ข่าวประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567

ข่าวในประเทศ

A person smiling at a microphone

Description automatically generated

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'เอกนัฏ' หารือค่ายรถญี่ปุ่น ปลดล็อกปัญหาอุตสาหกรรมยานยนต์ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น รวมทั้งหารือร่วมกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น เพื่อรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทั้งนี้ ได้เข้าพบหารือกับ นายมุโต โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโดยมีประเด็นสำคัญ คือ ความสัมพันธ์อันดี ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่ METI มีความร่วมมืออันดีที่มีต่อไทย และย้ำถึงความสำคัญของญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตรที่ยาวนาน โดยเฉพาะในมิติด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันได้หารือแนวทางและมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในไทย ส่วนใหญ่ยังผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถยนต์ไฮบริด (HEV) โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็น Product champion ได้แก่ รถปิกอัพ และ Eco car ที่กำลังถูกดิสรัป (Disrupt) จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (xEV) นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทแม่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้สร้างฐานการผลิตในประเทศไทย 6 บริษัทแบบตัวต่อตัว ณ สำนักงานใหญ่/สำนักงานสาขากรุงโตเกียว โดยได้พบหารือกับผู้บริหารระดับ CEO จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ โตโยต้า มาสด้า มิตซูบิชิ และอีซูซุ และผู้บริหารระดับ EVP จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ ฮอนด้า และนิสสัน ซึ่งตนได้แสดงความห่วงใยต่อผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น ที่กำลังเผชิญสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในไทยหดตัวลงอย่างมาก สาเหตุหลักเนื่องจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของไฟแนนซ์ สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว รวมทั้ง ปัญหาค่าครองชีพและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ที่ส่งผลให้ความต้องการและกำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยเฉพาะในสินค้าที่เป็น Product Champions ของไทย ได้แก่ รถปิกอัพ และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) ซึ่งกระทรวงฯ ได้ให้ความมั่นใจกับผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 4 ปี 2567 มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับรัฐบาลได้พยายามปลดล็อกเรื่องการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด และอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus) และการจับจ่ายใช้สอย จึงมั่นใจได้ว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศในปีหน้าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับฟังแผนการลงทุนในอนาคตของทุกบริษัท รวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางหรือมาตรการที่เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ ทั้งในส่วนของมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาระดับการผลิตของโรงงาน เช่น มาตรการกระตุ้นตลาด การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) เป็นต้น และ มาตรการระยะกลางเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เช่น การจัดการซากรถยนต์เก่า (End-of-Life Vehicles) มาตรการรถเก่าแลกรถใหม่เพื่อกระตุ้นตลาด และมาตรการส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น โดยผลการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายญี่ปุ่น ได้รับสัญญาณบวกที่ชัดเจนว่า ทุกบริษัทยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นฐานการผลิตและส่งออกของไทย โดยคาดว่า ในช่วงเวลา 3-5 ปีนี้มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 120,000 ล้านบาท

 

A person smiling at the camera

Description automatically generated

นายภาสกร ชัยรัตน์

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

2. ทั้งปีดัชนี MPI วูบ 1.6% เหตุกำลังซื้อต่ำ-สินค้านำเข้าทะลัก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567)

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 93.41 หดตัว 0.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 57.75% ส่งผลให้ภาพรวม 10 เดือนแรกปี 2567 หดตัวเฉลี่ย 1.63% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 58.72% โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ ปัญหาขาดกำลังซื้อ ภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย ผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้านำเข้ามากขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่า และความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งสหรัฐ โดยยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเงิน 10,000 บาท เฟสแรก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคบริการและการผลิตรองรับสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนพฤศจิกายน 2567 "ส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง" โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง เนื่องจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์และพื้นที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลง ทางด้านความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากความคาดหวังถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่องเช่นเดียวกัน จากภาคการผลิตในสหภาพยุโรปที่ซบเซาและญี่ปุ่นที่เริ่มชะลอตัว ส่วนในสหรัฐอเมริกามาจากความกังวลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของรัฐบาลชุดใหม่

อย่างไรก็ตาม สศอ. มีการปรับประมาณการปี 2567 โดยคาดว่าดัชนี MPI หดตัว 1.6% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมหดตัว 1.0% และได้ประมาณการปี 2568 โดยคาดว่าดัชนี MPI จะกลับมาขยายตัว 1.5 - 2.5% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 1.5 - 2.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าหลักมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการขยายการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่นเดียวกันกับภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการยังคงมีทิศทางขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึง     การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐผ่าน การลงทุนขนาดใหญ่ แต่ทั้งนี้ยังต้องเฝ้าระวังความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค ซึ่งอาจจะกระทบต่อทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต ราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และกำลังซื้อ โดยเฉพาะตลาดในสหภาพยุโรป ความไม่แน่นอนของนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ รวมถึงต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ หนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง อาจจะกระทบต่อการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและความต้องการซื้อในสินค้าต่างๆ ที่สำคัญได้

 

A person in a suit

Description automatically generated

นายนิพัฒน์สิน ยิ้มแย้ม

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ส.อ.ท. หนุนรัฐเดินหน้า OCA ชู 4 ข้อ เน้นประโยชน์ของชาติ (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567)

นายนิพัฒน์สิน ยิ้มแย้ม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มฯ มี 4 ข้อเสนอต่อรัฐบาล ที่จะช่วยผลักดันการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area: OCA) เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ เพราะมองว่าความล่าช้าอาจทำให้ประเทศยิ่งเสียโอกาสที่จะได้นำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ในจังหวะที่ยังมีมูลค่าสูง โดยข้อเสนอที่ 1 ในการตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee - JTC) ไทย-กัมพูชา ฝ่ายไทยจะต้องเลือกบุคคลที่จะมาเป็นประธานที่สาธารณะให้การยอมรับ และไว้วางใจ ว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นที่ตั้ง, ข้อเสนอที่ 2 คณะกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวกับการเจรจาจะต้องมีความต่อเนื่อง ไปจนกว่าจะได้ข้อยุติ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เนื่องจากในขั้นตอนการเจรจา เป็นเรื่องของการต่อรอง ที่เป็นเรื่องเทคนิค และทั้งสองฝ่ายจะไม่ได้ตามต้องการทั้ง 100% ข้อเสนอที่ 3 รัฐบาลจะต้องมีความกล้าหาญ ที่จะทำให้เรื่องของการเจรจา ไม่โยงกับการเมือง และข้อเสนอที่ 4 ทุกฝ่ายต้องมีความสามัคคีกันเป็นหนึ่งเดียว คำนึงเรื่องของผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ของพรรคการเมือง พรรคใดพรรคหนึ่ง และข้อเสนอทั้ง 4 ข้อ อาจจะมองว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นอุดมคติ นำไปปฏิบัติได้ยาก แต่หากทุกฝ่ายคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ ก็เชื่อว่าจะนำไปปฏิบัติได้ เช่นเดียวกับกรณีพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ที่ทั้งสองประเทศ ต่างได้ประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่ถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม สำหรับประโยชน์ที่ทั้งสองประเทศจะได้รับหากการเจรจา OCA ได้ข้อยุตินั้น ภาครัฐของทั้งสองประเทศจะได้รับค่าภาคหลวงและภาษีปิโตรเลียม รวมถึงการจ้างงานและการลงทุนของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นซัพพลายเชน ซึ่งแตกต่างจากการนำเข้า LNG ที่ภาครัฐจะไม่ได้ประโยชน์จากค่าภาคหลวง โดยในโครงสร้างทางธรณีของพื้นที่ OCA ที่อยู่ในแอ่งปัตตานี เช่นเดียวกับแหล่งปิโตรเลียมสำคัญของฝั่งไทยทำให้มั่นใจว่า จะมีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติอยู่มากพอสมควร นอกจากนี้ การที่ฝั่งไทยมีการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แท่นผลิตและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเอาไว้พร้อมแล้ว แต่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ หากมีก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ OCA ส่งเข้าระบบ ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง ค่าไฟฟ้าก็จะถูกลงเมื่อเทียบกับต้นทุนเชื้อเพลิงที่เป็น LNG

 

ข่าวต่างประเทศ

A close up of a flag

Description automatically generated

 

4. สหรัฐเผยดัชนี PCE +2.3% เดือนต.ค. สอดคล้องคาดการณ์ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567)

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.3% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.1% ในเดือนกันยายน โดยเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนตุลาคมสอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.2% ในเดือนกันยายน ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.7% ในเดือนกันยายน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนตุลาคม สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.3% ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)