ข่าวในประเทศ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
1. ส.อ.ท.ปลุกผู้ผลิตเตรียมพร้อม รับกม.จัดการบรรจุภัณฑ์ปี 70 (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2567)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมขับเคลื่อนแนวทางการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ หรือ Extended Producer Responsibility: EPR ในงาน "PackBack in Action ปี 3 รวมพลังเดินหน้า: The Drive for EPR in Thailand" เพื่อประกาศเจตจำนงผลักดันการใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด และการส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือ SMEs ต้องมีความตื่นตัว เนื่องจากหลายมาตรการในต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงหาก พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนประกาศใช้ ทุกบริษัทก็จะต้องเข้าร่วมและดำเนินการตาม ซึ่งปัจจุบัน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ภายใต้การดำเนินงานของ ส.อ.ท.ได้ประสานกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ภาคบังคับ โดยคาดว่าจะเริ่มประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ในปี 2570
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรึไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) กล่าวว่า ได้ทดลองโมเดลเก็บกลับในพื้นที่เป้าหมายในโครงการ Pack Back จังหวัดชลบุรี นำร่องใน 3 เทศบาลประกอบด้วยเทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง และจะขยายไปอีก 9 เทศบาลในปี 2567 เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบเก็บขนของท้องถิ่น และยกระดับสู่การออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดต้นแบบการสนับสนุนท้องถิ่นที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
2. สนค.แนะผู้ประกอบการ ประยุกต์ใช้ Digital Twin ในธุรกิจ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2567)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว และช่วยให้กิจกรรมของภาคส่วนต่างๆ มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทั้งนี้ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ก็ยังคงมีข้อจำกัดและอาจเกิดความผิดพลาดได้ จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งทำหน้าที่เสมือนกระจกสะท้อนและคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้น เรียกว่า ฝาแฝดดิจิทัล หรือ Digital Twin โดย Digital Twin คือ แบบจำลองเสมือน (virtual representation) ของส่วนประกอบ วัตถุ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือระบบต่างๆ ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเกิดจากการติดตั้งและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลากหลายประเภท เข้ากับ "ต้นแบบ" สำหรับจำลองและส่งข้อมูลสถานะหรือการเปลี่ยนแปลงของต้นแบบแบบ real-time อาทิ การสร้างแบบจำลองและวัตถุเสมือนจริงแบบ 3 มิติ เทคโนโลยี Sensor และ Internet of Things (IoT) ข้อมูลเหล่านี้ จะถูกเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และประมวลผล โดยเทคโนโลยี Machine Learning และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อแจ้งเตือนความเสี่ยงหรือข้อผิดพลาด หรือให้ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาต้นแบบ จะเห็นได้ว่า Digital Twin เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางกายภาพ โดยการประสานข้อมูลทางกายภาพของต้นแบบกับแบบจำลองเสมือนเข้าด้วยกัน ปัจจุบัน Digital Twin ถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของภาคส่วนต่างๆ และในหลายระดับ เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต ที่มีความซับซ้อน รวมถึงพัฒนาสินค้าหรือบริการที่ตรงกับความต้องการของตลาด และมีแนวโน้มที่จะถูกนำไปใช้เพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจระดับโลก McKinsey คาดการณ์ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะผลักดันให้การลงทุนใน Digital Twin อาจมีมูลค่ามากถึง 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2026
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ Digital Twin ยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและซับซ้อน อาทิ ในอุตสาหกรรมอวกาศ บริษัท SpaceX สร้าง Digital Twin ของยานอวกาศ Dragon Capsule เพื่อตรวจสอบและปรับเปลี่ยนแนววิถี และระบบขับเคลื่อนให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ในอุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัท General Electric ที่ใช้ Digital Twin กับเครื่องยนต์ของอากาศยาน เพื่อติดตามการทำงานของเครื่องยนต์แบบ Real-Time คาดการณ์การซ่อมบำรุงล่วงหน้า ช่วยลดต้นทุนการซ่อมบำรุงและการดูแลรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ได้ด้วย และในอุตสาหกรรมก่อสร้าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University) สร้าง Digital Twin ของการใช้พลังงานและน้ำ การปล่อยคาร์บอน และขยะ ในทุกอาคารช่วยลดต้นทุนการดูแลรักษาและบริหารจัดการอาคารได้ 35% และลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 50% นอกจากนี้ Digital Twin ยังถูกนำไปใช้ในภาคส่วนหรืออุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ พลังงาน สุขภาพ ก่อสร้าง ตลอดจนการวางผังเมือง เป็นต้น
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร
เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
3. กองทุน FTA ผนึกความร่วมมือ 14 ภาคี พัฒนาเครือข่าย (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2567)
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "Project Matching Connecting Opportunities การพัฒนาเครือข่ายโครงการเกษตรพันธมิตร สู่โอกาสตลาดการค้าเสรี" ณ โรงแรมดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่าย 14 หน่วยงาน ที่กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ลงนาม MOU ร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าให้มีศักยภาพในการแข่งขัน ประกอบด้วย 1) กรมปศุสัตว์ 2) กรมส่งเสริมสหกรณ์ 3) องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย 4) สภาเกษตรกรแห่งชาติ 5) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 6) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 7) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 8) สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน และ 9) บริษัท พรีเมี่ยมบีฟ จำกัด และที่เพิ่งลงนามความร่วมมือเพิ่มเติมล่าสุดอีก 5 หน่วยงาน 10) กรมการข้าว 11) กรมวิชาการเกษตร 12) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 13) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และ 14) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มาร่วมจัดกิจกรรม โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยเกษตรกร ข้าราชการ หน่วยงานภาคเอกชน วิทยากร และเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 200 คน
อย่างไรก็ตาม วันนี้กองทุน FTA มีภาคีเครือข่าย MOU ร่วมกัน 14 หน่วยงาน การสัมมนาในวันนี้ จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะร่วมกันสร้างความร่วมมือในการพัฒนาโครงการที่มาขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน FTA และเพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ กับกลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรดังกล่าว และตัวแทนจากมหาวิทยาลัยที่ต้องการขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน FTA มานำเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรดังกล่าวเข้ามาด้วยเชื่อมั่นว่า การสัมมนาครั้งนี้ จะทำให้มีโครงการที่เสนอขอรับเงินสนับสนุนมายังกองทุน FTA เพิ่มขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรมภาคเกษตรของไทยมีความเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ข่าวต่างประเทศ
4. ประธานเฟดริชมอนด์ชี้เงินเฟ้ออาจเป็นอุปสรรคขวางเฟดลดดอกเบี้ย (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2567)
นายโทมัส บาร์กิน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ เปิดเผยว่า เฟดอาจใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ในการทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% และสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยจำกัดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทั้งนี้ ในการให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ นายบาร์กินกล่าวว่า เขาลงมติสนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนที่แล้ว รวมทั้งสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ก่อนสิ้นปีนี้ แต่นายบาร์กินแสดงความกังวลว่าเงินเฟ้ออาจทรงตัวในระดับสูงในปีหน้า ซึ่งจะเป็นอุปสรรคทำให้เฟดไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้มากเท่ากับที่นักลงทุนและกรรมการเฟดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมครั้งต่อไปของเฟดในวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2567 นั้น นายบาร์กิน กล่าวว่า เขาสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมดังกล่าว หากอัตราว่างงานและเงินเฟ้อยังคงมีเสถียรภาพ
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)