ข่าวประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567

ข่าวในประเทศ

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายพิชัย นริพทะพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

1. "พิชัย" รมว.พาณิชย์ จับมือทูตลักเซมเบิร์ก เร่งดัน FTA ไทย-อียู (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567)

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายแพทริก เฮมเมอร์ (H.E. Mr. Patrick Hemmer) เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งได้เชิญชวนให้ลักเซมเบิร์กขยายการลงทุนในไทย และลงทุนเพิ่มเติมในสาขาที่ลักเซมเบิร์กมีศักยภาพ และเอกอัครราชทูตได้แจ้งความสนใจของบริษัทลักเซมเบิร์กในการลงทุนอุตสาหกรรมอุปกรณ์เซนเซอร์รถยนต์ในไทย ทั้งนี้ ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศที่มีจุดแข็งในการให้บริการทางด้านการเงินและการธนาคาร เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของยุโรป (Investment Fund) ปัจจุบันมีการลงทุนในไทยหลายอุตสาหกรรมเช่น โลจิสติกส์ (บริษัท Cargolux) ดาวเทียม (บริษัท SES) เหล็ก (บริษัท AcelorMittal) และกระจก (บริษัท Guardian Glass) นอกจากนี้ ยังได้ขอให้ลักเซมเบิร์กในฐานะประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) สนับสนุนการเจรจา FTA ไทย-อียู เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้โดยเร็ว โดยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอียู 27 ประเทศ รวมถึงลักเซมเบิร์กด้วย ซึ่งเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กได้แจ้งพร้อมให้การสนับสนุนในประเด็นดังกล่าว และหวังว่าลักเซมเบิร์กจะเป็นประตูของสินค้าไทยสู่ตลาดอียู

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 (มกราคม - กันยายน) ลักเซมเบิร์กเป็นคู่ค้าอันดับ 161 ของไทย การค้ารวมมีมูลค่า 12.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.0028 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 31.10 โดยไทยส่งออก 3.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 59.47 และไทยนำเข้า 9.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 11.72 ไทยเสียเปรียบดุลการค้า 6.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น (1) หลอดไฟฟ้า (5) (2) สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ (3) ประทีปโคมไฟ (4) ผลิตภัณฑ์ยาง (5) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (6) อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ (7) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (8) ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ (9) ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และ (10) อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น (1) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (2) เคมีภัณฑ์ (3) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (4) สินค้าทุนอื่น ๆ (5) เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ (6) ส่วนประกอบอุปกรณ์ยานยนต์ (7) ผลิตภัณฑ์โลหะ (8) ผ้าผืน (9) รถไฟ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และ (10) ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก

 

A person sitting in a chair holding a tablet

Description automatically generated

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

 

2. พาณิชย์ปลื้มส่งออกพุ่งรอบ 19 เดือน (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนตุลาคม 2567 และช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม - ตุลาคม) ปี 2567 ว่า การส่งออกเดือนตุลาคม 2567 มีมูลค่า 27,222.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (896,735 ล้านบาท) ขยายตัว 14.6% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 7.2% สินค้าเกษตรขยายตัว 6.8% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 7.6% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 10.1% ยางพารา ขยายตัว 32.6% ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 12.4% เป็นต้น ส่วนการนำเข้าตุลาคม มีมูลค่า 28,016.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.9% ส่งผลให้ไทย ขาดดุลการค้า 794.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนตุลาคมทำมูลค่าสูงสุดในรอบ 19 เดือน เนื่องจากไทยมีการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เติบโตสูงถึง 77.5% รับกับกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งหลายประเทศยังเร่งนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิตทำยอดส่งออกเครื่องจักรไทยโต 43% และวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีการส่งออกมากขึ้น รองรับการฟื้นตัวภาคการผลิตโลก รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมเชิงกลยุทธ์ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการค้าระหว่างประเทศในอนาคต ขณะที่ความต้องการเกษตรและอาหารในตลาดโลกกำลังซื้อในตลาดเหล่านั้นปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมการส่งออก 10 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 250,398.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 257,149.2 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 6.6% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 6,751.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 23,040 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดส่งออกทั้งปีนี้เติบโตได้เกินเป้าหมายขยายตัวได้ 4% มูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10 ล้านล้านบาท ส่วนปีหน้าคาดส่งออกจะยังขยายตัวต่อเนื่อง

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี

เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

 

3. เคาะอ้อยขั้นต้น 1,160 บาท กนอ.เปิดหีบอ้อยรายภาค (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567)

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 66/67 เฉลี่ยทั่วประเทศ ที่ราคา 1,404.17 บาท ต่อตันที่ความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. ลดลง 15.83 บาท จากราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 66/67 ที่ราคา 1,420 บาท โดยกำหนดอัตราขึ้น-ลงของราคาอ้อย 84.25 บาทต่อตัน ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 601.79 บาทต่อตัน และยังเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 67/68 ราคาเดียวทั่วประเทศ ที่ 1,160 บาทต่อตัน ที่ความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. ส่วนอัตราขึ้น-ลง ของราคาอ้อย 66 บาทต่อตัน ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 471.43 บาทต่อตัน โดยจะนำเสนอให้ ครม. เห็นชอบก่อนการเปิดหีบอ้อยปี 67/68 โดยเร็ว นอกจากนี้ยังกำหนดวันเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 67/68 ของ 58 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ เป็นรายภาค โดยเริ่มภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่แรก คือ วันที่ 6 ธันวาคม 2567 ภาคเหนือและภาคกลาง เปิดหีบอ้อย วันที่ 15 ธันวาคม 2567 ยกเว้น 4 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เปิดหีบอ้อยวันที่ 2 มกราคม 2568 และ สอน. ได้คาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบ จำนวน 93.17 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13.40% เนื่องจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นและราคาอ้อยที่เกษตรกรได้รับในปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูง เกิดแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นครั้งแรกที่บอร์ด กอน. ได้เห็นชอบให้เปิดหีบอ้อยเป็นรายภาค ต่างจากปีที่ผ่านๆ มา ที่กำหนดวันเปิดหีบอ้อยเป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งการเปิดหีบอ้อยเป็นรายภาคได้พิจารณาจากความพร้อมของโรงงานน้ำตาลในการรับอ้อยเข้าหีบ ความพร้อมของเกษตรกรในการตัดอ้อยและบริหารจัดการส่งอ้อยเข้าโรงงาน รวมถึงความพร้อมของอ้อยซึ่งต้องมีอายุและระดับคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับนำเข้าหีบ เพื่อได้ให้ผลผลิตน้ำตาลสูงสุด และยังดูความพร้อมอื่นๆ อีก เช่น ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ ความชื้นที่ตกค้างในดิน เพื่อที่เกษตรกรจะสามารถนำรถตัดอ้อยเข้าเก็บเกี่ยวอ้อยได้

 

ข่าวต่างประเทศ 

A red and yellow flag

Description automatically generated

 

4. ความเชื่อมั่นกลุ่มผู้ส่งออกเยอรมนีเดือนพ.ย.ดีดตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567)

Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้ส่งออกของเยอรมนีปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่บริษัทต่างๆ กำลังจับตานโยบายการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยดัชนีคาดการณ์การส่งออกปรับตัวขึ้นสู่ -5.9 จุดในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ -6.5 จุดในเดือนตุลาคม ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ทั้งนี้ บริษัทต่างๆ ยังคงกังวล แต่กำลังรอดูว่าทรัมป์จะใช้นโยบายการค้าแบบใดในท้ายที่สุด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างมากหลังการเลือกตั้ง ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายคาดว่า การส่งออกสินค้าจากเยอรมนีไปยังสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เนื่องจากบริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ อาจเร่งสั่งซื้อสินค้าก่อนที่จะมีการบังคับใช้ภาษีนำเข้า ซึ่งจะทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น ทั้งนี้ ทรัมป์ ซึ่งประกาศว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 พฤศจิกายน 2567) เคยกล่าวระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งว่าเขามีแผนจะกำหนดอัตราภาษีสูงขึ้นกับสินค้าจากสหภาพยุโรป (EU)

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)