ข่าวประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2567

ข่าวในประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'เอกนัฏ' หนุนเหมืองเก่า ปรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2567)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 กันยาย 2567 ได้ลงพื้นที่ร่วมกับคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง อุตสาหกรรม ที่ภูผาแรด ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานหินเขางู อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมในจังหวัดราชบุรี โดยหินเขางูเคยเป็นแหล่งทำเหมืองแร่หินปูนที่สำคัญในอดีต มีการขุดค้นแร่เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่เมื่อการทำเหมืองหยุดลง พื้นที่แห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน จนเกิดการฟื้นฟูตามธรรมชาติ จนมีความสวยงามและเหมาะสำหรับการส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทั้งนี้กระทรวงฯ มีแผนที่จะให้พื้นที่หินเขางู เป็นต้นแบบในการพัฒนาเหมืองเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว มาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์แก่พื้นที่ และชุมชนรอบข้าง โดยได้เชิญธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มาร่วมสำรวจพื้นที่ด้วยกันว่ามีกลุ่ม ผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจใดในพื้นที่ ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมาเพื่อใช้ประกอบกิจการ หรือควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ. หรือ ดีพร้อม) ช่วยให้คำปรึกษา แนะนำ ด้านการพัฒนาอาชีพ พัฒนาสินค้า และร่วมสร้างอัตลักษณ์เฉพาะให้สินค้า อาหาร และของใช้ต่างๆของหินเขางูให้มีความน่าสนใจ เพื่อช่วยดึงดูด นักท่องเที่ยว และเป็นการกระจายรายได้ให้เมืองรอง

อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และขอความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี ร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวปักหมุดเมื่อมาเยือนจังหวัดราชบุรี และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีแผนการพัฒนาพื้นที่เหมืองหลังจากการหยุดประกอบกิจการก่อนการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ อีกทั้งกำหนดแผนการพัฒนาพื้นที่ประกอบการที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของชุมชน เช่น พัฒนาเป็นสถานที่ ท่องเที่ยว เป็นพื้นที่สันทนาการ ซึ่งถือเป็นการคืนกำไรให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ อาชีพ ให้กับชุมชนโดยรอบ ตามแนวทางเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Model เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนำมาเป็นแนวทางในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจที่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ ผ่านการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และเป็นการจัดการทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

2ธุรกิจร้านอาหารปี 66 รายได้ทะลัก (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2567)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมได้วิเคราะห์รายธุรกิจในเชิงลึกตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มการเติบโตแบบก้าวกระโดด หลังจากผ่านช่วงโควิด-19 ระบาดมา โดยมีการจัดตั้งธุรกิจและทุนจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น โดยปีที่ผ่านมามีการจัดตั้งธุรกิจ 4,017 ราย เพิ่มขึ้น 996 รายจากปี 2565 ทุนจดทะเบียน 8,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,490 ล้านบาท สำหรับ 8 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - สิงหาคม) มีธุรกิจร้านอาหารที่จัดตั้งใหม่ 2,847 ราย มูลค่าทุน 5,826 ล้านบาท และ 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 63,000 ล้านบาท โดยปี 2564 มีรายได้ 179,645 ล้านบาท ปี 2565 รายได้ 244,412 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.05% จากปี 2564 และปีที่ผ่านมามีรายได้ 306,618 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.45% จากปี 2565 ขณะที่ภาพรวมธุรกิจสามารถทำกำไรดีขึ้น โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา ร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ มีกำไรสูงถึง 10,369 ล้านบาท คิดเป็น 106% ของกำไรปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการลงทุนของต่างชาติในธุรกิจร้านอาหาร พบว่า มูลค่าลงทุนของต่างชาติอยู่ที่ 29,071 ล้านบาท ประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ 6,075 ล้านบาท ตามด้วยญี่ปุ่น 3,162 ล้านบาท, จีน 2,326 ล้านบาท, อินเดีย 2,168 ล้านบาท และฝรั่งเศส 1,607 ล้านบาท ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารเติบโตมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มาช่วยบริหารจัดการร้านการสั่งอาหารหรือการโฆษณาร้านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ร้านอาหารเป็นที่รู้จักและเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายปัจจุบันไม่จำเป็นต้องตั้งร้านในทำเลที่คนพลุกพลานซึ่งมีการลงทุนที่สูงอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมเกษตร และอาหารไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 25% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ โดยเฉพาะกิจกรรมต้นน้ำ เช่น การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 70% ของห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดในภาคเกษตรและอาหาร

 

A person in a blue suit

Description automatically generated

นายพิชิต มิทราวงศ์

กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

 

3. น้ำท่วมฉุดดัชนีเชื่อมั่น SME กลัวต้นทุนพุ่ง-ธุรกิจหยุดชะงัก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2567)

นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ธนาคารฯ โดย "ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว." ร่วมกับ "สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" เผยผลสำรวจ "ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 3/2567 และคาดการณ์อนาคต" จากการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรมกว่า 500 ตัวอย่าง พบว่าภาพรวมดัชนีเชื่อมั่นฯ ไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ระดับ 43.63 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 2/2567 ที่อยู่ในระดับ 52.06 ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านปริมาณการผลิตที่ลดลงจากไตรมาส 2 ผลจากปัจจัยกดดันสำคัญ คือ การเมืองในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังขาดความชัดเจนการชะลอตัวของสภาวะทางเศรษฐกิจและตลาดที่ซบเซา นอกจากนี้สภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจลดลง สอดคล้องกับผลประกอบการและคำสั่งซื้อที่ลดลง ขณะเดียวกันยังมีปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงักในบางช่วง ความต้องการสินค้าและบริการลดลง ปัญหาติดขัดในห่วงโซ่การผลิตและการขนส่ง และเมื่อแยกพิจารณาตามประเภทธุรกิจ ความเชื่อมั่นลดลงทุกประเภทธุรกิจ โดยธุรกิจรับเหมาก่อสร้างความเชื่อมั่นต่ำสุดที่ระดับ 38.53 ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวมีระดับความเชื่อมั่นสูงสุดที่ระดับ 49.26

อย่างไรก็ตาม ส่วนคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 4/2567) ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นโดยภาพรวมเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 49.18 โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกด้านโดยเฉพาะผลประกอบการ สภาพคล่องธุรกิจ ปริมาณการผลิต เนื่องจากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว แต่ความกังวลด้านต้นทุนยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน

 

ข่าวต่างประเทศ

A red circle on a white background

Description automatically generated

 

4. PMI ชี้ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นซบเซาในเดือนก.ย. เหตุดีมานด์อ่อนแอ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2567)

อุซามะฮ์ ภัตติ จากเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Market Intelligence) เปิดเผยผลสำรวจซึ่งบ่งชี้ว่า กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นในเดือนกันยายน 2567 ยังคงซบเซา โดยทั้งผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่หดตัว ซึ่งสาเหตุมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอและความต้องการจากต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ลดลงมาอยู่ที่ 49.7 ในเดือนกันยายน จาก 49.8 ในเดือนสิงหาคม แต่ก็ยังสูงกว่าตัวเลข PMI ขั้นต้นเล็กน้อยที่ 49.6 โดยอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แล้ว ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดทำผลสำรวจระบุว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึง "แนวโน้มที่ซบเซาทั่วทั้งอุตสาหกรรมการผลิต" ซึ่งดัชนีย่อยด้านผลผลิตหดตัวเล็กน้อยในเดือนกันยายน เนื่องจากขาดธุรกิจใหม่เข้ามาส่วนคำสั่งซื้อใหม่ก็ยังคงหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 โดยบริษัทต่างๆ ระบุว่า สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซา การปรับสต๊อกสินค้า และการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ ยอดขายที่ซบเซาในสหรัฐฯ และจีนยังส่งผลให้ดัชนีย่อยด้านคำสั่งซื้อส่งออกใหม่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)