ข่าวประจำวันที่ 24 กันยายน 2567

ข่าวในประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'เอกนัฏ' ปลุกอุตฯ สีเขียว รง.คว้า 5.7 หมื่นใบรับรอง (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 24 กันยายน 2567)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ประจำปีงบประมาณ 2567 "ก้าวสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน...คู่ไปกับการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม...ด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว" ว่า กำหนดนโยบายมุ่งเน้นการปฏิรูป 3 ด้าน ได้แก่ การปฏิรูปที่ 1. การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน 2. Save อุตสาหกรรมไทย และ 3. การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ โดยจะสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรห่วงโซ่อุตสาหกรรม จัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูประบบอุตสาหกรรม และปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล โดยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ปรับปรุงหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวใหม่ พัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน ทั้งนี้ ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักให้บุคลากรในทุกระดับมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เผยแพร่องค์ความรู้ แนวคิด และประสบการณ์จากองค์กรที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เป็นตัวอย่างและแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแก่สถานประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า รางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 มอบให้สถานประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 และระดับที่ 5 ในปี 2566-2567 จำนวน 325 ราย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมสีเขียว ระดับ 5 เครือข่ายสีเขียว 36 ราย และอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับ 4 วัฒนธรรมสีเขียว 289 ราย ณ วันที่ 20 กันยายน 2567 มีสถานประกอบการได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว 57,663 ใบรับรอง

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 

2ปลุกเอสเอ็มอีซอฟต์พาวเวอร์ทั่วไทย โฟกัส 4 อุตฯ เป้าหมาย บูมรายได้ 180 ล. (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 24 กันยายน 2567)

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยในงานเปิดตัวโครงการ SME SOFT POWER : เสริมเสน่ห์ SME อย่างสร้างสรรค์ด้วยสินค้าไทย ภายใต้การส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ SME ด้วย Soft Power ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย (Creative Economy) ให้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และขยายศักยภาพสู่การส่งออกในระดับสากล สำหรับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ สสว.มุ่งส่งเสริม ซึ่งได้แก่ อาหาร ออกแบบแฟชั่น ท่องเที่ยว และภาพยนตร์ โดย สสว.จะสนับสนุนในมิติต่างๆ อาทิ เร่งผลักดันการท่องเที่ยวศักยภาพสูง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวทางน้ำ และอุตสาหกรรมการจัดแสดงและประชุม หรือธุรกิจไมซ์ (MICE) เพื่อดึงนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงมาเที่ยวในไทย รวมถึงผลักดันเทศกาลไทยให้ใหญ่ระดับโลก

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว.ร่วมกับ ส.อ.ท. ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ SME ด้วย Soft Power ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปทั่วโลก เป็นการพัฒนากลไกในการช่วยเหลือผู้ประกอบการระยะเริ่มต้นธุรกิจ ช่วยผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ กลุ่มอาหาร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มออกแบบแฟชั่น กลุ่มภาพยนตร์ สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และสร้างคุณภาพชีวิต เป้าหมาย 740 ราย ดำเนินการใน 18 กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ คาดสร้างรายได้กว่า 180 ล้านบาท

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

3. บีโอไอหนุนฮานา-ปตท. ลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิปต้นน้ำ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 กันยายน 2567)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ได้นำคณะลงพื้นที่จังหวัดลำพูนเพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการลงทุนผลิตชิป (Wafer Fabrication) แห่งแรกของประเทศไทย ของบริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น (FT1) ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ และกลุ่ม ปตท. หลังจากที่บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบโรงงาน และเตรียมเริ่มก่อสร้างโรงงานในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ จังหวัดลำพูน ภายในเดือนธันวาคมของปีนี้ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรประมาณ 2 ปี ก่อนจะเริ่มผลิตช่วงไตรมาสแรกของปี 2570 ทั้งนี้ บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่นจะจัดตั้งโรงงานผลิตชิปต้นน้ำแห่งแรกในประเทศไทย เงินลงทุนเฟสแรกกว่า 11,500 ล้านบาท โดยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตชิปชั้นนำของเกาหลีใต้ เพื่อผลิตชิป (Wafer) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) ขนาด 6 นิ้ว และ 8 นิ้วมีคุณสมบัติสำคัญที่แตกต่างจากชิปทั่วไปที่ผลิตจากซิลิคอนคือทนกระแสไฟฟ้าและความร้อนสูงได้ จึงเหมาะสมสำหรับการใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมการแปลงพลังงานไฟฟ้า เช่น เครื่อง Server ใน Data Center อุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า Inverter ในยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุปกรณ์แปลงพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สำหรับเหตุผลสำคัญของการเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งของโครงการนี้ เนื่องจากข้อกำหนดหลักของลูกค้า คือ 1. ต้องตั้งในประเทศที่มีความเป็นกลางเพื่อลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ 2. มีต้นทุนที่แข่งขันได้ และ 3. มีขีดความสามารถในการขยายกำลังการผลิตในอนาคต ซึ่งประเทศไทยสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง ไฟฟ้ามีความเสถียรมีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด บุคลากรมีคุณภาพสูงมาตรการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ อุตสาหกรรมรถยนต์ EV ระบบกักเก็บพลังงาน และ Data Center ที่กำลังเติบโตสูง อีกทั้งโรงงานของฮานาฯ ในไทย มีการประกอบกิจการที่ต่อเนื่องจากการผลิตชิปอยู่แล้ว โดยเฉพาะขั้นตอนการประกอบและทดสอบวงจรรวม (IC Assembly and Testing) โดยโครงการลงทุนผลิตชิปครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่ส่งผลต่อการยกระดับประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเซมิคอนดักเตอร์จากเกาหลีใต้แล้ว ยังจะส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าสู่ซัพพลายเชนของเซมิคอนดักเตอร์ นำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศของอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งจะช่วยให้สามารถดึงดูดผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำรายอื่นๆ ให้เข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ดัชนี PPI เกาหลีใต้ลดลงในเดือนส.ค. ตามทิศทางราคาน้ำมัน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 24 กันยายน 2567)

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเกาหลีใต้ปรับตัวลงในเดือนสิงหาคม 2567  เนื่องจากราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันลดลง โดยข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า ดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ลดลง 0.1% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบเป็นรายเดือน พลิกกลับจากที่เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ เมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนี PPI เดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 1.6% ต่ำกว่าในเดือนกรกฎาคม ที่เพิ่มขึ้น 2.6% โดยมีสาเหตุหลักที่ทำให้ดัชนี PPI หดตัวมาจากราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันลดลง 4% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า ดัชนี PPI เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดทิศทางเงินเฟ้อ เนื่องจากมีอิทธิพลต่อราคาสินค้าที่ภาคธุรกิจจะเรียกเก็บจากผู้บริโภคในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ชะลอตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปีครึ่งในเดือนสิงหาคม เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว BOK มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยในการประชุม 13 ครั้งติดต่อกัน โดยการตรึงดอกเบี้ยของ BOK มีขึ้น หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุม 7 ครั้งนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 จนถึงเดือนมกราคม 2566

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)