ข่าวประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person with her arms crossed

Description automatically generated

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

1. ตปท. ลงทุนผ่านออนไลน์ (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2567)

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดินหน้าอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในการขออนุญาต/ขออนุมัติตามกฎหมาย โดยเตรียมเปิดให้บริการยื่นคำขอรับใบอนุญาต/หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและงานทางทะเบียนอื่นๆ ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ผ่านระบบออนไลน์ หรือ e-Foreign Business ปลายเดือนกรกฎาคม 2567 โดยผู้ประกอบการหรือนักลงทุนชาวต่างชาติสามารถยื่นคำขอฯ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เต็มรูปแบบครอบคลุมทุกกระบวนงานที่เกี่ยวข้องกับการยื่นขออนุญาต (end-to-end) ตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นคำขอรับใบอนุญาต/หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจ การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signa true) การออกใบอนุญาต/หนังสือรับรองแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Foreign Business License/e-Foreign Certificate) ผ่านช่องทางออนไลน์ และผู้รับบริการสามารถดาวน์โหลดใบอนุญาต/หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันทีระบบ e-Foreign Business จึงเป็นการให้บริการด้านอิเล็กทรอนิกส์สำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติแบบครบวงจรที่ช่วยอำนวยความสะดวกได้จริง

อย่างไรก็ตาม สำหรับ ระบบ e-Foreign Business อยู่ระหว่างการทดสอบระบบให้มีความสมบูรณ์และมีความเสถียรมากที่สุด เพื่อให้นักลงทุนชาวต่างชาติใช้บริการผ่านออนไลน์ด้วยความมั่นใจในระบบรักษาความปลอดภัยทั้งในส่วนของข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลนิติบุคคล สามารถกรอกข้อมูลได้ง่าย ครบ จบในขั้นตอนเดียว ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบให้รองรับการดำเนินงานดังกล่าว ซึ่งการทดสอบระบบฯเป็นไปด้วยดี มั่นใจว่าระบบ e-Foreign Business จะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้รับความสะดวกในการขอรับอนุญาตมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และลดเวลาติดต่อกับภาครัฐ เป็นการยกระดับการลงทุน และช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย (Ease of Doing Business) อีกด้วย

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

อธิบดีกรมสรรพสามิต

 

2สรรพสามิตดันไทยฮับ EV อัดภาษีหนุนตั้งรง.ผลิตรถ-แบตเตอรี่ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2567)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้มีการลงนาม MOU กับค่ายรถยนต์ ผ่านมาตรการ EV 3.0 โดยรัฐบาลชดเชยราคารถยนต์ไฟฟ้าให้กับผู้ซื้อ 1.5 แสนบาทต่อคัน และมาตรการ EV 3.5 รวมทั้งมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ 23 ราย ด้วยการลดภาษีนำเข้าจาก 8% เหลือ 2% โดยมาตรการดังกล่าว ภาคเอกชนต้องเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และมีเงื่อนไขว่าใช้วัสดุในประเทศ 40% และหากนำเข้าในรถยนต์ในปี 2566 จำนวน 1 แสนคัน ต้องผลิตในประเทศในปี 2567 จำนวน 1 แสนคัน หากตั้งโรงงานผลิตไม่ทันภายในปี 2568 ต้องผลิตรถยนต์ 1.5 เท่า ปัจจุบันมีเม็ดเงินลงทุนเพื่อตั้งโรงงานผลิตอีวีในไทยกว่า 40,000 ล้านบาท และในปี 2569 จะมีเม็ดเงินลงทุนผลิตและประกอบแบตเตอรี่รถอีวีกว่า 25,000 ล้านบาท ซึ่งได้เข้าไปพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้ว ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้เซ็นสัญญาแล้ว 8 บริษัท โดยเงินอุดหนุนสำหรับมาตรการ EV 3.5 จะลดลงจากเดิม และจะเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ โดยในปี 2567 ได้รับเงินอุดหนุนสูงสุดคันละ 100,000 บาท ปี 2568 ลดเหลือ 75,000 บาท ปี 2569 เหลือ 50,000 บาท และปี 2570 อยู่ที่ 50,000 บาท นอกจากนี้ในปี 2569 รัฐบาลกำหนดแผนส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ ตั้งแต่การตั้งโรงงานผลิตหน่วยเซลล์ (Cell to Module) การผลิตกลุ่มเซลล์ นำสร้างโมดูล จากนั้นผลิตหลายโมดูล เพื่อสร้างแพ็กเกจเป็นแท่งแบตขนาดใหญ่วางใต้ท้องรถยนต์ เพื่อส่งเสริมการผลิตอุปกรณ์หลักของรถยนต์ไฟฟ้า ขณะนี้ภาคเอกชนยื่นขอบีโอไอวงเงินลงทุน 25,000 ล้านบาท นับว่าไทยได้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งการดึงดูดการลงทุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การดึงเงินลงทุนเข้าประเทศก่อให้เกิด การผลิต การจ้างงาน การเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าผลิตได้ 1.8 ล้านคันต่อปี

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิต จึงต้องศึกษาแนวทางดึงดูดการลงทุนแบตเตอรี่ เบื้องต้นกำหนด หากผลิตแบตเตอรี่มาตรฐาน อึดทนทาน ใช้นาน ขนาดใหญ่ เก็บภาษีน้อย หากผลิตแบตเตอรี่ คุณภาพลดลงเก็บภาษีสูงขึ้น เพื่อใช้มาตรการภาษีเป็นแรงจูงใจ โดยเตรียมเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาลดภาษีแบตเตอรี่ในเร็วๆ นี้ เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาในขั้นต่อไป รวมทั้ง เสนอ ครม. จัดสรรงบประมาณชดเชยรถยนต์ไฟฟ้า จากรอบแรก 7,000 ล้านบาท จำนวน 40,000 คัน เมื่อขยายมาตรการ EV 3.5 ต้องของบเพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท สำหรับยอดจองซื้อ 3.5 หมื่นคัน

 

A person sitting in a chair with a tablet

Description automatically generated

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

 

3. น้ำมัน-ดอกเบี้ยแพงดันค่าขนส่งพุ่ง (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2567)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาส 2 ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยค่าดัชนีแบ่งตามกิจกรรมการผลิต เพิ่มขึ้น 2% เป็นการปรับเพิ่มขึ้นค่าบริการขนส่งทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 2.3% ได้แก่ โลหะประดิษฐ์สิ่งทอ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ตามด้วยหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง เพิ่ม 1.1% ได้แก่ กลุ่มถ่านหินและลิกไนต์ ปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ และหมวดเกษตรกรรมและการประมง 0.7% ส่วนค่าดัชนีแบ่งตามประเภทรถ เช่น ค่าบริการขนส่งด้วยรถตู้บรรทุก เพิ่มขึ้น 1.4% ตามด้วยรถบรรทุกวัสดุอันตราย 1.2% รถบรรทุกเฉพาะกิจ 0.8% รถกระบะบรรทุก 0.7% และรถบรรทุกของเหลว 0.7% ขณะที่รถพ่วงลดลง 0.3% ส่วนรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว ดัชนีไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนเกิดจากดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายปลีกในประเทศสูงขึ้น ซึ่งไตรมาส 2 ปี 2567 สูงขึ้น 4.41% ราคาโดยเฉลี่ยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตลาดสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 8.30% และราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้น 10.17% นอกจากนี้ การส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือน ช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2567 และมีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงอัตราดอกเบี้ย และอัตราค่าจ้างยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตลอดจนการสั่งซื้อธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ก็มีส่วนทำให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2567 คาดจะปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญจากต้นทุนของผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งราคาน้ำมัน ค่าจ้าง ดอกเบี้ยสูง ขณะที่การส่งออกและภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นส่งผลดีต่อความต้องการขนส่งประกอบกับฐานที่ใช้คำนวณดัชนีไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ส่งผลให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในไตรมาส 3 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลอาจส่งผลให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไม่เป็นไปตามที่คาดได้

 

ข่าวต่างประเทศ

A blue and white flag

Description automatically generated

 

4. แบงก์ชาติอิสราเอลหั่นคาดการณ์ GDP ปีนี้และปีหน้า กังวลสงครามยืดเยื้อกระทบศก. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2567)

ธนาคารกลางอิสราเอล เปิดเผยการคาดการณ์ว่า ผลกระทบโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์นั้น จะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2568 โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การคาดการณ์ครั้งล่าสุดของธนาคารกลางอิสราเอลซึ่งมีการเผยแพร่ในวันจันทร์ (8 กรกฎาคม 2567) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีแนวโน้มขยายตัว 1.5% ในปี 2567 และ 4.2% ในปี 2568 ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน ว่าตัวเลข GDP ปี 2567 และ 2568 จะขยายตัว 2% และ 5% ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางอิสราเอลคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2567 จะอยู่ที่ 3% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.7% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ที่ 2.8% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.3%

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของอิสราเอลในไตรมาส 2 ปี 2568 จะอยู่ที่ 4.25% ลดลงเล็กน้อยจากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 4.5% โดยในการประชุมเมื่อวานนี้ ธนาคารกลางอิสราเอลมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4.5% ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 ทั้งนี้ การคาดการณ์ครั้งล่าสุด สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและมีความตึงเครียดมากขึ้นเมื่อเทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน โดยในเวลานั้นธนาคารกลางประเมินว่าการสู้รบจะจบลงภายในสิ้นปี 2567

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)