ข่าวในประเทศ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
1. พาณิชย์เยือนคาซัคฯ รอบ 17 ปี (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 2 กันยายน 2567)
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการเดินทางเยือนคาซัคสถานครั้งแรกในรอบ 17 ปีว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นของไทยในการขยายตลาดใหม่ไปสู่ภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งแม้ปัจจุบันการค้าไทย-คาซัคสถานจะยังไม่มาก เป็นคู่ค้าอันดับที่ 88 ของไทย แต่ในช่วง 6 เดือนของปีนี้ก็ขยายตัวสูงถึง 300% และจากการสำรวจตลาดแล้วมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก โดย 5 ประเทศ มีประชากรรวมกว่า 100 ล้านคน อีกทั้งเป็นเศรษฐกิจกำลังพัฒนา และมีจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันตลาดคาซัคสถานพึ่งพาการนำเข้าสินค้ามาจากจีน รัสเซียเป็นหลัก แต่สินค้าไทยก็มีโอกาสเจาะตลาดคาซัคสถานได้ โดยเน้นสินค้าคุณภาพ พรีเมียม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง สบู่ สปา ผลไม้สด รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง อาหารแปรรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ เช่นเดียวกับอาหารไทย รวมถึงบริการนวดสปา ก็ได้รับความนิยมมาก กรมฯ จึงได้มอบประกาศนีบัตรไทย ซีเล็กท์ ให้แก่ร้านอาหารไทย บางกอก ไทย คาเฟ่ ณ เมืองอัลมาตี พร้อมได้เยี่ยมชมร้าน พัทยา สปา ที่เป็นโชว์รูม นำสินค้าและบริการซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปจำหน่าย เช่น เครื่องปรุง กางเกงช้าง เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้พบหารือกับผู้บริหาร โลจิสติกส์รายใหญ่ของคาซัคสถาน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และหาลู่ทางการขนส่งสินค้าจากไทย เนื่องจากคาซัคสถาน มีข้อจำกัดเป็นประเทศไม่ติดทะเล ทำให้การขนส่งอาจจะยาก และมีต้นทุนสูง อย่างไรก็ตามก็พบว่าสินค้าไทยสามารถขนส่งมาจำหน่ายที่ คาซัคฯ ได้หลายช่องทาง ทั้งเครื่องบิน หรือทางเรือต่อด้วยทางบกผ่านรัสเซีย จีน หรืออิหร่าน เพื่อเข้ามายังคาซัคสถาน
อย่างไรก็ตาม หลังกลับจากการเดินทางสำรวจลู่ทางการค้าครั้งนี้ กรมฯ มีแผนจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นศูนย์ประสานการค้าของทั้ง 2 ประเทศ โดยจะประชุมสรุปข้อมูลที่ได้จากการเดินทางทั้งหมด เพื่อดูว่าสถานที่ตั้งใดเหมาะสมที่สุด ระหว่างอัสตานาที่เป็นเมืองหลวง กับเมืองแห่งการค้าอัลมาตีซึ่งมีเที่ยวบินตรงจากไทย คาดว่าหลังจากนี้ 2-3 เดือนจะมีความชัดเจน เพราะไทยไม่อยากตกขบวน เนื่องจากทั้งมาเลเซียและญี่ปุ่นได้ตั้งสำนักงานทางการค้าแล้ว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
2. ส.อ.ท.หารือทูตเนปาล ขยายโอกาสทางการค้า-การลงทุน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 กันยายน 2567)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ H.E. Mr. Dhan Bahadur Oli เอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทย และ Mr.Prakash Adhikari อัครราชทูตที่ปรึกษาว่าครั้งนี้เป็นการหารือถึงความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทย-เนปาลซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความเห็นพ้องกันว่าทั้งสองประเทศควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันเพื่อพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรม โดยทางด้านเนปาลต้องการมีความร่วมมือกับไทยในด้านการแลกเปลี่ยนกระบวนการผลิต อาทิ การพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าเกษตรกรรม อุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการสร้างแบรนด์ให้สินค้าซึ่งทางส.อ.ท. ก็มีความยินดีที่จะส่งเสริมกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมทั้งสองฝ่าย รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างภาคเอกชนไทย-เนปาล ในอนาคต ทั้งนี้ ในโอกาสที่ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำบิมสเทค (BIMSTEC SUMMIT) ครั้งที่ 6 ในเดือนกันยายน 2567 ที่จะถึงนี้ โดยจะมีผู้นำกลุ่มประเทศ BIMSTEC เข้าร่วมการประชุมฯดังกล่าว ซึ่งทางเนปาลและไทยเห็นควรร่วมกันที่จะใช้โอกาสจากความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือบิมสเทคดังกล่าว เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนให้เป็นรูปธรรมต่อไป
อย่างไรก็ตาม BIMSTEC (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sector Technical and Economic Cooperation) หรือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจเป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งหมด 7 ประเทศประกอบด้วย บังกลาเทศ อินเดีย เมียนมาเนปาล ศรีลังกา ไทย และภูฏาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อต้องการให้ BIMSTEC เป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ
กระทรวงพาณิชย์
3.การส่งออกสินค้าอาหารอนาคต (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 2 กันยายน 2567)
กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าอาหารอนาคตในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2567 มีมูลค่าถึง 1,869.97 ล้านดอลลาร์ หรือ คิดเป็น 66,727.07 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.32% โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐ จีน และเวียดนาม หากแบ่งกลุ่มสินค้าส่งออก 4 ราย ได้แก่ อาหารฟังก์ชันและสารประกอบเชิงฟังก์ชัน (Functional Food and Functional Ingredients) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงสารประกอบอาหารอื่นๆ ที่มีการเพิ่มสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือลดสารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อยเพื่อให้มีผลต่อการสร้างเสริมสุขภาพ เมื่อบริโภคแล้วสามารถทำหน้าที่อื่นๆ ให้กับร่างกาย นอกเหนือจากความอิ่มและความอร่อยยังให้คุณค่าทางอาหารที่จำเป็น ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคกันตามปกติ อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล (Medical and Personalized Food) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม หรืออาหารเสริมภายใต้การควบคุมของแพทย์ เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยให้ได้รับสารอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อโรค ในรูปแบบทานหรือดื่มแทนอาหารหลักบางมื้อ หรือให้ทางสายยาง โดยเป็นสูตรอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมีสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาสุขภาพ โปรตีนทางเลือก (Alternative Protein)ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีความโดดเด่นทางคุณค่าโภชนาการโปรตีน โดยอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในกลุ่มโปรตีนทางเลือกจะมาจากแหล่งที่ไม่ใช่โปรตีนจากเนื้อปศุสัตว์ และมีปริมาณโปรตีนที่สูงกว่าอาหารทั่วไป โดยแบ่งเป็น 1. โปรตีนจากพืช (Plant-based) 2. โปรตีนจากแมลง (Insect-based) 3. โปรตีนจากจุลินทรีย์ (Microbial-based) และ 4. โปรตีนจากสาหร่าย (Algae-based) และอาหารอินทรีย์ (Organic and Whole Foods) ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่เน้นการผลิตแบบธรรมชาติ ปราศจากการใช้สารเคมีอันตราย ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกจนถึงการแปรรูป ใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติ ช่วยรักษาสภาพดินและสิ่งแวดล้อม ไม่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรม รวมไปถึงอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งหรือผ่านการปรุงแต่งให้น้อยที่สุดเพื่อคงสภาพตามธรรมชาตินั้นๆ ไว้ให้ได้มากที่สุด อาหารอินทรีย์เป็นกลุ่มที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ตระหนักถึงการมีสุขภาพที่ดี คุณภาพของวัตถุดิบและความปลอดภัยของอาหาร
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลยุทธ์การส่งออกสินค้าอาหารอนาคต คือ 1. ขยายการส่งออกสู่ผู้บริโภคชาวจีนและอินเดีย ผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ ในโลกบริโภคอาหารที่ทำจากพืชมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการผลิตสินค้าป้อนให้กับผู้ให้บริการอาหาร Food Services ต่างๆ 2. ขยายช่องทางประชาสัมพันธ์ ขยายการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารอนาคต ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในรูปแบบออนไลน์ ออฟไลน์ 3. ก้าวสู่นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการควรพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยการใช้ข้อมูลแนวโน้มของสินค้าและตลาดส่งออก และผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น การเพิ่มปริมาณโปรตีน การยืดอายุ Shelf-Life และอาหารที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ข่าวต่างประเทศ
4. เกาหลีใต้ส่งออกเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 11 เดือน อานิสงส์ดีมานด์ชิปแข็งแกร่ง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 2 กันยายน 2567)
กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า ยอดส่งออกเดือนสิงหาคม 2567 ปรับตัวขึ้น 11.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 5.79 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 11 โดยได้แรงหนุนจากความแข็งแกร่งของอุปสงค์เซมิคอนดักเตอร์ ส่วนยอดนำเข้าเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เกาหลีใต้มียอดเกินดุลการค้าในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 3.83 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเกินดุลติดต่อกันเดือนที่ 15 สำหรับการส่งออกสินค้าในแต่ละประเภทนั้น ยอดส่งออกชิปพุ่งขึ้น 38.8% ในเดือนสิงหาคม แตะที่ระดับ 1.19 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 10 โดยได้แรงหนุนจากความแข็งแกร่งของยอดส่งออกชิปสำหรับการผลิตสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ หลังจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายแห่งเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI)
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า ยอดส่งออกจากเกาหลีใต้ไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้น 7.9% แตะที่ระดับ 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยนับเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันที่ยอดส่งออกไปยังประเทศจีนมีมูลค่าสูงกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนยอดส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.1% แตะที่ระดับ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ และยอดส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (EU) พุ่งขึ้น 16.1% แตะที่ระดับ 6.43 พันล้านดอลลาร์
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)