ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. "เอกนัฏ" สั่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี 35,108 โรงงานน้ำท่วมฟื้นกิจการ (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการโรงงานในพื้นที่น้ำท่วมเร่งเยียวยาความเสียหายหลังสถานการณ์น้ำดีขึ้น โดยมอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริงประกอบการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงานจำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 และจากข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมใน 57 จังหวัด คาดการณ์ว่าโรงงานจำพวกที่ 2 และ จำพวกที่ 3 ที่จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี จำนวน 35,108 โรงงาน มูลค่ากว่า 176 ล้านบาท โดย กรอ. ได้จัดทำประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง การช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการโรงงาน กรณีโรงงานได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม พ.ศ. 2567 ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 สามารถแจ้งข้อมูล ตามแบบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานและความเสียหายที่โรงงานได้รับจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม พ.ศ.2567 โดยดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้ 1. โรงงานที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 สามารถแจ้งข้อมูลตั้งแต่บัดนี้ - 31 ตุลาคม 2567 2. ดาวน์โหลดแบบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานและความเสียหายที่โรงงานได้รับจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมพ.ศ.2567ได้ที่ https://www.diw.go.th/webdiw/25092567-01/ 3. กรอกแบบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานและความเสียหายที่โรงงานได้รับจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม พ.ศ. 2567 4. กำลังแรงม้าเครื่องจักร / จำนวนคนงาน ต้องกรอกให้ตรงกับ ร.ง.2 หรือ ร.ง.4 5. แนบสำเนา ร.ง.2 หรือ ร.ง.4 พร้อมแนบภาพถ่าย/ข้อมูลความเสียหาย (ถ้ามี) และ 6. ยื่นเอกสารด้วยตนเอง ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่
อย่างไรก็ตาม การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่เจ้าของกิจการโรงงาน เป็นหนึ่งในมาตรการให้ความช่วยเหลือ ในการฟื้นฟูกิจการภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย เพื่อให้สามารถพลิกฟื้นจนก้าวเดินต่อได้อย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากวันที่ 31 ตุลาคม 2567 กรอ.จะรวบรวมข้อมูลความเสียหายและตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบการที่มีรายชื่อได้รับการยกเว้น สำหรับผู้ประกอบการที่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีในปี 2567 แล้ว จะได้รับการยกเว้นในปี 2568
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
2. บีโอไอย้ำไทยฮับศก.ดิจิทัล ลงทุน 46 โครงการวงเงิน 1.67 แสนล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2567)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่ Google ได้ประกาศแผนลงทุนสร้าง Data Center และ Cloud Region ในประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 36,000 ล้านบาท สะท้อนถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค จากข้อได้เปรียบในหลายๆ ด้าน ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งโครงข่ายอินเตอร์เนตความเร็วสูง เครือข่าย 5G ระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร มีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด และกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานสากล 2) มีความมั่นคงปลอดภัยและเป็นกลางในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะศักยภาพในการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่มประเทศ CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน 3) บุคลากรที่มีคุณภาพและมีทักษะด้านดิจิทัล 4) ตลาดในประเทศขยายตัวสูง ทั้งดีมานด์จากการยกระดับองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) การกำหนดนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล สัดส่วนการเข้าถึงอินเตอร์เนตอยู่ในระดับสูง และประชาชนมีทักษะในการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัล และ 5) สิทธิประโยชน์ที่จูงใจ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงเข้าสู่ประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุน Data Center และ Cloud Service ของบริษัทระดับโลกเพื่อรองรับการขยายตัวของ AI และบริการด้านดิจิทัลต่างๆ ที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง นอกจาก Google ที่ได้ประกาศแผนลงทุนและยื่นคำขอกับบีโอไอแล้ว ยังมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยแล้วหลายราย อาทิ Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุนในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 เฟสแรก ได้ลงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท โครงการ NextDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท CtrlS จากอินเดีย ลงทุน 5,000 ล้านบาท STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท Supernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท และ One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท สำหรับธุรกิจการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) มีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศแล้ว ยังมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงอีกหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service เช่น บริษัท ทรู อินเตอร์เนต ดาต้า เซ็นเตอร์, บริษัท อินเตอร์เนต ประเทศไทย และบริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
3. 'อีอีซี-ทีเส็บ' จัดงานแฟร์ดึงต่างชาติ ชี้บาทแข็ง-ค่าแรงไม่มีผลตัดสินใจ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2567)
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) พันธมิตรภาครัฐและเอกชน จัดงาน Mini EEC Fair 2024 ในวันที่ 7-9 ตุลาคม 2567 ที่โรงแรม เดอะซายน์ พัทยา คาดมีจับคู่ธุรกิจไม่น้อยกว่า 400 คู่ เพิ่มขึ้นเท่าตัว คิดเป็นมูลค่าเจรจาซื้อขาย 45 ล้านบาท สร้างมูลค่าเศรษฐกิจที่จะตามมาอีกกว่าหลักพันล้านบาท ซึ่งช่วยกระตุ้นการลงทุนในอีอีซี สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคต โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ คือ ราคาที่ดิน แรงงาน ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกออกใบอนุญาต ส่วนเงินบาทแข็ง การขึ้นค่าแรง ยังไม่มีผลมากนัก
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การจัดงานเป็นเวทีสำคัญที่ใช้กลไกไมซ์เชื่อมโยงนักลงทุนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งการเจรจาและสร้างพันธมิตรเชิงธุรกิจในงานนี้จะเปิด โอกาสใหม่ๆ ลงทุนในอีอีซี โดยมีนโยบาย สนับสนุนและให้สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ที่จูงใจ อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 1-15 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 50% เป็นเวลา 1-10 ปี ด้านที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ อีอีซีวีซ่าให้กลุ่ม ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ผู้ชำนาญการ และบุคคลในอุปการะสูงสุด 10 ปี รวมไปถึง อีอีซีวันสต๊อปเซอร์วิส
ข่าวต่างประเทศ
4. โอเปกพลัสมีมติคงนโยบายการผลิตน้ำมันตามคาด (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2567)
คณะกรรมการร่วมด้านการตรวจสอบระดับรัฐมนตรี (JMMC) ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส เปิดเผยว่า ได้เสร็จสิ้นการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันพุธที่ 2 ตุลาคม 2567 ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติคงนโยบายการผลิตของโอเปกพลัสในการประชุมที่ผ่านมา ส่งผลให้โอเปกพลัสยังคงปรับลดกำลังการผลิตรวม 5.86 ล้านบาร์เรล/วัน โดยมาจากการปรับลดกำลังการผลิตของสมาชิกโอเปกพลัสจำนวน 3.66 ล้านบาร์เรล/วัน และการปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจของสมาชิกโอเปกพลัส 8 ชาติจำนวน 2.2 ล้านบาร์เรล/วัน ทั้งนี้ การปรับลดกำลังการผลิตจำนวน 3.66 ล้านบาร์เรล/วันมีกำหนดสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปี 2568 ส่วนการปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจจำนวน 2.2 ล้านบาร์เรล/วันนั้น สมาชิกโอเปกพลัส 8 ชาติจะเริ่มทยอยยุติการปรับลดกำลังการผลิตตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 หรือบ่งชี้ว่าโอเปกพลัสจะเริ่มปรับเพิ่มกำลังการผลิต 180,000 บาร์เรล/วันในเดือนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ JMMC เน้นย้ำถึงความสำคัญของประเทศสมาชิกโอเปกพลัสในการยึดมั่นตามโควตาการผลิตที่ได้รับการจัดสรร และ JMMC จะยังคงจับตาการผลิตน้ำมันของประเทศสมาชิกเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงที่ทำไว้ในวันที่ 2 มิถุนายน 2567 โดยการประชุม JMMC ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2567
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)