอีกหลายด้าน มั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมอาหารเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สูงกว่ายอดเดิมที่ 1.138 ล้านล้านบาท ได้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า การนำนวัตกรรมมาพัฒนาการแปรรูปอาหารจะทำมูลค่าการส่งออกอาหารของไทยเพิ่มสูงขึ้น 20-30% จากปัจจุบันที่มีมูลค่าส่งออกรวมราว 1.2 ล้านล้านบาท โดยสินค้าอาหารเป้าหมายคือ อาหารฮาลาล และอาหารอนาคต ที่กำลังเติบโตอย่างโดดเด่น

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a white star

Description automatically generated

 

4. เวิลด์แบงก์หั่นจีดีพีเมียนมา ธ.โลกชี้การเมือง-ความรุนแรงกดศก.ตกต่ำ (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2567)

ธนาคารโลก เปิดเผยรายงานว่า เมียนมากำลังประสบกับภาวะความยากจนมากที่สุดในรอบ 6 ปี ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีงบประมาณปัจจุบันมีแนวโน้มในการเติบโตราว 1% จากเดิมที่คาดไว้ 2% ซึ่งเมียนมาตกอยู่ในความวุ่นวายทางการเมืองและเศรษฐกิจนับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564 โดยความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น การขาดแคลนแรงงาน และค่าเงินที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของประเทศมีความยากลำบากมากขึ้น ทั้งนี้ การปรับลดการคาดการณ์การเติบโตในปี 2567/68 มีสาเหตุหลักมาจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อจำกัดในการเข้าถึงแรงงานการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการขาดแคลนไฟฟ้าส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดไว้

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินที่ผันผวนอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อที่เติบโตอย่างรวดเร็วจะสร้างแรงกดดันต่อภาคครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมจะต้องรับมือกับการขาดแคลนไฟฟ้าและการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ โดยคาดว่าการผลิตพลังงานในประเทศจะลดลงต่อไป สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในช่วงปีปัจจุบันถึงเดือนมีนาคม 2568 ขณะที่ผลผลิตทางเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2562 ประมาณร้อยละ 9 ซึ่งแตกต่างจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ในภูมิภาค

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)