ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. เยียวยาน้ำท่วมภาคใต้ (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ได้ประสบอุทกภัย เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดได้แก่ สงขลา พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และมีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ล่าสุดจากการสำรวจความเสียหายของสถานประกอบการ พบว่า มีโรงงานอุตสาหกรรม 52 แห่ง วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 14 แห่ง เหมืองแร่ 1 แห่ง มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 23 ล้านบาท และมีวิสาหกิจชุมชน 23 แห่ง (ข้อมูลจากศูนย์ CMC สะสมตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2567) ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม จึงใช้พื้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จังหวัดสงขลา จัดตั้งเป็น "ศูนย์อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทยประสบภัยน้ำท่วม" รวบรวมสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค ของใช้จำเป็น และยารักษาโรค เพื่อระดมและลำเลียงไปช่วยพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดใกล้เคียง และเป็นศูนย์ประสานหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ติดตามความเสียหาย เตรียมพร้อมมาตรการต่างๆ รองรับสถานการณ์หลังน้ำลด กำหนดแผนป้องกันหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้งทั้งในระยะฉับพลัน ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ในการสนับสนุนสิ่งของอุปโภค บริโภค เพื่อส่งมอบเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด บรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมบูรณาการกับภาคเอกชน จัดตั้งศูนย์ประสานหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย เร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 2) มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลดผ่านการให้คำปรึกษาปัญหาธุรกิจอุตสาหกรรม และช่วยเหลือในการปรับปรุงกระบวนการผลิต ฟื้นฟูเครื่องจักร ระบบไฟฟ้าเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้กลับมาดำเนินการได้ อีกทั้ง ยังมีการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 3) มาตรการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ผ่านการจัดทำแผนรองรับการเกิดอุทกภัยเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจัดทำ Check list เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย การสร้างผนังกั้นน้ำ สอนวิธีการป้องกันอุปกรณ์เครื่องจักร เป็นต้น
หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
2. ผู้ประกอบการไทยผวา "ทรัมป์ 2.0" (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2567)
หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจโพล ส.อ.ท. ภายใต้หัวข้อ "มุมมองภาคอุตสาหกรรมต่อผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0" ซึ่งพบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มีความกังวลต่อนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับปานกลาง เนื่องจากยังต้องติดตามว่า นโยบายดังกล่าวจะมีความชัดเจนอย่างไรหลังจากเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568 และภายใต้นโยบาย America First ที่จะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศในอัตรา 10% และเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีน สูงสุด 60% ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวล ต่อผลกระทบทางอ้อม จากการที่จีนต้องหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐฯ จะทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียนและประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังวิตกกังวลเรื่องความเสี่ยงต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดขึ้นจากการเกินดุลการค้าสหรัฐฯ โดยตั้งแต่เดือนมกราคม - ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯ 28,904 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ขยายตัว 20.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกันนโยบายทรัมป์ 2.0 อาจเป็นโอกาสที่ประเทศไทย จะส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้นทดแทนสินค้าจีน ตลอดจนเป็นโอกาสดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย และการเข้าไปมีส่วนในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) สินค้าเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศ ขณะเดียวกันผลสำรวจ พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ มองว่าภาค อุตสาหกรรมจะต้องเร่งพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ควบคู่ไปกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจในการรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่มีผลพวงมาจากนโยบายทรัมป์ 2.0 รวมทั้งมีการวางแผนกระจายการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพนอกเหนือจากสหรัฐฯ เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท.จำนวน 150 คน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 47 กลุ่ม อุตสาหกรรมและ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด อาทิ 1. นโยบายทรัมป์ 2.0 จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในระดับใด ปรากฏว่า อันดับ 1 ระบุว่า เกิดผลกระทบปานกลาง 56.7% 2. ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อนโยบายทรัมป์ 2.0 ในเรื่องใด อันดับ 1 ระบุว่า การปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศในอัตรา 10% จำนวน 66.0% และเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงสุด 60% และ 3. นโยบายทรัมป์ 2.0 จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยในเรื่องใด อันดับ 1 ระบุว่าสินค้าจีนทะลักเข้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียนและประเทศไทยมากยิ่งขึ้น 70%
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์
โฆษกประจำสำนักนายกฯ
3. 'อิ๊งค์' สั่ง 4 เรื่องรับลงทุนไทย (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2567)
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า นายกฯ ได้สั่งการใน ครม. เรื่องการค้าการลงทุน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งไปดำเนินการ ใน 4 เรื่องสำคัญ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ คือ การพัฒนาพื้นที่สำหรับรองรับการลงทุน โดยเฉพาะการจัดสรรและพัฒนาที่ดินให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่, เรื่องไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยบริษัทรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายต้องการพลังงานหมุนเวียนสะอาด, เรื่องมาตรการรองรับการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ ซึ่งจำเป็นต้องออกกฎหมายให้ทันการบังคับใช้ในปี 2568 ทั้งในส่วนของการจัดเก็บภาษีขั้นต่ำและมาตรการด้านสิทธิประโยชน์ และการแก้ไขกฎระเบียบอื่นๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เช่น การผ่อนปรนเงื่อนไขการจ้างงานชาวต่างชาติของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากรทักษะสูง เป็นต้น ทั้งนี้หลังจากที่นายกฯ ได้มีโอกาสพบนักลงทุน ทั้งในช่วงที่เดินทางไปต่างประเทศ และการพบกับสมาคมการค้าและภาคธุรกิจต่างๆ ทำให้เห็นถึงโอกาสของประเทศไทยที่จะดึงดูดนักลงทุน ภายใต้สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายทางการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่เร่งให้บริษัทจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและปรับแผนในการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ได้ปรับเป้าหมายการส่งออกปี 2567 โดยเติบโตที่ 4% และปี 2568 เติบโตที่ 1-3% ซึ่งยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง คือ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นความกังวลเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าและนโยบายอื่นของสหรัฐ อเมริกากับประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้า และสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางและรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ เรื่องดัชนีเอ็มพีไอ ที่ยังชะลอตัวในตลาดสำคัญ ค่าเงินบาทที่ยังผันผวน ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลและมาตรการทางการค้าที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลโดยขอให้เร่งลดต้นทุนการทำธุรกิจให้กับผู้ส่งออก อาทิ ต้นทุนการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนการประกันความเสี่ยงการชำระเงินค่าสินค้า ขณะเดียวกันควรเพิ่มงบประมาณและจำนวนความถี่ในการจัดส่งเสริมกิจกรรมการค้าทั้งในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักและตลาดลำดับรอง และเร่งรัดการเจรจาการค้าเสรีในกรอบที่มีอยู่เดิม และเพิ่มการเจรจาในตลาดศักยภาพใหม่
ข่าวต่างประเทศ
4. ออสเตรเลียเฮ จีนเลิกแบนนำเข้าเนื้อสัตว์ ส่งสัญญาณสัมพันธ์ฟื้น (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2567)
แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เปิดเผยว่า จีนได้ยกเลิกข้อจำกัดในการนำเข้าเนื้อสัตว์จากออสเตรเลียทั้งหมดแล้ว ซึ่งนับเป็นสัญญาณล่าสุดของความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างสองประเทศ โดยจีนได้ยุติการระงับนำเข้าเนื้อสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่งสุดท้าย ของออสเตรเลียที่ยังติดลิสต์แบน หลังจากที่ทยอยยกเลิกแบนโรงฆ่าสัตว์ 8 แห่งมาเป็นระยะตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 พร้อมชี้ว่าการประกาศครั้งนี้ปูทางสู่การกลับมาส่งออกเนื้อวัวไปยังจีนได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลจีนได้ยกเลิกหรือให้คำมั่นว่าจะยกเลิกมาตรการกีดกัดทางการค้าทั้งหมดที่เคยบังคับใช้กับการส่งออกของออสเตรเลียในช่วงที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศตึงเครียด โดยจีนได้ยุติข้อจำกัดในการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ของออสเตรเลียไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ข้าวบาร์เลย์ ไวน์ ไม้ และถ่านหิน รวมถึงสินค้าอื่นๆ นอกจากนี้ ยังได้ประกาศว่าจะยกเลิกการสั่งห้ามนำเข้ากุ้งมังกร "ให้ทันช่วงเทศกาลตรุษจีน"
อย่างไรก็ตาม มาตรการกีดกันทางการค้าถูกบังคับใช้มาเป็นระยะ หลังจากสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในขณะนั้น เรียกร้องให้มีการสอบสวนระหว่างประเทศเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโควิด-19 ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่จีนเป็นอย่างมาก
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)