ข่าวในประเทศ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
1. ส.อ.ท.ผนึกพันธมิตรสร้างนวัตกรรม 8 อุตฯ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2567)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) กับมอนต์โกเมอรี เคาน์ตี รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ซึ่งความสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ว่า เป็นก้าวสำคัญในการสร้างระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งและส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งจะเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจไทยในการขยายตัวเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาทั้งนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพผ่านการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและการสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยข้อตกลงนี้ไม่เพียงแต่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคอีกด้วย นอกจากนี้ ส.อ.ท. ได้นำผู้ประกอบการร่วมออกบูธ Startup x Innovation Thailand Expo 2024 (SITE 2024) ภายใต้งานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยพลังสหวิทยาการ หรือ อว.แฟร์ (SCI POWER FOR FUTURE THAILAND) ที่ผ่านมา โดยเป็นงานแสดงสินค้าด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพและวิสาหกิจนวัตกรรมในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยภายในงาน มีบูธจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการพบปะและเชื่อมโยงกับพันธมิตรทางธุรกิจจากทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรม ได้ทำการศึกษาตัวอย่างการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมจากประเทศชั้นนำ เช่น ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าเรายังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศชั้นนำได้ เนื่องด้วยบุคลากรและงบประมาณที่มีไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. มองว่าจุดแข็งของประเทศไทย คือ ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลกซึ่งเป็นข้อได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ ส.อ.ท. มี 8 อุตสาหกรรมนำร่องที่สอดรับกับความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น อุตสาหกรรมยา สมุนไพร เครื่องสำอาง เชื้อเพลิงชีวภาพและไบโอพลาสติก เป็นต้น โดยภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นทั้งต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และในอนาคตเราจะสามารถแข่งขันได้ หากมีการพัฒนาด้าน R&D ให้เข้มแข็ง ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเอง มีความพร้อมที่จะพัฒนาในส่วนนี้อยู่แล้ว หากได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ก็จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
2. บีโอไอปิดฉาก THECA 2024 ย้ำไทยฐานผลิต PCB อาเซียน (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2567)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การจัดงาน Thailand Electronics Circuit Asia หรือ THECA 2024 ในครั้งนี้ เป็นการประกาศความเป็นผู้นำของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) อันดับ 1 ของอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าในการพัฒนาอุตสาหกรรม PCB ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญที่สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ คอมพิวเตอร์ เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา การลงทุนในอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในช่วงเดือนมกราคม 2566 จนถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB สูงถึงกว่า 140,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงปี 2564-2565 ที่มีมูลค่าคำขอเฉลี่ย 15,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทชั้นนำจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาลงทุนอย่างรวดเร็วของผู้ผลิต PCB ชั้นนำจำนวนมากในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยต้องรีบเตรียมความพร้อม เมื่อโรงงานเหล่านี้สร้างเสร็จและจะเริ่มผลิตในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยบีโอไอจะให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมปัจจัยการผลิต 2 เรื่องที่สำคัญ คือ บุคลากร และ Supply Chain ในเรื่องบุคลากร บีโอไอได้ร่วมมือกับกระทรวง อว. และภาคเอกชน ช่วยจัดหาบุคลากรที่เหมาะสมให้กับผู้ผลิต PCB ผ่านกิจกรรม Job Matching และโปรแกรม Upskill และ Reskill ร่วมกับบริษัทต่างๆ สำหรับเรื่อง Supply Chain บีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยขยายขอบเขตการส่งเสริมอุตสาหกรรม PCB ให้ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต PBC, PCBA, วัตถุดิบและชิ้นส่วน และการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ PCB นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมสร้างการเชื่อมโยงภายในอุตสาหกรรม และสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบส่งให้กับผู้ผลิต PCB เช่น งาน Sourcing Day, งาน SUBCON Thailand และงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่อย่าง THECA ในครั้งนี้ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทย และผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำระดับโลก
นายชัย วัชรงค์
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
3. รัฐเร่งยกระดับสตาร์ทอัพ ขยายเครือข่ายจับคู่เจรจาธุรกิจ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2567)
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่เชื่อว่าสตาร์ทอัพจะเป็นกลุ่มที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ พร้อมสนับสนุนการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวสู่ตลาดระดับสากล ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขานรับนโยบายพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้สตาร์ทอัพด้วยการยกระดับนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และอำนวยความสะดวกให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม ดำเนินการยกระดับนวัตกรรมและเครือข่ายสตาร์ทอัพไทยผ่านการจัดงานมหกรรมนวัตกรรมและเครือข่ายสตาร์ทอัพไทย ในปี 2024 (STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2024 : SITE 2024) ที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยงานนี้จะช่วยสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้เกิดระบบนิเวศสตาร์ทอัพและระบบนิเวศนวัตกรรมที่เข้มแข็ง เสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้แก่สตาร์ทอัพไทยให้ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ ตลอดจนขยายเครือข่ายและยกระดับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการนวัตกรรมของไทยให้มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรม อาทิ การแลกเปลี่ยนความรู้จากสตาร์ทอัพ และนวัตกรรมชั้นนำของไทยและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ตลาดรวบรวมสินค้านวัตกรรมจากสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการนวัตกรรม การเจรจาจับคู่ทางธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้ดำเนินโครงการ DIGINEXT by SEED Thailandส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย และส่งเสริมการจัดตั้งเขตส่งเสริมดิจิทัลในพื้นที่เป้าหมาย แก้ไขปัญหาการขาดแคลนดิจิทัลสตาร์ทอัพในแต่ละพื้นที่ เพิ่มแรงจูงใจให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพรายใหม่ พร้อมช่วยให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพรายเดิมดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยโครงการ DIGINEXT by SEED Thailand จัดขึ้นใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวมทั้งมีการผลักดันกลุ่มสตาร์ทอัพ รวมทั้งดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยนี้ จะช่วยจูงใจให้เกิดสตาร์ทอัพรายใหม่และเสริมแกร่งให้สตาร์ทอัพรายเดิมอยู่ในระบบนิเวศสตาร์ทอัพส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้ทัดเทียมกับสตาร์ทอัพระดับโลก
ข่าวต่างประเทศ
4. ฮ่องกงเล็งกระชับสัมพันธ์กับลาว กัมพูชา และเวียดนาม (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2567)
นายจอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เปิดเผยว่า ฮ่องกงหวังที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระดับรัฐบาลกับลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายลีได้มีถ้อยแถลงดังกล่าวก่อนออกเดินทางเยือนสามประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นเวลา 6 วัน คณะผู้แทนที่ร่วมเดินทางครั้งนี้ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วน ทั้งอุตสาหกรรม การค้า การเงิน การขนส่งโลจิสติกส์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงการท่องเที่ยว โดยทั้งสามประเทศมีประชากรรวมกันราว 120 ล้านคน ถือเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ ระหว่างการเยือนครั้งนี้ คณะผู้แทนจะพบปะผู้นำท้องถิ่นของแต่ละประเทศ นำเสนอพัฒนาการทางเศรษฐกิจและโอกาสในฮ่องกง พร้อมขอการสนับสนุนให้ฮ่องกงเข้าร่วมความตกลง RCEP
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ คณะผู้แทนจะนำเสนอบทบาทของฮ่องกงในฐานะสะพานเชื่อมความสัมพันธ์และผู้สร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)