ข่าวในประเทศ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
1. อุตฯ หั่นดัชนี MPI ปี 67 เผยหลายปัจจัยลบรุมถล่มยับ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 27 กันยายน 2567)
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 95.08 หดตัว 1.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.30% ส่งผลให้ 8 เดือนแรกของปี 2567หดตัวเฉลี่ย 1.55% และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 58.96% ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 8.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนสถาบันการเงิน มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง รวมถึงสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยขณะเดียวกัน ต้นทุนภาคการผลิตปรับตัวขึ้นตามราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาวะดอกเบี้ยที่ทรงตัว และต้นทุนพลังงานจากราคาน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ในระดับสูงรวมทั้งสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ทำให้การเดินทางการจัดส่งสินค้า การค้าชายแดน และการผลิตชะงักลงโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งจำเป็นต้องหยุดดำเนินการและสถานประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยงต้องปิดตัวชั่วคราว สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนสิงหาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.44% จากรถบรรทุกปิกอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ส่วนชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.84% จาก Integrated circuits (IC) เป็นหลัก โดยเป็นไปตามทิศทางความต้องการสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ในกลุ่มอื่นๆ และคอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.54% จากผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีตและพื้นสำเร็จรูปคอนกรีต เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ และความล่าช้าในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ รวมถึงผลกระทบจากน้ำท่วมบางพื้นที่
อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขดัชนี MPI 8 เดือนแรก ปี 2567 หดตัว 1.55% ส่งผลให้ สศอ.ปรับประมาณการปี 2567 คาดว่าดัชนี MPI หดตัว 1.0-0.0% และการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม หดตัว 0.5% หรืออาจจะขยายตัวได้ 0.5% โดยมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากสถานการณ์เงินเฟ้อของเศรษฐกิจโลกที่ลดลง ส่งผลนโยบายการเงินในหลายๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลาย อัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐปรับตัวลดลง ส่งผลให้เงินทุนไหลออกมายังประเทศในแถบ ASEAN รวมถึงประเทศไทย โดยปีนี้ปีหน้าจะยังไม่เป็นบวก แต่มั่นใจ ปี 2568-2569 จะดีขึ้น ซึ่งมาจากโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก BOI จะเริ่มเข้ามามีส่วนสนับสนุนให้ดัชนี MPI ดีขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์
(SCB EIC)
2. SCB EIC ชี้วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 27 กันยายน 2567)
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยที่ 2.6% และ 2.8% ในปี 2567 และ 2568 ยังถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2553-2562 ที่ 5.3% สะท้อนถึงความท้าทายอย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูแรงขับเคลื่อนของการส่งออกของไทยจากความสามารถในการแข่งขันของไทยที่น้อยลง และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ค่อนข้างล้าหลัง โดยเมื่อพิจารณารายละเอียดในรายผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักของไทย 13 รายการ ซึ่งคิดเป็น 76% ของการส่งออกรวม พบว่า มีเพียง 2 รายการเท่านั้น (อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล และผลไม้) ที่เติบโตได้สูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของโลกในช่วงปี 2562-2566 ขณะที่อีก 11 รายการที่เหลือโตช้ากว่าค่าเฉลี่ยของโลก
อย่างไรก็ตาม รวมถึงปัญหาภายนอกประเทศที่จะกดดันการส่งออกไทยทั้งจาก (1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามที่ยังคงยืดเยื้อ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น หรือมาตรการกีดกันการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น (2) ปัญหา China overcapacity ที่อาจซ้ำเติมปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันของไทย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนลดลง (3) ค่าระวางเรือ (ค่าขนส่ง) ที่อาจจะกลับมาสูงขึ้นได้จากสงครามที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งและตู้คอนเทนเนอร์ และ (4) ผลเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนในนโยบายการเก็บภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทุกประเทศเพิ่มเติม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
3. เงินหมื่นชุบชีวิตจีดีพีไทยเพิ่ม 0.3% ม.หอการค้าไทยสำรวจคนได้ใช้หมดใน 3 เดือน (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 27 กันยายน 2567)
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ ที่เริ่มต้นวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ว่า บรรยากาศกินเจปีนี้คึกคักพอๆกับปีก่อน คาดว่า จะมีเงินสะพัด 45,003 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากปี 66 หรือใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน 4,696 บาท จากปี 2566 ที่ใช้จ่ายเฉลี่ย 4,587 บาท เนื่องจากคนยังระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี รวมทั้งการแจกเงินสด 10,000 บาท ยังไม่มีผลกับการใช้จ่ายช่วงกินเจปีนี้มากนัก เนื่องจากคนกินเจส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิ์ แต่อยู่ในกลุ่มคนเฟส 2 ที่จะได้รับเงินดิจิทัลในปี 2568 นอกจากนี้ เมื่อถามทัศนะต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรคนพิการที่ได้รับเงินสด 10,000 บาท พบว่า ส่วนใหญ่ 93% อยากได้เป็นเงินสดโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ และอีก 7% อยากได้เป็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยคนส่วนใหญ่ 67.3% บอกว่าจะแบ่งใช้เงินหลายครั้งอีก 19.2% ใช้หมดครั้งเดียว และ 13.5% ไม่แน่ใจส่วนสินค้าที่สนใจซื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ทองคำ อัญมณี รองลงมาเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือสื่อสาร สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าวัตถุดิบเพื่อการเกษตรและการค้า
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มคนที่รับเงินสด 10,000 บาท ส่วนใหญ่จะแบ่งใช้จ่ายเงินหลายครั้ง โดยจะใช้จ่ายภายใน 3 เดือน และซื้อสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณี และสินค้าอุปโภคบริโภค คาดว่า เงินหมื่นบาทเฟสแรก วงเงิน 145,000 ล้านบาท จะเข้ามาหมุนในระบบเศรษฐกิจได้ 2-3 รอบ ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัด 250,000-450,000 ล้านบาท จะผลักให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตเพิ่มอีก 0.2-0.3% ส่วนครึ่งหลังปีนี้ คาดจะโตเฉลี่ย 3.5% เพราะคาดว่าไตรมาส 3 จะโตได้ 2.5-3% และไตรมาส 4 จะโตได้ 3.8-4.3% ทำให้ทั้งปีนี้มีโอกาสสูงที่จะเติบโตได้ 2.6-2.8%
ข่าวต่างประเทศ
4. เงินเฟ้อพื้นฐานในโตเกียวเพิ่มขึ้น 2% ในเดือนก.ย. ตรงตามเป้า BOJ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 27 กันยายน 2567)
สำนักงานสถิติแห่งชาติญี่ปุ่น เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น แตะเป้าหมาย 2.0% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในเดือนกันยายน 2567 จากปีก่อนหน้า โดยดัชนี Core CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาอาหารสด ทั้งนี้ ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตัวเลขดังกล่าวชะลอตัวลงจากระดับ 2.4% ในเดือนสิงหาคม โดยส่วนใหญ่มาจากการที่รัฐบาลกลับมาให้เงินอุดหนุนเพื่อควบคุมค่าสาธารณูปโภค ถือเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังมีความคืบหน้าในการบรรลุเกณฑ์สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งดัชนี CPI ของกรุงโตเกียวถือเป็นดัชนีชี้นำภาวะเงินเฟ้อทั่วประเทศญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ทางด้านคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่า BOJ จะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปหากเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มที่จะแตะ 2% อย่างมั่นคงตามที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าเขาจะย้ำว่า BOJ จะใช้เวลาประเมินว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวที่เปราะบางของญี่ปุ่นอย่างไร ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว 2.9% ในไตรมาสสองเมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากการขึ้นค่าจ้างอย่างต่อเนื่องช่วยหนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่การใช้จ่ายด้านทุน (CapEx) ยังคงเติบโต แม้อุปสงค์ที่อ่อนตัวในจีนและการเติบโตของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)