ข่าวในประเทศ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
1.มั่นใจส่งออกปีนี้ 10 ล้านล้านบาท (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 30 กันยายน 2567)
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการส่งออกปี 2567 ว่า คาดว่า จะผลักดันให้ขยายตัวได้มากกว่า 2% มูลค่ากว่า 290,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือได้ถึง 10 ล้านล้านบาท เพราะช่วง 8 เดือน (มกราคม - สิงหาคม) โตมากกว่า 4.8% เกินเป้าคาดการณ์ทั้งปีที่ 1-2% แล้ว และเฉพาะเดือนสิงหาคม 2567 ยังขยายตัวได้มากถึง 7% โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 22,000-23,000 ล้านเหรียญ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าทั้งปีนี้น่าจะขยายตัว ได้เกิน 2% เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นแล้วทำให้บางประเทศ มีศักยภาพนำเข้าสินค้ามากขึ้นเห็นได้จากตลาดส่งออกหลายตลาดกลับมาขยายตัวเป็นบวก รวมทั้งค่าระวางเรือแพงก็คลี่คลายแล้ว และเชื่อว่าการส่งออกไทยจะรักษาโมเมนตั้ม เติบโตดีได้ต่อเนื่อง ไปจนถึงกลางปีหน้า โดยมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 23,000-24,000 ล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และสงคราม แต่หากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเชื่อว่าการส่งออกจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนเงินบาทแข็งค่าในขณะนี้ ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่เชื่อมั่นในศักยภาพของผู้ส่งออกไทยว่า จะสามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 กรมมีแผนจะประชุมทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ทั่วโลก เพื่อติดตามสถานการณ์การส่งออกของประเทศ ซึ่งตนได้รายงานให้นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับทราบแล้ว โดยจะต้องรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาอีกครั้งว่า จะประชุมในช่วงดังกล่าว หรือต้องการเลื่อนระยะเวลาประชุมให้เร็วขึ้น
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
2.กางแผนงานปั้นนักธุรกิจ เกษตรอุตฯจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 30 กันยายน 2567)
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไทยจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าทางการเกษตร รวมถึงพัฒนาผู้ประกอบการในภาคเกษตรอุตสาหกรรม ให้มีความสำเร็จทางธุรกิจที่เข้มแข็งในระยะยาว ควบคู่กับการดูแลชุมชนและสังคมในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน "เกษตรอุตสาหกรรม" จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้แข็งแกร่งและก้าวหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยการพัฒนาการเกษตรของไทยให้เป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมยุคใหม่ ที่มีการนำองค์ความรู้ด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การมาตรฐาน การเชื่อมโยงห่วงโซ่ การผลิตอย่างเป็นระบบ สู่การเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะ ที่จะสามารถถ่ายทอดความสำเร็จให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ และเกิดการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างภูมิภาคได้ ทั้งนี้ ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรม" ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการส่งเสริมความสามารถ ในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โดย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเกษตรอุตสาหกรรม จึงได้มีการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้เติบโตและต่อยอดไปสู่ การเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมยุคใหม่ ที่มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจให้สามารถปรับตัวธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มสู่ผลิตภัณฑ์ โดยใช้จุดเด่นหรือ อัตลักษณ์ของพื้นที่ มาสร้างสรรค์คุณค่าของสินค้าและบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการนำหลักการ ESG คือ "E" Environmental (สิ่งแวดล้อม) การคำนึงถึงความรับผิดชอบขององค์กรต่อสิ่งแวดล้อม, "S" Social (สังคม) การจัดการความสัมพันธ์และสื่อสารกับสังคม และ "G" Governance (บรรษัทภิบาล) การบริหารจัดการ ความโปร่งใส เพื่อให้เกิดความสำเร็จทางธุรกิจ ควบคู่กับการช่วยเหลือและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนและสังคม จึงได้ดำเนินโครงการ "ปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะ (MIND STAR)" ปีงบประมาณ 2567 ขึ้น ให้กระจายพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อให้เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการตามภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 21 กิจการ ในกลุ่มธุรกิจเกษตร อาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพร การเกษตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ ผ่านการจัดหลักสูตรส่งเสริม พัฒนา และต่อยอดธุรกิจผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ทันสมัยในด้านต่างๆ ทั้งการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยหลัก BOFER, Design Branding & Marketing TOOL การให้คำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ด้าน และคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและพร้อมเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมต้นแบบอัจฉริยะ มา ต่อยอดการพัฒนาธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่มีคุณค่า สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดที่มีมูลค่าสูง นอกจากนี้ยังยกระดับศักยภาพด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมีความโดดเด่นของธุรกิจที่มีการกระจายรายได้ให้กับเครือข่ายในชุมชนได้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างให้เกิดผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะ ซึ่งมีความพร้อมในการแข่งขันในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อภาคเกษตรอุตสาหกรรมของไทยในภาพรวม คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 100 ล้านบาท
นายสักกเวท ยอแสง
ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)
3. ดีป้าลุยจีบ 'อาลีบาบา' ลงทุนโครงการในไทย (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 30 กันยายน 2567)
นายสักกเวท ยอแสง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ดีป้า ได้ร่วมหารือกับทาง อาลีบาบา กรุ๊ป ด้าน การลงทุนในประเทศไทย และโอกาสทางธุรกิจเชิญชวนให้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศของดีป้า ประกอบด้วย การลงทุนในศูนย์ข้อมูล (ดาต้า เซ็นเตอร์) แหล่งที่ 2 ในไทยการขึ้นบัญชีบริการดิจิทัล (ไทยแลนด์ ดิจิทัล แคทตาล็อก) และการลงทุนในโครงการไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อการเปิดศูนย์นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ ศูนย์วิจัยปัญญาประดิษฐ์ และศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น รวมถึงการเข้าตลาดภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ อาลีบาบา สามารถแข่งขันในไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การหารือได้เน้นย้ำถึง สิทธิประโยชน์ ของบัญชีบริการดิจิทัล ภายใต้มาตรฐานดีชัวร์ ในการเปิดโอกาสให้สามารถเข้าถึง ตลาดภาครัฐ และภาคเอกชน โดยสำหรับภาครัฐ สามารถใช้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภาครัฐด้วยวิธีพิเศษ ด้วยวิธีคัดเลือกหรือวิธีเจาะจงได้ ในขณะที่ภาคเอกชน หากผู้ประกอบการภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีประสงค์ที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ผู้ประกอบการนั้นจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ ดิจิทัล อีโคโนมี สูงถึง 200% ด้วย นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิด ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน อย่างมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมของบีโอไอ ที่สามารถนับค่าใช้จ่ายได้
ข่าวต่างประเทศ
4. จีนสั่งแบงก์พาณิชย์หั่นดบ. สินเชื่อบ้านที่ยังผ่อนไม่หมดก่อนวันที่ 31 ต.ค. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 30 กันยายน 2567)
ธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า PBOC จะสั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเดิมที่ยังผ่อนไม่หมด (existing home loan) ก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยแถลงการณ์ของ PBOC ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเดิมที่ยังผ่อนไม่หมด ให้ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (LPR) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับเงินกู้จำนอง อย่างน้อย 0.30% ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่ยังผ่อนไม่หมดปรับตัวลงประมาณ 0.50% โดยเฉลี่ย
อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมืองกว่างโจวได้ประกาศยกเลิกข้อกำหนดที่เข้มงวดทั้งหมดสำหรับการซื้อบ้านเมื่อวานนี้ ขณะที่เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นประกาศว่าจะผ่อนคลายความเข้มงวดในการซื้อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ซื้อบ้านที่ไม่ใช่คนท้องถิ่น และปรับลดสัดส่วนการดาวน์บ้านขั้นต่ำสำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรก สู่ระดับอย่างน้อย 15% ซึ่งคำประกาศล่าสุดของ PBOC มีขึ้นหลังจากเมื่อวันอังคารที่ 24 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากภาวะเงินฝืด โดยมาตรการดังกล่าวรวมถึงการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง 0.50% สู่ระดับ 6.6% โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสภาพคล่องมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านหยวน ให้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารเหล่านี้สามารถปล่อยเงินกู้ได้มากขึ้นและซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่นำออกจำหน่ายเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) |