ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'เอกนัฏ' ถกชาวไร่อ้อย หาช่องลดต้นทุนผลิต (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 กันยายน 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อยได้เข้าพบเพื่อขอรับทราบถึงความคืบหน้า การสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด คุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ปีการผลิต 2566/2567 ว่า ตนมีข้อกังวลในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และขอวางแนวทางไว้ 2 ประเด็น ดังนี้ 1. ประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องผลิตและนำส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล และโรงงานน้ำตาลจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพได้ปริมาณตามมาตรฐาน เพื่อให้เกิดรายได้ ที่มากที่สุดกับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย หากประสิทธิภาพการผลิต ลดลง จะทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายลดลง ส่งผลให้รายได้และราคาอ้อยลดต่ำลงไปด้วย ซึ่งหากมีการเรียกร้องให้รัฐบาลต้องอุดหนุนราคาอ้อย ก็จะผิดกติกาการค้าโลก และ 2. การสนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้มีระยะเวลาในการ ปรับตัว และปรับพื้นที่ปลูกอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ประกอบกับปัญหาภัยแล้ง อาจจะส่งผลให้ราคาอ้อยในปีนี้ลดลงจากปีก่อน ทั้งนี้ ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ในการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานที่ผลิตไฟฟ้าจากใบและยอดอ้อย เป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อยซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยลดการเผาอ้อย และถือเป็นการดูแลรักษา สิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากประชาชนและชุมชนใกล้เคียง
อย่างไรก็ตาม เข้าใจถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย การใช้รถตัดอ้อยหรือการจ้างแรงงานคนตัดอ้อยสด ล้วนมีต้นทุนการผลิต เราต้องหันกลับมาช่วยลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดี และได้สั่งการให้ สอน.หารือกับโรงงานน้ำตาลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ก่อนการเปิดหีบฤดูกาลผลิตปี 2567/2568 เพื่อให้เกิดรายได้ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่มมากขึ้น และให้ สอน. หาวิธีการชดเชยต้นทุนให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงาน และอีกส่วนหนึ่งนำรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายใบอ้อยมาชดเชย ทั้งนี้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย
นายยุทธศักดิ์ สุภสร
ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
2. กนอ.ยกทีมเยือน 'เซินเจิ้น' หอบข้อมูลดึงนักลงทุนจีนปักหมุดไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 กันยายน 2567)
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 22-25 กันยายน 2567 กนอ. ได้จัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในประเทศไทยภายใต้แคมเปญ "Now Thailand - The Golden Era" ณ เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้เชิญชวนนักลงทุนจีนคว้า "โอกาสทอง" เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีน ที่มีมาอย่างยาวนาน และโอกาสการลงทุนที่หลากหลายในประเทศไทย ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางการลงทุน ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แรงงานที่มีทักษะสูง และนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่เอื้อต่อธุรกิจ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความโดดเด่นด้านผลประกอบการทางเศรษฐกิจ และประสิทธิภาพของรัฐบาล จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก กนอ. ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย พร้อมด้วยนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและครบครัน พร้อมให้บริการและสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนอย่างเต็มที่ มุ่งมั่นสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ผ่านโมเดล BCG และนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065 นอกจากนี้ กนอ. พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาให้แก่นักลงทุน และผู้ประกอบการทุกขนาด ยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมแล้วสำหรับการลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเทคโนโลยีต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ในกิจกรรมครั้งนี้ ทาง กนอ. ได้นำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจไทย โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง นโยบายส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่นักลงทุนจะได้รับ พร้อมเผยวิสัยทัศน์ "โอกาสทอง" ที่ประเทศไทยมอบให้นักลงทุนจากจีน ภายในงานยังมีกิจกรรม Roundtable เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างความร่วมมือกับสมาคมนักธุรกิจ เซินเจิ้น ประเทศไทย และ Customer Visit เยี่ยมชมบริษัท BYD Auto Industry Co., Ltd. เพื่อศึกษาความสำเร็จของการลงทุนจากจีนในประเทศไทย โดยปัจจุบันเครือ BYD ได้ลงทุนในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ได้พบปะหารือกับผู้บริหารระดับสูงของ China Council for the Promotion of International Trade (CCPIT) โดย กนอ. ได้แสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมสนับสนุน การลงทุน เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มความเชื่อมโยงทางธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
3. ลุ้นส่งออกไทยทุบสถิติสูงสุด (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 26 กันยายน 2567)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เดือนสิงหาคม 2567 การส่งออกมีมูลค่า 26,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 คิดเป็นเงินบาท 939,521 ล้านบาท เพิ่ม 13% นำเข้า 25,917.4 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 8.9% หรือ 941,019 ล้านบาท เพิ่ม 15% ดุลการค้าเกินดุล 264.9 ล้านเหรียญ แต่คิดเป็นเงินบาทขาดดุล 1,497 ล้านบาท ขณะที่ช่วง 8 เดือน (มกราคม - กันยายน) ปี 2567 การส่งออกมีมูลค่า 197,192.8 ล้านเหรียญ เพิ่ม 4.2% คิดเป็นเงินบาท 7.06 ล้านล้านบาท เพิ่ม 9.9% นำเข้า 203,543.8 ล้านเหรียญ เพิ่ม 5% หรือ 7.37 ล้านล้านบาท เพิ่ม 10.5% มีดุลการค้าขาดดุล 6,351 ล้านเหรียญ หรือ 309,432 ล้านบาท สำหรับการส่งออกเดือนสิงหาคม 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการซื้อสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น กำลังซื้อของคู่ค้าหลักเพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น ค่าระวางเรือขนส่งสินค้าบางเส้นทางลดลงในเดือน สิงหาคม 2567 ส่งผลให้การส่งออกทุกกลุ่มสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 17.4% ทั้งนี้ ในส่วนของค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น แม้จะกระทบต่อการส่งออกไทยบ้าง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ในช่วงตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป แต่จะไม่กระทบการส่งออกภาพรวม ยังคงยืนยันเป้าหมายขยายตัวปีนี้ไว้ที่ 1-2% ค่อนมาทาง 2% มูลค่า 290,776 ล้านเหรียญ สูงสุดในประวัติศาสตร์ หรือ ประมาณ 10 ล้านล้านบาท แต่มีโอกาสที่จะโตเกิน 2% ได้แน่นอน เพราะเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าต้องเฝ้าระวังสูงสุด เพราะอาจทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร หรือเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง และขาดทุนได้เพราะการส่งออกในเดือนสิงหาคม กว่าลูกค้าจะชำระค่าสินค้าก็ประมาณเดือนกันยายน – ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เงินบาทแข็งค่าและเงินที่ได้เมื่อนำมาแลกเป็นเงินบาทจะลดลงมาก และอาจขาดทุนได้ ส่วนการเจรจาออเดอร์เพื่อส่งมอบในเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม อาจทำให้ผู้ส่งออกไม่กล้ารับออเดอร์ เพราะเงินบาทผันผวน ซึ่งอาจทำให้ยอดส่งออกในช่วงปลายปีลดลง
ข่าวต่างประเทศ
4. จีนเผยยอดขายสมาร์ตโฟนแบรนด์ต่างชาติลดลง สะท้อนกระแสชาตินิยม (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 26 กันยายน 2567)
สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศจีน (CAICT) เปิดเผยข้อมูลว่า ยอดขายสมาร์ตโฟนแบรนด์ต่างชาติในจีน รวมถึงไอโฟน (iPhone) ของแอปเปิ้ล (Apple) อยู่ที่ 1.87 ล้านเครื่อง ในเดือนสิงหาคม 2567 ลดลง 12.7% จาก 2.142 ล้านเครื่อง ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ จำนวนโทรศัพท์ที่ขายในจีนทั้งหมดเพิ่มขึ้น 26.7% แตะ 24.05 ล้านเครื่อง ในเดือนสิงหาคม 2567 โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ชาวจีนจำนวนมากขึ้นเลือกซื้อสินค้าแบรนด์จีน ท่ามกลางความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ทางด้าน IDC ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า สมาร์ตโฟนรุ่นเมต เอ็กซ์ที (Mate XT) ของหัวเว่ย (Huawei) มียอดพรีออเดอร์ทะลุหลัก 6.5 ล้านเครื่อง มากกว่าเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับยอดขายสมาร์ตโฟนแบบพับได้ทั่วโลกประมาณ 3.9 ล้านเครื่องในไตรมาสที่ 2/2567 ในขณะเดียวกัน แอปเปิ้ลมียอดขายในจีนลดลง แม้จะเสนอส่วนลดพิเศษให้ก็ตาม โดยในไตรมาสที่ 2/2567 แอปเปิ้ลร่วงจากอันดับ 3 มาอยู่ที่อันดับ 6 ในตลาดจีน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)