ข่าวในประเทศ
นายสุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
1. 'สุชาติ' จีบจีนต่อยอดอีวี 3.5 ในอีอีซี (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2567)
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับนายหลี่ เฟย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการค้าและการลงทุน ครั้งที่ 3 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ว่า สองฝ่ายหารือกันในประเด็นการค้าการลงทุน โดยไทย เน้นการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งของไทย โดยผลักดันให้จีนเร่งเปิดตลาดสินค้า อาทิ โคมีชีวิต ผลไม้ (สละและอินทผลัม) ตลอดจนเร่งพัฒนาด่านท่าเรือกวนเหล่ยในมณฑลยูนนานให้เป็นด่านจำเพาะสำหรับการนำเข้าผลไม้ นอกจากนี้ สองฝ่ายร่วมกันส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนและความตกลงอาร์เซ็ปอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมนำผู้ประกอบการไทย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าจีนอาเซียน (CAEXPO) เดือนกันยายน ที่เมืองหนานหนิง งานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) ที่นครเซี่ยงไฮ้ ในเดือนพฤศจิกายน และงานการค้าดิจิทัลโลก (Global Trade Digital Expo) เพื่อนำเสนอสินค้าไทยในตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมฝ่ายจีนให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนในไทยอย่างมาก ซึ่งได้เชิญชวนให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จีนมีศักยภาพ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พลังงานทดแทน ดิจิทัล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยขณะนี้รัฐบาลได้ต่อยอดนโยบายอีวี 3.5 ที่สนับสนุนผู้ลงทุนต่างชาติ ทั้งการให้เงินอุดหนุน การลดภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยหารือเพิ่มความร่วมมือระหว่างอีอีซีกับนักลงทุนจีน เช่น การสร้างความร่วมมือระหว่างนักลงทุนจีนกับสถาบันการศึกษาในอีอีซี เพื่อสร้างบุคลากรรองรับภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอีอีซีกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือจีบีเอ และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี หรือ วายอาร์ดี เป็นต้น สำหรับด้านการลงทุน จีนเป็นนักลงทุนอันดับต้น ของไทย โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2566) มีโครงการที่จีน ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในไทยประมาณ 900 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 9,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
2. ไทยส่งออกข้าวพุ่ง 25% พาณิชย์เพิ่มเป้าคาดทั้งปี 8.2 ล้านตัน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2567)
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม-มิถุนายน) ว่า มีปริมาณ 5.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.12% และมีมูลค่า 117,836 ล้านบาท (ประมาณ 3,304 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 55.50% เป็นผลมาจากผู้นำเข้าข้าวมีความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อใช้บริโภคและเก็บเป็นสต๊อกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ประกอบกับอินเดียยังคงใช้มาตรการควบคุมการส่งออกข้าว และค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่ประมาณ 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ทั้งนี้ กรมฯ ได้ประชุมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อหารือแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 โดยพบมีปัจจัยบวกจากการที่ประเทศผู้นำเข้าสำคัญอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวจากเอกชนผู้ส่งออกข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อและภัยแล้ง โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้มีคำสั่งปรับลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวจากเดิม 35% เหลือ 15% จนถึงปี 2571เพื่อควบคุมแรงกดดันเงินเฟ้อของสินค้าข้าวภายในประเทศ และคาดว่าในปีนี้ฟิลิปปินส์มีแนวโน้มนำเข้าข้าวสูงถึง 4.70 ล้านตัน ขณะที่อินโดนีเซียมีแนวโน้มนำเข้าข้าวประมาณ 3.60-4.30 ล้านตันขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิต จึงเป็นโอกาสในการส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออก นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากปริมาณผลผลิตข้าวนาปีของไทยที่จะออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำสำหรับเพาะปลูกเพิ่มขึ้นจากภาวะเอลนีโญคลี่คลายลง ส่งผลให้ราคาข้าวไทยมีแนวโน้มปรับตัวลดลงและแข่งขันได้มากขึ้น กรมฯ และสมาคมฯ จึงปรับคาดการณ์การส่งออกข้าวไทยปี 2567 เพิ่มขึ้นจากเดิมในช่วงต้นปีที่คาดการณ์ไว้ที่ปริมาณ7.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเป็น 8.2 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามมาตรการการส่งออกข้าวของอินเดีย ซึ่งรัฐบาลอินเดียอาจผ่อนคลายมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวก่อนผลผลิตข้าวฤดูกาลผลิตหลักจะออกสู่ตลาดในเดือนตุลาคม 2567 อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตข้าวของประเทศผู้ส่งออกข้าว ได้แก่ เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา และกัมพูชามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผลผลิตข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นและมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูงนอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน และสถานการณ์ความผันผวนของค่าระวางเรือที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567
นายชัย วัชรงค์
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
3. หนุนสมาร์ทฟาร์มเมอร์สู่ฮับอาหารโลก (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2567)
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินหน้าพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยอย่างต่อเนื่องตั้งเป้าพัฒนาสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรจากท้องถิ่น ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายด้านการเกษตร ดูแลเกษตรกร ยกระดับสินค้าเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นรากฐานสำคัญพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ IGNITE Thailand Agriculture Hub ผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายด้านการพัฒนาการเกษตรอย่างรอบด้าน อัพราคาสินค้าเกษตรให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิมากขึ้น 3 เท่า ใน 4 ปี และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายต่อยอดสู่การสร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์หรือเกษตรกรอัจฉริยะ เน้นการสร้างตลาด นำนวัตกรรมมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร และไม่ใช่อาหารรวมทั้งใช้ความรู้ทางการวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเครื่องจักรเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต ควบคุมคุณภาพ ช่วยแก้ปัญหาการทำเกษตร สร้างมาตรฐานการผลิต รวมถึงสร้างตลาดใหม่เป็นศูนย์รวมการกระจายสินค้าทางการเกษตร ทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายพัฒนาเกษตรกรไทยสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ได้การบูรณาการร่วมกับการบริหารจัดการฟาร์มยุคใหม่โดยข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การบริหารจัดการดังกล่าวเน้นการพัฒนาด้านเกษตรกรรมใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. การลดต้นทุนในกระบวนการผลิต 2. การเพิ่มคุณภาพมาตรฐานการผลิตและสินค้า 3. ลดความเสี่ยงในภาคเกษตรจากการระบาดของศัตรูพืชและภัยธรรมชาติ และ 4. การจัดการและส่งผ่านความรู้ ในมิติผลผลิต โดยเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัยต่อ ผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ข่าวต่างประเทศ
4. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นลด 3.6% ในเดือนมิ.ย. เหตุหยุดผลิตรถยนต์ชั่วคราว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2567)
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายน 2567 ลดลง 3.6% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน โดยสาเหตุหลักมาจากการหยุดผลิตรถยนต์ชั่วคราว อันเนื่องมาจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐาน ซึ่งดัชนีการผลิตของโรงงานและเหมืองแร่ที่ปรับค่าตามฤดูกาลแล้วอยู่ที่ระดับ 100.6 เมื่อเทียบกับฐานปี 2563 ที่ระดับ 100 หลังจากเพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังคงมีมุมมองเช่นเดียวกับในเดือนพฤษภาคม โดยระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมแสดงสัญญาณอ่อนแอและมีความผันผวนอย่างที่ไม่สามารถคาดเดาได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการสำรวจภาคอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม 15 ภาคส่วนบ่งชี้ว่า อุตสาหกรรมทั้ง 15 ภาคส่วนมีผลผลิตลดลง โดยดัชนีการจัดส่งภาคอุตสาหกรรมลดลง 4.3% แตะที่ 99.4 ขณะที่ดัชนีสินค้าคงคลังลดลง 0.6% สู่ระดับ 102.7 ทั้งนี้ กระทรวงฯ คาดการณ์โดยอิงจากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ผลิตว่า ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 6.5% ในเดือนกรกฎาคม และ 0.7% ในเดือนสิงหาคม
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)