ข่าวประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2567

ข่าวในประเทศ

นายภูมิธรรม เวชยชัย
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

1."ภูมิธรรม"ลุยแก้ปัญหามันครบวงจร (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2567)

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และผู้ประกอบการมันสำปะหลัง ที่จังหวัดนครราชสีมาว่า การหารือครั้งนี้เพื่อรับทราบสถานการณ์การผลิต การตลาดทั้งในและต่างประเทศตลอดจนปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ โดยภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐช่วยเหลือ จึงได้มอบหมายกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานกำกับดูแลเตรียมแผนรองรับตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในระดับต้นน้ำ ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หามาตรการที่เหมาะสมช่วยเหลือเกษตรกรให้มีผลผลิตและปริมาณเชื้อแป้งสูง รวมถึงหามาตรการรักษาเสถียรภาพราคาเพื่อให้เกษตรกรขายหัวมันสดได้ในราคาที่เป็นธรรมพร้อมกับมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการทดลองเพาะปลูกมันสำปะหลังด้วยวิธีการปรับปรุงดินด้วยสารแคลเซียมคาร์บอเนต ส่วนระดับกลางน้ำให้หามาตรการกำกับดูแลการรับซื้อมันสำปะหลังที่เหมาะสม เช่น การขึ้นทะเบียนผู้รับซื้อ ผู้จำหน่ายต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ตลอดจนพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขหลักเกณฑ์การรับซื้อหัวมันสดเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพเชื้อแป้งได้รับความเป็นธรรมในการซื้อขายและเพิ่มปริมาณการใช้มันสำปะหลังภายในประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และแอลกอฮอล์ รวมถึงให้กรมการค้าภายในพิจารณาแนวทางกำกับดูแลการรับซื้อมันสำปะหลังที่เหมาะสม และศึกษาความเป็นไปได้ในการขึ้นทะเบียนผู้รับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกร

อย่างไรก็ดี ขณะที่ระดับปลายน้ำมอบให้กระทรวงพาณิชย์จัดกิจกรรมส่งเสริมขยายตลาดมันสำปะหลังไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักเพียงตลาดเดียว โดยให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศผลักดันการเพิ่มปริมาณโควตานำเข้ามันสำปะหลังกับประเทศปลายทาง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย รวมถึงให้กรมการค้าต่างประเทศ นำคณะผู้ประกอบการไปเปิดตลาดใหม่ โดยเน้นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งมันเส้นมันอัดเม็ดกากมันอัดเม็ด จัดกิจกรรม Roadshow โดยเน้นกลุ่มตลาดอาหารสัตว์ในประเทศตะวันออกกลาง

 

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2ส.อ.ท.จ่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ26ก.ค.นี้ หนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนปรับตัวสู่เครื่องมือแพทย์ (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2567)

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรรมเครื่องมือแพทย์ รองรับการ เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ (Part Transformation) ว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ เริ่มหาแนวทางปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เบื้องต้นสามารถผลิตเครื่องมือแพทย์ความเสี่ยงต่ำได้ และวางเป้าหมายในการต่อยอดปรับปรุงกระบวนการผลิตรองรับเครื่องมือแพทย์ความเสี่ยงที่สูงขึ้นทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศถึงปีละ 9 หมื่นล้านบาท โดยยอมรับว่ากลุ่มผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ได้รับผลกระทบจากยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)จากจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในไทย ทำให้ยอดผลิตและขายรถเครื่องยนต์สันดาปลดลงอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ต้องเปลี่ยนแปลงในเชิงเทคโนโลยีและการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือแพทย์แทน แม้ว่าจะผลิตเครื่องมือแพทย์ได้แต่การทำตลาดยิ่งยากกว่า เพราะต้องได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องอาศัยนโยบายภาครัฐมาสนับสนุน โดยผลักดันให้มีการกำหนดสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศเพื่อ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในทุกมิติ ทั้งการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต การพัฒนามาตรฐาน การวิจัยและนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้สินค้าเครื่องมือแพทย์ในประเทศ และการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเครื่องมือแพทย์ไทย ทบทวนโครงสร้างภาษีนำเข้าวัตถุดิบ การพัฒนาห้องปฏิบัติการสู่สากล และการส่งเสริมนวัตกรรมสู่ Mass Production & Commercialization ขณะเดียวกัน ก็เร่งจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน และข้อเสนอแนะการ ขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยCluster of FTI Future MobilityONE หรือ CFM-ONE หารือคณะทำงานย่อยฯ Part Transformation ในต้นเดือนกรกฎาคมนี้

 

 

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

3. หลายปัญหารุมส่งออก สรท.ชี้การเมืองนิ่งทั้งปีโตได้ 1-2% (ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า, ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2567)

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ดูจากตัวเลขภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤษภาคม 2567 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกมีมูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 7.2% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 960,220 ล้านบาท ขยายตัว 15.1% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคมขยายตัว 6.5%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,563.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 947,007 ล้านบาท ขยายตัว5.5% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2567เกินดุลเท่ากับ 656.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเท่ากับ 13,214 ล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม-พฤษภาคม ของปี 2567 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 120,493.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,298,248 ล้านบาท ขยายตัว 8.1% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่า การส่งออกในช่วงมกราคม-พฤษภาคมขยายตัว 4.3%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 125,954.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัว 3.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,542,224 ล้านบาท ขยายตัว 8.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 ขาดดุลเท่ากับ 5,460.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 243,976 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สรท. คงคาดการณ์การส่งออกปี 2567 เติบโตที่ 1-2% (ณ เดือนกรกฎาคม 2567) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในครึ่งปีหลังที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนการตั้งกำแพงภาษีระหว่างกันและชาติพันธมิตรอาจส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลกรวมถึงการค้าระหว่างประเทศของไทย และต้องจับตาเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯโดยตรงนี้จะมีผลต่อการค้าไทยในช่วงไตรมาสแรกปี'68 นอกจากนี้ ต้นทุนภาคการผลิต ทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ต้นทุนพลังงาน อาทิ น้ำมันและไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำที่อยู่ระหว่างพิจารณาปรับขึ้น รวมถึงต้นทุนค่าระวางเรือ ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) และค่าใช้จ่ายภายในประเทศ (Local Charge) ปรับตัวสูงขึ้นทุกเส้นทาง ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จากการเร่งผลิตและส่งออกของจีนส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นกว่า 300% โดยภาคส่งออกถูกคิดค่าระวางเรือสูงโดยหากตู้สั้นจะถูกคิด 4,000-5,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากเป็นตู้ยาวถูกคิดเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000-8,000 ดอลลาร์สหรัฐ และหากสงครามในตะวันออกกลางและยูโรปยืดเยื้อโอกาสค่าระวางเรือสูงขึ้นอีกได้ แต่โดยรวมตู้ขนส่งสินค้าไม่ขาดแคลนมีเพียงพอแต่มีระยะเวลาขนส่งมีระยะนานขึ้น ส่วนผลความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนไม่กังวล เนื่องจากมองว่าครึ่งหลังปีเงินบาทจะยังคงอ่อนค่าอยู่ที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐถือว่าแข่งขันการค้าไทย

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ประธาน Fed พอใจ เงินเฟ้อลดลง แต่ต้องมั่นใจลดลงอย่างยั่งยืนก่อนเริ่มพิจารณาลดดอกเบี้ย (ที่มา: ศูนย์ข่าวแปซิฟิค, ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2567)

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กล่าวสุนทรพจน์ เมื่อคืนนี้(2 ก.ค.67) เวลา 20.30 น.ตามเวลาไทย ในงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB)ที่เมืองซินตรา ประเทศโปรตุเกส กล่าวว่า เฟดมีความคืบหน้าอย่างมากในการทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย โดยตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดและครั้งก่อนหน้า ชี้ว่า เฟดได้กลับสู่เส้นทางในการทำให้เงินเฟ้อลดลงแล้ว แต่เฟดต้องการความมั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวลงสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน ก่อนที่จะเริ่มต้นกระบวนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป ก็อาจจะทำลายผลงานที่ดีที่เราได้ทำมา แต่ถ้าเราปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไป สิ่งนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวและการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนคำถามที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย.67 หรือไม่ นายพาวเวล ตอบว่า จะไม่กล่าวถึงกำหนดวันที่เฉพาะเจาะจง

นอกจากนี้ นายพาวเวลยังมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐฯในวันที่ 9 ก.ค.67 ก่อนที่จะกล่าวต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 ก.ค.67ก่อนการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 30-31 ก.ค.67

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)