ข่าวประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person smiling at a microphone

Description automatically generated

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'เอกนัฏ' ห่วงผังเมือง-แรงงานจ.สุราษฎร์ สั่งก.อุตปฏิรูป-ตั้งกองทุนช่วยเอสเอ็มอี (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2567)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีว่า ได้มอบนโยบายและรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ 7 จังหวัด (ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ และนครศรีธรรมราช) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) โดยตัวแทนภาคเอกชนได้นำเสนอประเด็นปัญหาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี อาทิ ปัญหาผังเมือง การขับเคลื่อน Climate Change แผนจัดการแรงงานที่เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในพื้นที่ รวมถึงกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีจุดแข็งจากการเกษตรและการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พร้อมมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจของพื้นที่ การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในท้องถิ่น โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผ่านการส่งเสริมการสร้างเครือข่าย การพัฒนาองค์ความรู้ และการฝึกอบรม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัว พัฒนาธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ คือ การปฏิรูปและพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีความยั่งยืน พร้อมมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการ และเตรียมจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ในการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนผ่านโมเดลเศรษฐกิจ บีซีจี เน้นใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

2. "บีโอไอ" ปลื้มขอลงทุน 7.2 แสนล้าน (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2567)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า 9 เดือนแรกของปีนี้(มกราคม - กันยายน) ตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมี 2,195 โครงการ เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่าเงินรวม 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นยอดลงทุนที่สูงสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีของไทย ทำให้เกิดการลงทุนโครงการใหญ่ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ ยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก อาทิอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 183,444 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ดิจิทัล มูลค่า 94,197 ล้านบาท ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 67,849 ล้านบาท ขณะที่กิจการที่มีการลงทุนสูงและอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น กิจการ Data Center จำนวน 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 92,764 ล้านบาท และมีการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย,กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer ,การประกอบเซมิคอนดักเตอร์ และวงจรรวมจำนวน 15 โครงการลงทุน 19,856 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ยังขยายตัวต่อเนื่องมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม 1,449 โครงการ เพิ่มขึ้น 66% รวม 546,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% โดยประเทศที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด ได้แก่ สิงคโปร์ 180,838 ล้านบาท ในแง่พื้นที่เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกรวม 408,737 ล้านบาท สำหรับการออกบัตรส่งเสริม 9 เดือนแรก ปีนี้มี 2,072 โครงการ เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเงินลงทุน 672,165 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโครงการที่ได้รับอนุมัติ 9 เดือนแรก มีการจ้างงานคนไทย 170,000 คน ใช้วัตถุดิบในประเทศ 800,000 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มมูลค่าส่งออกของประเทศอีก 2 ล้านล้านบาทต่อปี

 

A person in a suit

Description automatically generated

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ส.อ.ท.วอนรัฐคุม 'อี-คอมเมิร์ซ' หลังสินค้าราคาถูกฉุดยอดขายร่วงหนัก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2567)

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 41 ในเดือนตุลาคม 2567 ภายใต้หัวข้อ "แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซขายสินค้าราคาถูกบุกไทย อุตสาหกรรมจะรับมืออย่างไร" พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ที่ตอบแบบสำรวจถึง 35.1% มียอดขายลดลงจากการเข้ามาของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซขายสินค้าถูกจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก บรรจุภัณฑ์ เป็นต้นซึ่งสินค้าที่ขายผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ บางรายการอาจเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีคุณภาพ หรือไม่ตรงปก ทำให้ผู้บริโภคสูญเสียเงิน ตลอดจนมีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยในการบริโภคสินค้าด้วย ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซจากต่างประเทศจะต้องจดทะเบียนนิติบุคคลและมีสำนักงานในไทยเพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด รวมทั้งกำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรับผิดชอบในการคืนสินค้า กรณีสินค้าไม่ได้คุณภาพหรือไม่ตรงปก นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ยังมองว่า สินค้าไทยยังสามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่ผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซได้ แต่ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อพัฒนาและสร้างจุดแข็งให้กับสินค้า โดยเฉพาะการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ การนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมายกระดับกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจในการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศและการเปิดตลาดไปยังต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ได้ข้อแนะนำต่อภาครัฐให้มีการกำกับดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซมีดังนี้ อันดับ 1. กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ 67.4% จากต่างประเทศต้องจดทะเบียนนิติบุคคลและมีสำนักงานในไทย เพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อันดับ 2. บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด 46.9% เปิดช่องทางให้ร้องเรียนได้สะดวกและกำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม บริหารจัดการการคืนสินค้ากรณีสินค้าไม่ได้คุณภาพหรือไม่ตรงปก อันดับ 3. บังคับให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซต้องมีการแสดง 45.1% เครื่องหมายมาตรฐาน รวมทั้งฉลากบนแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ อันดับ 4. ควรมีการตรวจสอบการใช้ระบบชำระเงิน (Payment) ออกไปยังต่างประเทศ 26.3% โดยบังคับให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้องและอยู่ ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

ข่าวต่างประเทศ 

A flag with a red blue and black circle

Description automatically generated

 

4. ดัชนี PPI เกาหลีใต้ลดลง 2 เดือนติดในเดือนก.ย. หลังราคาน้ำมันร่วง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2567)

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเกาหลีใต้ลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนกันยายน 2567 โดยมีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่ปรับตัวลดลง โดยข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า ดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ลดลง 0.2% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งในเดือนสิงหาคมเองก็ลดลง 0.2% เช่นกัน แต่เมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนี PPI ในเดือนกันยายนยังคงเพิ่มขึ้น 1% ชะลอลงจากเดือนสิงหาคมที่เพิ่มขึ้น 1.6% โดยการลดลงนี้เป็นผลจากราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่ดิ่งลง 6.3% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน แต่ในทางกลับกัน ราคาสินค้าเกษตรกลับพุ่งขึ้นถึง 5.3% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า ดัชนี PPI เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดทิศทางเงินเฟ้อ เนื่องจากมีอิทธิพลต่อราคาสินค้าที่ภาคธุรกิจจะเรียกเก็บจากผู้บริโภคในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ สำหรับอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคของเกาหลีใต้ในเดือนกันยายนนั้น เพิ่มขึ้นเพียง 1.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงจาก 2% ในเดือนสิงหาคม ถือว่าชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง โดยอยู่ต่ำกว่า 2% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี 2564

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)