ข่าวในประเทศ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
1. 'สมุนไพร' ขึ้นแท่นพลังละมุน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2567)
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การวิเคราะห์ รายธุรกิจในเชิงลึกพบว่า ธุรกิจสมุนไพรไทย มีโอกาสที่น่าสนใจทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพตัวเอง ประกอบกับมีทางเลือกในการป้องกันโรค การรักษาด้วยการใช้สมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของไทย ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจสมุนไพร 18,342 ราย ทุนจดทะเบียน 147,580 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มขายปลีก ขายส่ง 15,060 ราย ทุนจดทะเบียน 124,792 ล้านบาท, กลุ่มผลิตและแปรรูป 1,778 ราย ทุนจดทะเบียน 16,523 ล้านบาท และกลุ่มเพาะปลูก 1,504 ราย ทุนจดทะเบียน 6,265 ล้านบาท สำหรับภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจสมุนไพรในปี 2566 สร้างรายได้ 872,466.83 ล้านบาท เป็นกำไร 27,497.70 ล้านบาท โดยกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง เป็นกลุ่มที่ทำรายได้และกำไรสูงที่สุด โดยมากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก 17,224 ราย ขนาดกลาง 806 ราย และขนาดใหญ่ 312 ราย จะเห็นได้ว่าธุรกิจขนาดเล็กเป็นผู้เล่นที่มีโอกาสในตลาดสมุนไพรมากที่สุด สามารถ นำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดในครอบครัวมาแปรเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมสร้างอาชีพได้ ซึ่งประเทศไทยมีสมุนไพรหลากหลายชนิดที่สามารถเพาะปลูกได้ในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตควบคุมและลดต้นทุนการผลิตได้ รวมถึงแปรรูปป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิดซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบทางการตลาด
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนธุรกิจสมุนไพรในประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุน 38,707 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในกลุ่มขายปลีก ขายส่งมากที่สุด มูลค่าการลงทุน 34,042 ล้านบาท โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจสมุนไพรสูงสุด 3 อันดับ คือ สหรัฐอเมริกา เงินลงทุน 11,809 ล้านบาท, ญี่ปุ่น 5,082 ล้านบาท และสิงคโปร์ 3,274 ล้านบาท ธุรกิจสมุนไพรมีแนวโน้มเติบโตได้ดีโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าของไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติที่มักจะซื้อใช้งานเองหรือนำกลับไปเป็นของฝาก อาทิ ยาดม ยาหม่อง เครื่องสำอาง ยา และอาหาร
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
2. ไทยเนื้อหอมแผ่นวงจรอิเล็กฯ โตกระโดด (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2567)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา การลงทุนในอุตสาหกรรมแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board : PCB) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในช่วงเดือนมกราคม 2566 – มิถุนายน 2567 มีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB สูงถึงกว่า 140,000 ล้านบาท เทียบกับช่วงปี 2564-2565 ที่มีมูลค่าคำขอเฉลี่ย 15,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทชั้นนำจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง ทั้งนี้ การเข้ามาลงทุนอย่างรวดเร็วของผู้ผลิต PCB ชั้นนำจำนวนมากในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยต้องรีบเตรียมความพร้อม เมื่อโรงงานเหล่านี้สร้างเสร็จและจะเริ่มผลิตในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยบีโอไอจะให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมปัจจัยการผลิต 2 เรื่องที่สำคัญคือ บุคลากร และซัพพลายเชนในเรื่องบุคลากร นอกจากนี้ บีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยขยายขอบเขตการส่งเสริมอุตสาหกรรม PCB ให้ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต PBC, PCBA, วัตถุดิบและชิ้นส่วน และการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ PCB ทั้งยังร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และภาคเอกชน ช่วยจัดหาบุคลากรที่เหมาะสมให้กับผู้ผลิต PCB ผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และโปรแกรมการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะให้ดีกว่าเดิม (Upskill) และการสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ (Reskill) ผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำระดับโลก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบีโอไอได้ประกาศความเป็นผู้นำของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ในการจัดงาน Thailand Electronics Circuit Asia หรือ THECA 2024 ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าในการพัฒนาอุตสาหกรรม PCB ถือเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญที่สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ คอมพิวเตอร์ เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics
3. 'ทีทีบี' ห่วงอุตฯ สิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่มขาลงแนะปรับตัว-ชูเอกลักษณ์ความเป็นไทย (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2567)
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยกำลังถูกท้าทายด้วยต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองตลาดในปัจจุบันได้เร็วกว่าและมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ต่ำกว่า หากไทยไม่เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตจากแบบดั้งเดิม (Traditional) ที่เป็นอยู่ พร้อมกับวางกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมเพื่อกีดกันการแข่งขันด้านราคาจากผู้ประกอบการต่างชาติ และยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ บทบาทของสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มต่อเศรษฐกิจไทยคงจะลดลงอย่าง ต่อเนื่อง โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในแง่มุมของการสร้างเม็ดเงินที่สูงถึง 4.17 แสนล้านบาทในปี 2565 ประกอบกับลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น จึงเป็นแหล่งงานสำคัญที่มีการจ้างงานที่สูงถึง 4 แสนตำแหน่ง หรือคิดเป็นราว 10% ของแรงงานในภาคการผลิต
อย่างไรก็ตาม ทางรอดสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ต้องทำตามข้อแนะนำดังต่อไปนี้ 1. กำหนดกลุ่มลูกค้าให้มีความชัดเจน ด้วยแรงกดดันการแข่งขันด้านต้นทุน ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเน้นในเรื่องกลุ่มเป้าหมาย ที่เหมาะกับสินค้าของตนเองผ่านเอกลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ 2. พัฒนาศักยภาพการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังมีพื้นที่ขายตลาด กลุ่มแมส ที่แข่งขันในเรื่องต้นทุนมากกว่าเน้นเรื่องคุณภาพ 3. ขับเอกลักษณ์ประจำชาติ บนเอกลักษณ์ของไทยที่มีวัฒนธรรม อันยาวนาน รวมถึงมีจุดเด่นด้านการแต่งกายประจำภาคก็เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นนั้นๆ ได้
ข่าวต่างประเทศ
4. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเพิ่ม 2.8% อานิสงส์อุปกรณ์ชิป (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2567)
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคม 2567 เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน โดยได้รับแรงหนุนจากการผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สำนักข่าวเกียวโดรายงานข้อมูลดังกล่าวว่า ดัชนีการผลิตของโรงงานและเหมืองแร่ อยู่ที่ระดับ 102.8 เมื่อเทียบกับฐานปี 2563 ที่ระดับ 100 หลังจากลดลง 4.2% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งกระทรวงฯ ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองจากเดือนมิถุนายน โดยระบุว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีความผันผวนอย่างที่ไม่สามารถคาดเดาได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการสำรวจภาคอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม 15 ภาคส่วนบ่งชี้ว่า อุตสาหกรรม 14 ประเภทมีผลผลิตเพิ่มขึ้น และมี 1 ประเภทมีผลผลิตลดลง โดยดัชนีการจัดส่งภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% แตะที่ 101.4 ขณะที่ดัชนีสินค้าคงคลังปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% สู่ระดับ 103.0 ทั้งนี้ กระทรวงฯ คาดการณ์โดยอิงจากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ผลิตว่า ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือนสิงหาคม และลดลง 3.3% ในเดือนกันยายน 2567
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)