ข่าวในประเทศ
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
1. กระทรวงอุตสาหกรรม พักหนี้ 3 เดือน เยียวยาลูกหนี้กองทุน โดนน้ำท่วม (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 29 สิงหาคม 2567)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติจากอุทกภัย โดยการพักชำระหนี้เงินต้น 3 เดือน ให้กับลูกหนี้สินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ นับแต่วันที่อนุมัติการพักชำระหนี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถยื่นความประสงค์ เข้าร่วมมาตรการได้ที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank หรือ ธพว.) ได้ทุกสาขาทั่วประเทศในเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ตามรายงานสถานการณ์สาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ประกาศกำหนด นอกจากนี้ ทางกองทุนได้ออกมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้กับลูกหนี้ของกองทุนทั่วประเทศ โดยสามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้เกินกว่า 2 ครั้ง ซึ่งสามารถแจ้งความประสงค์ที่ ธพว. ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ทุกจังหวัด และ ธพว.
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวนอกจากจะช่วยเหลือบรรเทาภาระการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นลูกหนี้กองทุนแล้ว ยังเป็นการเสริมสภาพคล่อง และลดแนวโน้มการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อีกด้วย
นายวีริศ อัมระปาล
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
2. กนอ.ตั้งวอร์รูมจับตาน้ำป้องท่วม 3 นิคมฯ อยุธยา (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 29 สิงหาคม 2567)
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า กนอ.ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หลังกรมอุตุฯ เตือนฝนตกหนักถึง หนักมากในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ตั้งอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า ขณะที่กรมชลประทานรายงานสถานการณ์ว่าเขื่อนเจ้าพระยาทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดเพื่อรองรับปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงมา รวมถึงฝนที่อาจจะตกในระยะนี้ด้วย ซึ่ง กนอ.เตรียมความพร้อมรับมืออย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กนอ.มีระบบป้องกันน้ำท่วมในแต่ละนิคมอุตสาหกรรม ดังนี้ นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแบบคันดินบดอัดแน่นเสริมด้วยวัสดุป้องกันคอนกรีต ความยาว 5.5 กิโลเมตร ความสูง 8.2 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พร้อมสถานีสูบน้ำ 1 สถานี เครื่องสูบน้ำ 4 ชุด มีกำลังสูบน้ำได้สูงสุด 21,600 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแบบคันดินบดอัดแน่นเสริมด้วยคอนกรีต ความยาว 10 กิโลเมตร ความสูง 6 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พร้อมสถานีสูบน้ำ 4 สถานี เครื่องสูบน้ำ 18 ชุด มีกำลังสูบน้ำได้สูงสุด 32,400 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแบบคันดินบดอัดแน่นเสริมด้วยวัสดุป้องกัน ความยาว 11.1 กิโลเมตร ความสูง 5.4 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พร้อมสถานีสูบน้ำ 1 สถานี เครื่องสูบน้ำ 5 ชุด มีกำลังสูบน้ำสูงสุด 54,000 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
3. ชี้ส่งออกโตไม่เกิน 3% เหตุมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 29 สิงหาคม 2567)
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการส่งออกของไทย โดยประเมินมูลค่าการส่งออกไทยปีนี้จะกลับมาขยายตัวได้ 2.6% จากที่เคยหดตัวในปีก่อน และจะขยายตัวต่อเนื่องได้เล็กน้อยในปีหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกปี 2024 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง 2.7% ตามประมาณการเดิม โดยมุมมองต่อเศรษฐกิจยูโรโซน อินเดีย และอาเซียน 5 ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยปรับดีขึ้นเล็กน้อย และเศรษฐกิจโลกปี 2025 เติบโตสูงกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อยที่ 2.8% (เดิม 2.7%) เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจสำคัญมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าประมาณการเดิมโดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย ขณะที่ยังคงมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาเซียน 5 และอินเดีย นอกจากนี้ ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยจากประมาณการเดิม ทั้งมุมมองขององค์การการค้าโลก (WTO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World bank) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยลดลง จะส่งให้มีอุปสงค์สินค้านำเข้ามากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ IMF ปรับประมาณการปริมาณการค้าโลกในปี 2024 และ 2025 เพิ่มขึ้นเป็น 3.1% และ 3.4% ตามลำดับ รวมทั้ง การส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่ม Power electronics ในตลาดโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรขาขึ้นของคอมพิวเตอร์ที่ฟื้นตัว ขณะที่ ระดับน้ำในคลองปานามากลับมาอยู่ในระดับปกติได้อีกครั้ง หลังจากเผชิญภาวะแห้งแล้งตั้งแต่ปี 2023 ส่งผลให้การเดินเรือระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติกกลับเป็นปกติมากขึ้น ช่วยลดแรงกดดันต่อการค้าโลก แต่ค่าระวางเรือในโลกยังคงอยู่ในระดับสูงเทียบค่าเฉลี่ยในอดีตและปัญหาการขนส่งบริเวณคลองสุเอซยังคงมีอยู่จากสงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อ
อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่าการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลังและปี 2025 จะต้องเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะ 1. การส่งออกไทยอาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการค้าโลกน้อยลง โดยในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องกับปริมาณโลกน้อยลง 2. ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะลานีญา ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนัก/อุทกภัยส่งผลกระทบเชิงพื้นที่และห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร 3. ในระยะข้างหน้าจะมีปัจจัยลบกดดันเศรษฐกิจและการค้าโลกมากขึ้น เช่น ความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วเศรษฐกิจ และสงครามในหลายพื้นที่มีความยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น 4.ค่าระวางเรือ (ค่าขนส่ง) ที่อาจจะกลับมาสูงขึ้นได้อีกจากสงครามที่เกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งและตู้คอนเทนเนอร์ 5. ปัญหา China overcapacity ที่ทำให้จีนส่งออกตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่อุปสงค์ในจีนยังซบเซา และ 6. ผลเลือกตั้งสหรัฐฯ และยุโรปมีแนวโน้มจะเป็น Protectionism ใช้เครื่องมือกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น
ข่าวต่างประเทศ
4. ธนาคารแห่งชาติของลาว เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 10.5 ต่อปี เพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศ (ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, ประจำวันที่ 29 สิงหาคม 2567)
สำนักข่าวซินหัว เปิดเผยรายงานว่า ธนาคารแห่งชาติของลาว หรือ บีโอแอล (BOL) เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 10.5 ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 11 ต่อปี เพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ บีโอแอล ยังปรับปรุงระบบการจัดการเงินตราต่างประเทศ และพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมอัตราการใช้เงินกีบของลาว
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดของ บีโอแอล สืบเนื่องมาจากการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่ปรับขึ้นจากร้อยละ 8.5 เป็นร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามของ บีโอแอล ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของลาวอย่างต่อเนื่อง
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)