ข่าวในประเทศ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)
1. พาณิชย์ รุกตลาดเครื่องดื่มในจีน ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ (ที่มา: สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น., ประจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2567)
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ตามนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงการเติบโตของตลาดเครื่องดื่มในจีน ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มใหม่ๆ ที่กำลังขยายตัว และโอกาสในการส่งออกสินค้าเครื่องดื่มของไทยเข้าสู่ตลาดจีน โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของจีน เป็นตลาดที่กำลังเฟื่องฟู เนื่องจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางสังคม ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อุตสาหกรรมนี้ จึงมอบโอกาสมากมายให้กับผู้เล่นในและต่างประเทศ โดยในปี 2566 ขนาดตลาด สูงถึง 1.7395 ล้านล้านหยวน (8.6975 ล้านล้านบาท) สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มซอฟต์ดริ๊ง ครองส่วนแบ่งในตลาด ร้อยละ 68.36 เติบโตร้อยละ 4.1 และร้านเครื่องดื่ม ครองส่วนแบ่งในตลาดร้อยละ 19.30 เติบโตร้อยละ 21.5 แต่ผลการสำรวจในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคร้อยละ 87.4 มีความถี่ในการบริโภคในร้านเครื่องดื่มประเภทชารูปแบบใหม่เพิ่มขึ้นมีความถี่ในการบริโภคเครื่องดื่มรวมถึงน้ำบรรจุขวดลดลง
อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศจีน ได้แก่ น้ำดื่มบรรจุกล่อง เครื่องดื่มอัดลม ผลิตภัณฑ์นม และน้ำอัดลม โดยมีอัตราการบริโภค 63%, 55%, 54% และ 42% ตามลำดับ ส่วนแนวโน้มการพัฒนาเครื่องดื่มชนิดใหม่ๆ จะให้ความสำคัญกับคุณสมบัติพิเศษ อาทิ ลดความเครียด เสริมความงาม ดูแลสุขภาพ รักษ์สิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์สามารถนำมารีไซเคิลได้หรือเบียร์หรือไวน์แบบไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น โดยต้องปรับปรุงกลยุทธ์ทางการตลาด จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย กระตุ้นความสนใจจากผู้บริโภค การกระจายรูปแบบธุรกิจให้ครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การสร้างความต่างให้กับผลิตภัณฑ์ อาจสร้างเรื่องราวหรือออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีลูกเล่น หาความร่วมมือกับคู่ค้าท้องถิ่น ในการ Co-Brand ร่วมมือกับผู้มีชื่อเสียงท้องถิ่นในการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์
นายนภินทร ศรีสรรพางค์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
2. "นภินทร" ประกาศเดินหน้า ผลักดันมาตรฐาน GIT STANDARD สู่สากล (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2567)
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังพบผู้บริหารและเยี่ยมชมการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ว่า จะประกาศเดินหน้าผลักดันมาตรฐาน GIT STANDARD ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อและผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนนโยบายพัฒนาศักยภาพ SME หวังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.25 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดย GIT ได้ความมุ่งมั่นส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ผ่านโครงการต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ หรือ Buy With Confidence โครงการสร้างมาตรฐาน GIT STANDARD การสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME ไทยในมิติต่างๆ การผลักดันมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าอัญมณี รวมถึงการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับระดับประเทศที่เป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ให้สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม นอกจากการพัฒนาผู้ประกอบการโดยเน้นด้านการตลาด และการสร้างแบรนด์แล้ว การส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ SME หรือผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคได้พัฒนารูปแบบสินค้าเครื่องประดับโดยนำเอาความเชื่อ หรืออัตลักษณ์ที่โดดเด่นของท้องถิ่นเหล่านั้น มาผสมผสานกับการออกแบบและสร้างเรื่องราว (Story Telling) ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของสินค้า และสร้างให้เกิด Soft Power แก่ชุมชนและประเทศไทยต่อไป
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. ดันไทยฐานผลิตแผงวงจรฯ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2567)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (พีซีบี) เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของโลก ทำให้เกิดการโยกย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมเข้าสู่ประเทศไทย เนื่องจากศักยภาพและความพร้อมในด้านต่างๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรทักษะสูง และห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ทำให้ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นจุดหมายของการลงทุน โดยที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการส่งออกทั้งประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่ดึงดูดการลงทุนจำนวนมาก โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้กว่า 535,000 ล้านบาท เฉพาะในปี 2566 มีมูลค่าคำขอสูงถึง 334,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2565 สัดส่วน 40% ของคำขอรับการส่งเสริมทั้งหมด หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (พีซีบี) จะเห็นว่า การลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากมูลค่า 15,600 ล้านบาท ในปี 2564 และ 15,900 ล้านบาท ในปี 2565 เพิ่มเป็น 100,860 ล้านบาท ในปี 2566 และยังเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 โดยในช่วง 5 เดือน (มกราคม - พฤษภาคม) ของปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริมพีซีบี และ เซมิฯ 27 โครงการ มูลค่ารวม 36,044 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทชั้นนำจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายพิธาน องค์โฆษิต นายกสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย กล่าวว่า การได้รับสนับสนุนจากบีโอไอ ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทั่วโลกสนใจ ปัจจุบันแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 4% แต่หากเปิดโรงงานจากผู้ลงทุนในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ อีก 50 โรงงาน จะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของไทยเติบโตได้ถึง 10% เป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ส่งผลดีหลายด้านต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างอาชีพและการจ้างงานภายในประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้น 50,000-80,000 ตำแหน่งงาน เฉพาะภาคอุตสาหกรรมแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โดยตลาดพีซีบีทั่วโลก คาดว่า จะมีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2569 เพิ่มขึ้น 3.3% มีการเติบโตสูงถึง 11.1% เนื่องจากมีขนาดเล็ก ประสิทธิภาพสูง และน้ำหนักเบา รวมทั้งแผงวงจรที่มีความยืดหยุ่น กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นในสินค้าเทคโนโลยีสวมใส่และอุปกรณ์อัจฉริยะ คาดว่า จะมีมูลค่า 5.3 แสนล้านบาท ในปี 2569
ข่าวต่างประเทศ
4. IMF คาดเศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.2% ปีนี้ 3.3% ปีหน้า (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2567)
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.2% ในปีนี้ ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเมษายน 2567 ซึ่งปริมาณการค้าโลกปรับตัวขึ้นในปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่งจากเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี นอกจากนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.3% ในปี 2568
อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐสู่ระดับ 2.6% ในปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.7% และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นสู่ระดับ 0.7% ในปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 0.9% ซึ่ง IMF ระบุว่า จีนและอินเดียจะช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปีนี้ โดยจีนจะมีการขยายตัว 5% ในปีนี้
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)