ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'เอกนัฏ' ชู 5 เครื่องมือ เซฟเอสเอ็มอี (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของเอสเอ็มอี ในฐานะฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของไทย จึงได้กำหนดนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งเน้นการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ สู้ เพื่อจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นพิษ เซฟ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทย และสร้าง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ดังนั้น จะเร่งขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส มุ่งเซฟเอสเอ็มอีไทย สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน ร่วมกับสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยผ่าน 5 แนวทาง ดังนี้ 1. ปกป้องเอสเอ็มอีไทยไทยจากคลื่นการลงทุนของบริษัทข้ามชาติและการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ 2. ยกระดับขีดความสามารถของเอสเอ็มอีไทยไทยให้สามารถแข่งขันได้และทันต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3. ริเริ่มนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีไทย 4. ผลักดันการขับเคลื่อนมาตรการ "Made by Thais" และ "SME GP" และ 5. จัดตั้ง SME War Room เพื่อช่วยเอสเอ็มอีไทยไทยแก้ปัญหาให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัด และความท้าทายต่างๆ เพื่อเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการยกระดับเอสเอ็มอี ไทยสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก ผ่านการผลักดันนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ฯ" และกลไกการดำเนินงานสำคัญตามที่ได้กล่าวไป กระทรวงอุตสาหกรรมมองเห็นอนาคตที่เอสเอ็มอีไทยจะเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรม เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม ประกอบกับความร่วมมือ และการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐและภาคเอกชน จะทำให้เอสเอ็มอีไทยได้รับการยกระดับให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัด และความท้าทายต่างๆ เพื่อเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์
ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า
9. 'ดีป้า' ชี้ดัชนีความเชื่อมั่น อุตสาหกรรมดิจิทัลลด อ้างเศรษฐกิจชะลอตัว (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567)
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 3/2567 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อยประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 52 ปรับตัวลงจากระดับ 52.4 ของไตรมาสก่อน แต่ยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น โดยปัจจัยด้านผลประกอบการ ด้านปริมาณการผลิตฯ ด้านคำสั่งซื้อ ด้านการจ้างงาน และด้านการลงทุนปรับตัวลง ขณะที่ปัจจัยด้านต้นทุนประกอบการปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากสภาวะหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนลดลง อีกทั้งกระทบการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางและภอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ลดลงไปมาก และส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น ทังนี้ หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า 3 กลุ่มอุตสาหกรรมมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 52.2 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 52.6 และกลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 54.1 ส่วนอีก 2 กลุ่มอุตสาหกรรมมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 47.7 และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 49.5
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ออกมาตรการสนับสนุนสินค้าและบริการดิจิทัลไทยภายในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถสู่ตลาดโลก โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และดีป้า วางแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมเพื่อยกระดับการลงทุน และพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทย นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และควรตรวจสอบผู้ประกอบการต่างชาติที่ทำธุรกิจโดยไม่เสียภาษี
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. ดันชิ้นส่วนไทยเข้าซัพพลายเชนอีวี (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอและบริษัท จีเอซี ไอออน (GAC AION) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ได้ร่วมกันจัดงาน "AION Sourcing Day" เพื่อจัดหาชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศสำหรับสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ซึ่งเปิดโรงงานผลิตตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เน้น 7 กลุ่มชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ Interior Parts, Exterior Parts, Electrical and Electronics Parts, Chassis Parts, Car Body Parts, Traction Motor Parts และ Battery Parts มีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าร่วมงานกว่า 400 คน จาก 220 บริษัท จำนวนนี้ มีผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เจรจาธุรกิจเป็นรายบริษัทกับ GAC AION จำนวน 74 บริษัท คาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 2,250 ล้านบาท ทั้งนี้ จีเอซี ไอออน มียอดขายสะสมกว่า 2.5 ล้านคันทั่วโลก เป็นบริษัทที่ใหญ่อันดับ 165 ของโลกจาก Fortune Global 500 ตัดสินใจสร้างฐานการผลิตแห่งแรกนอกประเทศจีนที่ไทย ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง เงินลงทุนกว่า 5,600 ล้านบาท เฟสแรกลงทุน 1,300 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (บีอีวี) กำลังการผลิต 20,000 คัน ต่อปี มีแผนขยายการลงทุนในไทยต่อเนื่อง ปัจจุบันยังใช้สำนักงานในไทยเป็น Regional Headquarters ในภูมิภาคอาเซียน โดยการจัดงานครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความร่วมมือระหว่างบีโอไอกับจีเอซี ไอออน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเฉพาะการยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ให้มีโอกาสเข้าสู่ซัพพลายเชนอีวี ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศ การรับช่วงการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย ผู้ประกอบการไทยก็จะได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายโอเชียน หม่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต จำหน่าย และการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน จีเอซี ไอออน มีโชว์รูม 50 แห่งทั่วประเทศ และจะเพิ่มเป็น 100 แห่งในปี 2568 และตั้งเป้าหมายขยายสถานีชาร์จให้ครบ 1,000 แห่ง ภายในปี 2570 นอกจากนี้ บริษัทจะเริ่มขยายสายการผลิตเพื่อผลิตรถรุ่น AION V ในช่วงกลางปี 2568 อีกด้วย โดยงาน Sourcing Day เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของจีเอซี ไอออน ที่จะช่วยผลักดันผู้ประกอบการไทยให้สามารถเติบโตสู่ระดับโลก
ข่าวต่างประเทศ
4. ญี่ปุ่นเผยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือนก.ย.ลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567)
กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นลดลงในเดือนกันยายน 2567 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากราคา ที่สูงขึ้นทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแผนการของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง 1.1% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะลดลง 2.1% และเมื่อเทียบเป็นรายเดือนนั้น การใช้จ่ายลดลง 1.3% เทียบกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 0.7% สำหรับครัวเรือนที่มีสมาชิก 2 คนขึ้นไปใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 287,963 เยน (1,880 ดอลลาร์)
อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญของการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อีกทั้งแนวโน้มการบริโภคและค่าแรงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ BOJ กำลังจับตามอง เพื่อวัดความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และตัดสินใจว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด ทั้งนี้ ญี่ปุ่นจะเปิดเผยข้อมูล GDP เบื้องต้นของเดือนกรกฎาคม - กันยายน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 โดยผลสำรวจของรอยเตอร์ระบุว่า GDP ญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมากจากการบริโภคและการใช้จ่ายด้านทุนที่ซบเซา
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)