ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'เอกนัฏ' เดินหน้าอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ สร้างนวัตกรรมป้องกันน้ำท่วม (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสภาวะโลกร้อนที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นจนเป็นสภาวะโลกเดือดในปัจจุบัน ส่งผลให้ภูมิอากาศทั่วโลกแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรง และต่อเนื่องในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินกว่า 3.1 พันล้านบาท ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” ในการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ นำร่องการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เข้าไปส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เพื่อให้สามารถผลิตอุปกรณ์รองรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะอุปกรณ์ในด้านการป้องกันภัยจากน้ำท่วม ที่เป็นปัญหาสำคัญของไทย และเกิดขึ้นได้เกือบทุกปี ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุอุทกภัย โดยสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ ลดการนำเข้าเนื่องจากสินค้ามีราคาสูง รวมทั้งยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้ วัสดุที่นำมาใช้มีทั้งที่เป็นนวัตกรรมจากวัสดุคอมโพสิต และวัสดุเหลือใช้ตามแนวคิด BCG ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ทางด้าน นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ดำเนินการวิจัย และพัฒนาวัสดุ รวมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานภาคเอกชนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เพื่อพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม โดยพัฒนาวัสดุกำแพงป้องกันน้ำท่วมผลิตจากนวัตกรรมวัสดุคอมโพสิต หรือเศษขยะพลาสติกเหลือทิ้งนำมาบดขึ้นรูปใหม่ (upcycling Recycle) ตามแนวคิด BCG โดยมีวัสดุทางเลือกจากการวิจัยมีคุณสมบัติที่โดดเด่นในเรื่องความแข็งแรงทนทาน มีน้ำหนักเบา และมีราคาถูกกว่าการนำเข้า รวมทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก และนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ นอกจากนี้ ยังใช้ระบบ KNOCK DOWN ที่สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว แม่นยํา และปลอดภัย เหมาะสำหรับติดตั้งบริเวณประตูทางเข้าออกของโครงการ หรืออาคาร ทางลงชั้นจอดรถใต้ดิน หน้าบันไดเลื่อน หน้าลิฟต์ และล้อมเครื่องจักรมูลค่ำสูง เป็นต้น อีกทั้ง จะสามารถนำนวัตกรรมนี้ไปถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย
นายพิชัย นริพทะพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
2. ‘พิชัย’ เร่งเครื่องเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2567) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับนางสาวปิง คิตนีกอน (H.E. Ms. Ping Kitnikone) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ณ กระทรวงพาณิชย์ ว่า เป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายได้พบกันหลังจากที่ได้เข้ารับตำแหน่ง โดยเน้นย้ำความพร้อมของไทยในการทำงานร่วมกับแคนาดาอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ระหว่างกัน ทั้งนี้ ไทยพร้อมเปิดรับการลงทุนจากแคนาดาที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการจัดการทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพ ซึ่งสอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ด้านพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมต่อยอดความร่วมมือกับแคนดาด้าน AI และ Cybersecurity อีกทั้งไทยยังมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ นอกจากนี้ ไทยยังสามารถขยายโอกาสทางเศรษฐกิจกับแคนาดาเพื่อเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประเทศ G7 ที่แคนาดามีความตกลงการค้าเสรีครบทุกประเทศแล้ว โดยไทยและแคนาดาเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ให้เสร็จตามเป้าหมายในปี 2568 ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจทั้งสองประเทศ และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน สามารถเชื่อมโยงทั้งสองภูมิภาคให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และความตกลงดังกล่าวยังถือเป็น FTA แรกของไทยกับประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ตนยังได้พบกับนายกรัฐมนตรีแคนาดา (นายจัสติน ทรูโด) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการส่งเสริมการส่งออก การค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจ ของแคนาดา (นาง Mary Ng) และในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) ครั้งที่ 35 กลางเดือนพฤศจิกายน 2567 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ที่จะถึงนี้ ตนจะมีโอกาสพบหารือกับ นาง Mary Ng อีกครั้ง เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในเชิงลึกระหว่างไทยและแคนาดาต่อไป
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
3. พาณิชย์ลุ้นปลายปี 67 ส่งออกนิวไฮ (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2567)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 25,983.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.1% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 889,074 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 25,589 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 9.9% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 886,336 ล้านบาท เกินดุลการค้า 394.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 2,738 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม - กันยายน) การส่งออกมีมูลค่า 223,176 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.9% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 7,957,895 ล้านบาท การนำเข้ามูลค่า 229,132.8 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.5% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 8,264,589 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 5,956.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น เงินบาทมูลค่า 306,694 ล้านบาท สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่ม 3.5% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 0.2% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่ม 7.8% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่แปรรูป และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ส่วน 9 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่ม 5.4% ทั้งนี้ 9 เดือนของ ปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 3.8%
อย่างไรก็ตาม การส่งออกช่วงที่เหลืออีก 3 เดือนของปีนี้คาดเติบโตต่อเนื่องแม้จะเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ทั้งการเลือกตั้งในสหรัฐ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การ แข็งค่าของเงินบาท ปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจกระทบการส่งออกข้าวไทย หาก 3 เดือนสุดท้าย ถ้าส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 22,533 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะทำได้ 2% และมูลค่าทั้งปีอยู่ที่ 290,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำนิวไฮอีกครั้งหลังจากเคยทำไว้แล้วเมื่อปี 2566
ข่าวต่างประเทศ
4. สิงคโปร์คาด GDP โตใกล้ระดับบนสุดของกรอบคาดการณ์ 2%-3% ปีนี้และปีหน้า (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2567)
ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เปิดเผยคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งในปี 2567 และ 2568 จะขยายตัวใกล้ระดับบนสุดของกรอบตัวเลขคาดการณ์ 2%-3% โดยในรายงานทบทวนแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคซึ่งมีการเผยแพร่ในที่ 28 ตุลาคม 2567 MAS ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์ "แข็งแกร่งขึ้นอย่างชัดเจน" ในไตรมาส 3/2567 โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต รวมทั้งการซื้อขายที่ปรับตัวดีขึ้นในภาคการผลิต และการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนหลังจากที่นโยบายการยกเว้นวีซ่าเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า GDP ของสิงคโปร์ขยายตัว 4.1% ในไตรมาส 3/2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่ขยายตัว 2.7% ในไตรมาส 2/2567
อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า MAS มีความกังวลว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์มีความเสี่ยงที่จะอ่อนแอลงในปี 2568 เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยผลการเลือกตั้งประธานนาธิบดีสหรัฐฯ มีความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลาง และการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างมากนั้น อาจจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการค้าและการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก และท้ายที่จะสุดก็จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสิงคโปร์ด้วย
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)