ข่าวในประเทศ
นายวีริศ อัมระปาล
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
1. กนอ.พอใจผลงานขาย/เช่าที่ดินกว่า 6 พันไร (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 3 กันยายน 2567)
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2567 กนอ. ประสบความสำเร็จในการขาย/เช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมได้ถึง 6,174 ไร่ (ณ เดือนตุลาคม 2566 – กรกฎาคม 2567) ถือเป็นสถิติใหม่ (New High) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์นั้น สะท้อนถึงความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่สูงมาก (High demand) โดยความสำเร็จนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถของภาคส่วนต่างๆ กนอ. และพันธมิตรในการดึงดูดนักลงทุน รวมถึงเป็นแรงผลักดันให้ กนอ. พัฒนาประสิทธิภาพการบริการ และการบริหารจัดการ นิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน และบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ กนอ. ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับองค์กร กนอ. สู่ยุคดิจิทัล ด้วยการนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ในการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยว่า กนอ. ทำ Digital Transformation มาตั้งแต่ ช่วง Covid-19 โดยพยายามพัฒนาไปสู่ระบบ Big Data และ AI เพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญ รวมถึงระบบ Digital Twin เพื่อบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขยายผล จากนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ไปยังนิคมอุตสาหกรรมของกนอ. เอง 13 แห่ง นอกจากนี้ ยังกำหนดรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่สามารถตอบโจทย์ด้านการใช้ระบบสาธารณูปโภค ด้วยพลังงานสะอาดและคาร์บอนต่ำ หรือ Smart IE. รวมถึงพัฒนากลไกต่างๆ เพื่อบริหารจัดการ ก๊าซเรือนกระจกทั้งระบบ ที่สำคัญ กนอ. ยังดำเนินการจัดตั้ง I-EA-T Academy เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมให้มากที่สุดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ กนอ. กำลังดำเนินแคมเปญ "NOW Thailand" เพื่อกระตุ้นและตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับนักลงทุนต่างชาติ กนอ. และทุกภาคส่วน จะร่วมกันพัฒนาศักยภาพของประเทศ โดยจะมุ่งเน้นดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
2. ต่างชาติลงทุนไทย 7 เดือน หอบเงินเข้า 9 หมื่นล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 3 กันยายน 2567)
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 7 เดือน ของปี 2567 (มกราคม-กรกฎาคม) ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 460 ราย เพิ่มขึ้น 22% เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบ ธุรกิจของคนต่างด้าว 124 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทาง การลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 336 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 90,987 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จ้างงานคนไทย 2,149 คน ลดลง 40% สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ญี่ปุ่น 117 ราย คิดเป็น 25% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 47,879 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการรับจ้างตกแต่งชิ้นงาน ธุรกิจบริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล 2. สิงคโปร์ 71 ราย คิดเป็น 15% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 7,486 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล 3. สหรัฐฯ 70 ราย คิดเป็น 15% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 3,470 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมในการให้คำปรึกษาแนะนำทางเทคนิคและฝึกอบรมเกี่ยวกับการบำรุงรักษา การซ่อมแซม ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการพัฒนาองค์กร 4. จีน 51 ราย คิดเป็น 11% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 7,120 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือ บริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน) ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับกลุ่มภาพและเสียง แบตเตอรี่ความจุสูง เครื่องมือไฟฟ้า และมอเตอร์เครื่องจักรอุตสาหกรรม) และ 5. ฮ่องกง 35 ราย คิดเป็น 8% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 12,131 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องฉีดขึ้นรูป/ ฟิล์มไวแสง) ธุรกิจบริการสร้างภาพยนตร์
อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในช่วง 7 เดือน ของปี 2567 มีจำนวน 137 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติ ที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้น 88% มีมูลค่าการลงทุน 27,677 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 124% เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 45 ราย ลงทุน 8,138 ล้านบาท จีน 29 ราย ลงทุน 3,039 ล้านบาท ฮ่องกง 14 ราย ลงทุน 5,058 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 49 ราย ลงทุน 11,442 ล้านบาท
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
3. สนค.โชว์ 6 ข้อ โรดแม็ปพัฒนาแพลนท์เบสไทย (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 3 กันยายน 2567)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ดำเนินโครงการจัดทำภาพอนาคตสินค้าอาหารจากพืช (แพลนท์ เบส) พร้อมจัดทำโรดแม็ปการพัฒนาแพลนท์เบส 10 ปี (ปี 2567 - 2576) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางภูมิภาค โดย มีข้อเสนอแนะใน 6 ด้าน โดยด้านแรก การผลิตและแปรรูป ผลักดันให้ไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารแพลนท์ เบส ผ่านการส่งเสริมคุณภาพการผลิต โครงสร้างพื้นฐานการเกษตร ด้านที่ 2 ส่งเสริมการตลาดและการท่องเที่ยว ทั้งในและการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมูลค่าสูง การสร้างแบรนด์ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรยั่งยืนและสุขภาพ ส่วนด้านที่ 3 คือด้านวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าและยกระดับคุณภาพให้ประเทศไทย ด้านที่ 4 ฐานข้อมูล ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลสินค้าเกษตรและแพลนท์เบส เพื่อใช้วางแผนพัฒนานโยบายที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการจัดทำฐานข้อมูลพืชศักยภาพในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม ด้านที่ 5 ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพสินค้า อาทิ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เทคโนโลยีการเกษตร สนับสนุนเงินทุนและการวิจัยพัฒนา และด้านที่ 6 กฎหมาย ส่งเสริมให้ปรับปรุงพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร สร้างกรอบที่ชัดเจน สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ได้ประเมินโอกาสของธุรกิจอาหาร แพลนท์ เบส ของไทย โดยพบว่า ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพ และเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออกอาหารสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร ขณะเดียวกันไทยยังเป็นฉากทัศน์ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเทศกาล วัฒนธรรม และเกษตรยั่งยืน รวมทั้งยังมีโอกาสด้านอาหารเพื่อสุขภาพ และการมีโอกาสในเรื่องของสินค้าอาหารแปรรูป จึงทำให้มีโอกาสของการบุกธุรกิจอาหารแพลนท์ เบส
ข่าวต่างประเทศ
4. เกาหลีใต้เผยเงินเฟ้อเดือนส.ค.ต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี คาดหนุนแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ย (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 3 กันยายน 2567)
สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 2% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนกรกฎาคม ที่ปรับตัวขึ้น 2.6% ทั้งนี้ ดัชนี CPI เดือนสิงหาคม ขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีหรือนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2564 และสอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้กำหนดไว้ที่ 2% ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การชะลอตัวลงของดัชนี CPI เดือนส.ค.อาจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้เริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี CPI เดือนส.ค.ปรับตัวขึ้น 0.4% ซึ่งสูงกว่า ในเดือนกรกฎาคม ที่ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนกรกฎาคม และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.3% ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.1% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนกรกฎาคม ที่ปรับตัวขึ้น 2.2% และเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยในการประชุม 12 ครั้งติดต่อกัน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 11 ตุลาคม 2567
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)