ข่าวในประเทศ
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
1. ก.อุตฯ เปิดแผนแก้ฝุ่นพิษ 3 ระยะ ชง 'บีโอไอ' เว้นภาษีเงินได้ 120% (ที่มา:มติชน, ประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2567)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ร่วมประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ประจำปี 2568 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมกองพลทหารราบที่ 7 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยกระทรวงฯ มีมาตรการการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเผาอ้อยในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ระยะเร่งด่วน ได้แก่ 1. ผลักดันนโยบายการตัดอ้อยสดลดการเผาอ้อย ลดฝุ่น PM2.5 2. สนับสนุนเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืม นำไปใช้สางใบอ้อยทดแทนแรงงานคน 3. การยกเว้นอากรศุลกากรการนำเข้าสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตร 4. การชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยสำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในไร่อ้อย 5. ดำเนินการร่วมกับบีโอไอเพื่อขอรับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 120% ของเงินลงทุน กรณีโรงงานน้ำตาลลงทุนซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อสนับสนุนลดฝุ่นละออง PM2.5 จากภาคการเกษตรให้กับกลุ่มเกษตรกร และ 6. นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อติดตามและลดการเผาอ้อย ส่วนในระยะยาว ได้แก่ 1. การกำหนดปริมาณมาตรฐานในการผลิตน้ำตาลทรายขั้นต่ำของโรงงาน 2. กำหนดปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบ เผาอ้อย ฤดูการผลิตปี 2567/2568 ไม่เกิน 25% 3. มาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2567/2568-ปี 2569/2570 และ 4. มาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 (แผน 3 ฤดูการผลิต)
อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ มุ่งมั่นเร่งขับเคลื่อนมาตรการที่เกี่ยวข้องและผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการแก้ปัญหา PM2.5 อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อคืนอากาศที่สะอาดให้กับประชาชนและสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล
นายนาวา จันทรสุรคน
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
2. ลุ้นเพิ่มจ.ปราจีนบุรีเข้าอีอีซี (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2567)
นายนาวา จันทรสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ครอบคลุมใน 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เริ่มมีพื้นที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของนักลงทุนแล้ว จึงมีการหารือกันในส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มพื้นที่ในจังหวัดปราจีนบุรี เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอีอีซี เพื่อรองรับการลงทุนที่จะทยอยเข้ามาในปี 2568 ซึ่งคาดว่ามีความเป็นไปได้มาก เพียงแต่ต้องแก้ไขกฎหมายอีอีซี เพื่อขอขยายพื้นที่เพิ่มเติมเหมือนกับที่ขอขยายมาที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จากเดิมที่มีพียงจังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี เท่านั้น ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ พยายามกำหนดเงื่อนไขการลงทุนในการใช้ชิ้นส่วนในประเทศที่ผลิตจากไทย ไม่ใช่ส่งเสริมการลงทุนโดยให้อุตสาหกรรมที่ยกโรงงานจีน คนงานจีนเข้ามา เพราะสิทธิประโยชน์คือส่วนหนึ่งของการตัดสินใจลงทุน แต่ไม่ควรมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะหลายอย่างไทยเหนือกว่าคู่แข่ง เช่น ค่าเช่าที่ดินไทยแพงกว่าเวียดนาม แต่โครงสร้างพื้นฐานไทยดีกว่า มีสนามบิน คมนาคมที่ดีกว่า ค่าไฟไทยแพงกว่าแต่มีความเสถียรมากกว่า โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้รายงานผลการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 10 เดือน (มกราคม - ตุลาคม 2567) พบว่า มีจำนวน 251 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้น 128% มูลค่าการลงทุน 45,739 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 146% นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนอันดับ 1 คือ นักลงทุนจากญี่ปุ่น 86 ราย ลงทุน 16,184 ล้านบาท รองลงมาคือ จีน 59 ราย ลงทุน 8,030 ล้านบาท ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 88 ราย ลงทุน 16,306 ล้านบาท ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะลงทุนในธุรกิจบริการวิศวกรรม ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่าง ๆ ธุรกิจบริการ ระบบซอฟต์แวร์ฐาน และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ระบุว่า การให้สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ที่จูงใจ ผ่านวิธีการเจรจาตามข้อเสนอการลงทุนของนักลงทุนเฉพาะราย โดยมีกรอบสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ อาทิ ด้านภาษี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด เป็นเวลา 1-15 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกินร้อยละ 50 เป็นเวลา 1-10 ปี สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร เป็นต้น ด้านที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ ด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว มอบอีอีซี วีซ่า ให้แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ผู้ชำนาญการ และบุคคลในอุปการะ ระยะเวลาสูงสุด 10 ปี รวมไปถึงการให้บริการภาครัฐครบวงจร หรือ EEC One Stop Service ซึ่งนักลงทุนสามารถรับบริการด้านอนุมัติ อนุญาต การยื่นคำขอที่เกี่ยวข้องผ่านระบบออนไลน์
นายสุภกิจ เจริญกุล
ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและ การพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือไอทีดี
3. "ไอทีดี" ชงพัฒนา 4 อุตสาหกรรม (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2567)
นายสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือไอทีดี ภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ ไอทีดีจะนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ ท่องเที่ยว เกษตรและอาหาร การแพทย์ และเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งที่มีศักยภาพในการสร้างงานและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตเสนอต่อนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้ง 4 โดยข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นผลจากการระดมสมองของผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนารุ่น 1 ที่ไอทีดีจัดทำขึ้น สำหรับผลการศึกษาด้านการท่องเที่ยวนั้น เสนอให้ผลักดันการท่องเที่ยวทั่วไทย และยกระดับการท่องเที่ยวไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพของนักท่องเที่ยวมากกว่าจำนวน พัฒนาเมืองสำคัญเป็นจุดหมายปลายทางใหม่เชื่อมโยงท่องเที่ยวกับอาหารคมนาคมการแพทย์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย เช่น อาหาร ศิลปะ เทศกาลกับการท่องเที่ยว พัฒนาแอปพลิเคชัน SABUY-SABUY เชื่อมโยงข้อมูลท่องเที่ยวจากทุกหน่วยงาน ส่วนเกษตรและอาหาร เสนอให้พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรไทยสู่การเป็นครัวของโลกและห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยั่งยืน เพราะมีแรงงานมากกว่า 19 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (จีดีพีภาคเกษตร) เติบโตเฉลี่ยปีละ 1.9% คิดเป็น 8.8% ในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไทยจึงต้องรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอยู่ภายใต้สังกัดเดียวพัฒนาระบบ Super Smart Agri Map เพื่อใช้วางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ขณะที่อุตสาหกรรมการแพทย์เสนอให้พัฒนาไทยสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจผ่าตัดเสริมความงามระดับโลก ผลักดันจัดตั้ง Thailand Aesthetic Surgery Agency (TASA) เพื่อออกใบอนุญาตให้แก่แพทย์ต่างชาติ ควบคุมมาตรฐานระบบจัดการข้อร้องเรียน จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการอบรมพัฒนา และช่วยให้แพทย์และศัลยแพทย์เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆผ่อนปรนนำเข้าแพทย์ต่างชาติ แก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทาง สำหรับทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล วางเป้าหมายการเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอี ด้วยเทคโนโลยี Generative AI โดยการใช้เทคโนโลยี AI เสริมสร้างขีดความสามารถ ตั้งแต่วิเคราะห์ข้อมูลตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคโอกาสทางการค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายโอกาสสู่เพื่อนบ้านและตลาดโลก โดยมีอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มนำร่อง
ข่าวต่างประเทศ
4. ดัชนี PMI ภาคการผลิตของอินเดียชะลอตัวในเดือนพ.ย. จากแรงกดดันเงินเฟ้อ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2567)
เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของอินเดีย ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 56.5 ในเดือนพฤศจิกายน จาก 57.5 ในเดือนตุลาคม ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 57.3 ทั้งนี้ ดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว ซึ่งดัชนี PMI ภาคการผลิตของอินเดียเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 50 มาเกือบสามปีครึ่งแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของดัชนีย่อยด้านผลผลิตและด้านคำสั่งซื้อใหม่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดและเกือบต่ำสุดของปีนี้ตามลำดับ แม้การขยายตัวจะช้าลงจากการแข่งขันและแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ด้วยอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง การฟื้นตัวจึงยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ สำหรับสินค้าที่ผลิตในอินเดียได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ โดยอุปสงค์จากต่างชาติขยายตัวเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม
อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ระหว่างประเทศแข็งแกร่งในวงกว้าง สะท้อนจากยอดสั่งซื้อส่งออกใหม่ที่พุ่งสูงสุดในรอบ 4 เดือน ซึ่งช่วยหนุนให้ภาคการผลิตอินเดียเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยอุปสงค์ที่อยู่ในระดับสูงประกอบกับการขยายกำลังการผลิตส่งผลให้แนวโน้มธุรกิจในปีหน้าสดใส ดันดัชนีย่อยทะยานแตะจุดสูงสุดในรอบ 6 เดือน แต่ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อทวีความรุนแรง ทั้งต้นทุนและราคาขายปรับตัวสูงขึ้น โดยต้นทุนพุ่งแรงที่สุดนับจากเดือนกรกฎาคม ขณะที่ราคาขายทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)