ข่าวประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. สั่งบีโอไออุ้มชิ้นส่วนรถอีวี (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2567)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายแก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้เร่งหามาตรการส่งเสริมที่ช่วยจูงใจแก่ผู้ประกอบการจากจีนที่เข้ามาลงทุนผลิตรถไฟฟ้า (อีวี) ในไทยใช้ชิ้นส่วนประกอบที่ผลิตในไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย ซึ่งมีจำนวนมากให้แข็งแกร่งและสามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์สันดาป (ใช้เครื่องยนต์) เครื่องยนต์ไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนรายเดิมนั้น ให้ภาครัฐยังสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้น ได้เข้ามาหารือร่วมกันในระดับหนึ่งแล้ว เนื่องจากตลาดรถยนต์แบบไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริดที่ยังมีโอกาสเติบโตอยู่ โดยถือว่าเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยอย่างครบวงจร นอกจากนี้ ยังได้ร่วมเปิดโรงงานผลิตรถอีวี จีเอซี ไอออน ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ใช้เงินลงทุน 2,300 ล้านบาท มีกำลังผลิตปีละ 20,000 คัน และในอนาคตจะเพิ่มเป็น 70,000 คัน โดยได้หารือกับผู้บริหารจีเอซี ไอออน ให้หาแนวทางเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งก็มีทิศทางที่เป็นได้อย่างมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายเจิ่ง ชิ่งหง ประธานบริษัท จีเอซี กรุ๊ป กล่าวว่า โรงงานในไทยเป็นโรงงานแห่งแรกที่อยู่นอกประเทศจีน และเป็นฐานผลิตรถอีวีพวงมาลัยขวาเพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก เบื้องต้นโรงงานแห่งนี้ได้ผลิตไอออน วาย พลัส เป็นรุ่นแรกและในอนาคตจะเป็นรุ่นไอออน วี ที่ชาร์จไฟ 1 ครั้งวิ่งได้ประมาณ 750 กิโลเมตร ซึ่งการเปิดตัวโรงงานในไทยครั้งนี้เป็นกลยุทธ์ของบริษัทในการขยายตลาดที่มุ่งการสร้างแบรนด์ในระดับสากล ผลิต และจำหน่าย รวมถึงส่งต่อความรู้ด้านเทคโนโลยีไปสู่ระดับท้องถิ่น เราได้นำเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยที่สุดเข้ามาในไทย พร้อมกับวางแผนสานงานครบวงจร สร้างระบบอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ระดับโลก เพื่อส่งเสริมให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน

 

A person in a suit sitting at a table

Description automatically generated

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2ภาคการผลิตยังไม่ฟื้น ต้นทุนพุ่งฉุดดัชนีอุตฯ ต่ำสุดรอบ 2 ปี (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2567)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับตัวลดลงจาก 88.5 ในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดรอบ 24 เดือน และเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวมยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า จากอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ จากปัญหาหนี้เสีย (NPL) ที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย รถยนต์บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอลง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาสภาพคล่อง ขาดเงินหมุนเวียนในกิจการ และเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งสินค้ายังเป็นปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน ยังมีปัจจัยสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศช่วง Low season และมาตรการฟรีวีซ่าช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติขณะที่การขยายตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ อาเซียน อินเดีย และจีนที่เริ่มฟื้นตัว ตลอดจนการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,341 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน 62.4% เศรษฐกิจในประเทศ 63.4% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 49.4% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 61.9% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้57.1% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 35.1% ทั้งนี้ สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.4 ปรับตัวลดลง จาก 95.7 ในเดือนพฤษภาคม 2567 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายการปรับ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ขณะที่ความไม่แน่นอนของปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และห่วงโซ่การผลิตในตลาดโลก นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รอบใหม่ จากการ ที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติม อาจทำให้สินค้าจากจีนเข้ามาแข่งขันในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งยังมีปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 ช่วยหนุนเศรษฐกิจให้เติบโต

 

A person in a suit sitting at a table with a microphone

Description automatically generated

นายนาวา จันทนสุรคน

ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. กลุ่มเหล็ก ส.อ.ท.ขอภาครัฐช่วยเหลือด่วน (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2567)

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ขอเสนอให้ภาครัฐออกมาตรการป้องกันสินค้าต่างชาติที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ (MiT) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กที่น่าเป็นห่วงเห็นได้จาก 5 เดือนแรกของปีนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่เพียง 29% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 30% คิดเป็นจำนวน 5 ล้านตัน ถือว่าต่ำมาก เทียบกับกำลังการผลิตเหล็กในประเทศอยู่ที่ 16 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ ความต้องการใช้เหล็กในประเทศปีนี้ที่คาดว่าอยู่ที่ 16.1 ล้านตัน เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 16.3 ล้านตัน และเทียบกับ 7-8 ปี ก่อนอยู่ที่ 20 ล้านตัน เป็นการถดถอยลดลง หากอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ค่อยดี เพราะ มีสัดส่วนการใช้เหล็กอยู่ที่ 20% จะทำให้อุตสาหกรรมเหล็กมีโอกาสถดถอยมากขึ้น จึงขอสนับสนุนกระทรวงพาณิชย์ในการเริ่มประกาศใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงการทุ่มตลาดครั้งแรกในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ เพราะแม้มีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก แต่ผู้ผลิตจะเจือสารบางอย่างเพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากร ทำให้ไม่ต้องเสียอากรตอบโต้การทุ่มตลาด

อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดช่วยปกป้องอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อจีนถูกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) จากสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ทำให้จีนหันมาเพิ่มการส่งออกเหล็กมากขึ้น โดยเฉพาะในอาเซียนและตะวันออกกลาง

 

ข่าวต่างประเทศ

A close up of a flag

Description automatically generated

 

4. สหรัฐเปิดเผยแผนเพิ่มการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในทวีปอเมริกา (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2567)

นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เปิดเผยเกี่ยวกับแผนการใหม่สำหรับประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาที่จะเพิ่มการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีความสำคัญในเกือบทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมสมัยใหม่และเป็นภาคส่วนที่จีนควบคุมอยู่ สำหรับแผนการนี้จะเพิ่มศักยภาพของประเทศต่างๆ ในการประกอบ ทดสอบ และบรรจุเซมิคอนดักเตอร์ โดยเริ่มจากเม็กซิโก ปานามา และคอสตาริกา ทั้งนี้ ทวีปอเมริกาควรมีบทบาทมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้เซมิคอนดักเตอร์กับสิ่งต่างๆ ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือไปจนถึงตู้เย็น และระบบอาวุธ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการลงทุนมากขึ้นในทวีปอเมริกาเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และระบุย้ำว่า เป้าหมายของ 12 ประเทศในการประชุมครั้งนี้ คือการจัดสรรเงิน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งนี้จัดขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมืออเมริกาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นโครงการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดตัวเมื่อ 2 ปีก่อน สำหรับการประชุมสุดยอดครั้งต่อไปนั้นมีกำหนดจัดขึ้นในปีหน้าในประเทศคอสตาริกา     

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)