ข่าวประจำวันที่ 4 กันยายน 2567

ข่าวในประเทศ

A person in a suit sitting at a table

Description automatically generated

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

1. ชิ้นส่วนรถ 1.51 ล้านล. เร่งทรานส์ฟอร์ม สู่ซัพพลายเชน รถ EV จีนตั้งฐานในไทย (ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, ประจำวันที่ 4 กันยายน 2567)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ส่งผลให้การใช้ชิ้นส่วนในการผลิตรถยนต์หนึ่งคัน เมื่อเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นรถ EV การใช้ชิ้นส่วนได้ลดลงจากหลักหมื่นชิ้น ลดลงเหลือหลักพันชิ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่ส่วนใหญ่ยังผลิตป้อนให้กับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน หากไม่ปรับตัว ทั้งนี้ เปรียบเทียบแล้ว หากนึกภาพไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน ประเทศไทยได้มีการปรับเปลี่ยน หรือทรานส์ฟอร์มจากประเทศเกษตรกรรม สู่ประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์มีค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรปย้าย/ขยายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย โดยนำซัพพลายเชน คือบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนเข้ามาด้วย และมาใช้แรงงานไทยประกอบรถยนต์ คนไทยได้เฉพาะค่าแรง 100% ซึ่งกว่าที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถพัฒนาตัวเองเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นป้อนให้กับโรงงานรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น โดยใช้วิธีการร่วมทุนกับผู้ผลิตชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น หรือเป็นบริษัทคนไทยล้วนแต่มีความสามารถทำได้ก็ต้องใช้เวลา ทังนี้ การที่รถยนต์ EV จีนซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย ใช้ชิ้นส่วนลดลงจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน เปลี่ยนมาเป็นพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ทำให้การใช้ชิ้นส่วนลดลงไปมาก เพราะฉะนั้นในแง่ซัพพลายเชนชิ้นส่วนรถ EV แน่นอนเรายังไม่มี หรือมีก็น้อย ซึ่งไม่ใช่ประเทศเราไม่มีอย่างเดียว ประเทศอื่นก็ไม่มีเทคโนโลยีเช่นกัน จะมีแต่ประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีคือ จีน อเมริกา และยุโรปในบางค่ายเท่านั้น ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็ยังไม่มีเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามากนัก อีกทั้งยังไม่มีซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งเท่าจีน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ไทยจะค่อย ๆ พัฒนาตัวเอง รวมถึงวิ่งเข้าหาค่ายรถยนต์ EV เพื่อนำเสนอตัวเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) เพื่อผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับค่ายรถยนต์ EV ของจีนที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย รวมถึงจากค่ายอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่นที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยหรือในประเทศอื่นๆ ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม มั่นใจผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ปรับตัวเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานค่ายรถยนต์ EV จากจีนได้ ยกอดีต 40-50 ปีก่อน ไทยทรานส์ฟอร์มผลิตชิ้นส่วนป้อนค่ายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในของญี่ปุ่นได้อย่างแข็งแกร่ง ดันอุตสาหกรรมโตกว่า 1.51 ล้านล้าน ทั้งนี้ ฐานการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) หรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงของไทย กำลังถูกท้าทายและปรับเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานไฟฟ้า พลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น ซึ่งเวลานี้มีค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีนได้เข้ามาตั้งฐานการผลิต/เตรียมตั้งฐานการผลิตแล้วหลายค่าย อาทิ BYD, GWM, MG, NETA, GAC Aion, Changan เป็นต้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องคือชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยที่มีมูลค่ามากกว่า 1.51 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ต้องเร่งปรับตัวตามเพื่อความอยู่รอด และเติบโตไปในอนาคต

 

A person in a suit with his arms crossed

Description automatically generated

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า

 

2"กำลังซื้อหาย-งบรัฐล่าช้า" ฉุดดัชนีเชื่อมั่น อุตฯดิจิทัล ไตรมาส 2 หด (ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, ประจำวันที่ 4 กันยายน 2567)

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 2 ประจำปี 2567 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) อยู่ที่ระดับ 52.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 54.1 ของไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น โดยปัจจัยด้านผลประกอบการ ด้านปริมาณการผลิตฯ ด้านคำสั่งซื้อฯ ด้านการจ้างงาน และด้านการลงทุนปรับตัวลดลง ขณะที่ปัจจัยด้านต้นทุนผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ดังกล่าวเป็นผลมาจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการเมืองและการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐล่าช้าก็มีส่วนให้กำลังซื้อในประเทศหดตัวลง ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ลดลงไปมากจากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลลดลงแต่ยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น

อย่างไรก็ตาม หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า 3 กลุ่มอุตสาหกรรมมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 53.0 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 52.8 และกลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 54.0 ในขณะที่อีก 2 กลุ่มอุตสาหกรรมมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำกว่าระดับ 50 กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 48.5 และ กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 49.5 ในไตรมาสนี้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล สร้างความชัดเจนในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จัดทำฐานข้อมูลกลางให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และสนับสนุนการจับคู่ทางธุรกิจรวมถึงส่งเสริมการเปิดตลาดในต่างประเทศ นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมการใช้งานและการลงทุนด้านดิจิทัลด้วยมาตรการทางภาษี

 

A person sitting at a desk

Description automatically generated

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

 

3. สรท.ชี้ปัจจัยลบเพียบคงเป้าส่งออกทั้งเติบโต 1-2% (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 4 กันยายน 2567)

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกรกฎาคม 2567 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การ ส่งออกมีมูลค่า 25,720.6 ขยายตัว 15.2% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 938,285 ล้านบาท ขยายตัว 21.8% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคม ขยายตัว 9.3%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,093.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.1%และมีมูลค่าใน รูปเงินบาทเท่ากับ 999,755 ล้านบาท ขยายตัว 19.4% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2567 ขาดดุลเท่ากับ 1,373.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุลในรูปของเงินบาท 61,470 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย ในเดือนมกราคม-กรกฎาคม ปี 2567 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 171,010.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.8% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,129,300 ล้านบาท ขยายตัว3.8% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออก ในช่วงมกราคม-กรกฎาคม ขยายตัว 4%) ใน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 177,626.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,437,235 ล้านบาท ขยายตัว 9.9% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคมกรกฎาคม 2567 ขาดดุลเท่ากับ 6,615.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขาดดุลในรูปเงินบาท 307,935 ล้านบาท ทั้งนี้ สรท. คงคาดการณ์การส่งออกปี 2567 เติบโตที่ 1-2% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในครึ่งปีหลังที่สำคัญ ได้แก่ 1. ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วอย่างมีนัยสำคัญส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกทันที เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ราคาสินค้าของไทยสูงกว่าคู่แข่ง ส่งผลต่อความสามารถในการแข็งขันที่ลดลงของผู้ประกอบการในประเทศ 2. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และแคนาดา ตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน ส่งผลให้สินค้าจีน ไหลกลับมายังตลาดเอเชีย และสถานการณ์สงคราม ในตะวันออกกลางยังคงยืดเยื้อ 3. ปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งกระทบซัพพลายเชน ในภาคการผลิต และการให้บริการในท่าเรือฝั่งตะวันออก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเดินเรือในภาพรวม, ค่าระวางเรือยังคงตึงตัวและผันผวนในท่าเรือหลัก, ปัญหาสภาพตู้ขนส่งสินค้าที่สายเรือส่งมอบให้บรรจุสินค้าต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ส่งออก และ 4. การเข้าถึงและการตัดวงเงินสินเชื่อของ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม สรท. มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ที่สำคัญ ดังนี้ 1. ด้านโครงสร้าง รัฐบาล ต้องมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นชาติการค้า เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและแข่งขันได้ในระดับสากล และการพัฒนาการส่งออก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2. ด้านโลจิสติกส์ ต้องเร่งแก้ไขปัญหาความแออัดท่าเรือแหลมฉบัง ที่มีมาต่อเนื่อง ประกอบกับค่าน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อต้นทุนที่ผู้ส่งออก- นำเข้า ต้องแบกรับ 3. ด้านการเงิน ต้องรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเร่งประกันความเสี่ยงค่าเงินบาท 4. ด้านการผลิตและต้นทุน โดยต้องกำกับดูแลต้นทุนการผลิตและต้นทุนวัตถุดิบ เพื่อให้การส่งออกของไทยยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันได้ และ 5. ด้านการตลาดและ e-Commerce รัฐต้องกำกับดูแลสินค้าไม่ได้มาตรฐานรวมถึงสินค้าต้นทุนต่ำที่ทะลักเข้ามาในประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศโดยเฉพาะ SMEs และปัญหาการจ้างงานลดลง

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with white stars and red cross

Description automatically generated

 

4. GDP ออสเตรเลียโตเพียง 0.2% ใน Q2/67 เหตุดอกเบี้ยสูงทำผู้บริโภคลดใช้จ่าย (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 4 กันยายน 2567)

สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย เปิดเผยรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2567 ขยายตัวเพียง 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.3% ทั้งนี้ เมื่อเทียบเป็นรายปี ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวเพียง 1.0% ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่มีการขยายตัว 1.2% โดย GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก ทังนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า GDP ไตรมาส 2 ของออสเตรเลียชะลอตัวลงเนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงนั้น ได้ส่งผลให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาคครัวเรือนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของตัวเลข GDP ออสเตรเลียนั้น ปรับตัวลง 0.2% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ฉุดตัวเลข GDP ชะลอตัวลง และส่งผลให้การใช้จ่ายของรัฐบาลกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)