ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. อุตลั่น 3 ปี ชูไทยมุ่งสู่ 'ฮับโกโก้' โกยรายได้เพิ่ม (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงมีแผนเดินหน้าประเทศไทยสู่ฮับโกโก้ของอาเซียน สนองยุทธศาสตร์ผู้นำแหล่งผลิตและตลาดผลไม้เมืองร้อนของรัฐบาล โดยมีแผนระยะ 3 ปี เชื่อมโยงกับซอฟต์พาวเวอร์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) รุกพัฒนาผู้ประกอบการโกโก้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านการพัฒนาในแต่ละภูมิภาคก้าวสู่การเป็นสินค้า GI เพื่อตอกย้ำการเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่เน้นความโดดเด่นในเชิงคุณภาพและอัตลักษณ์ทางรสชาติ โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการสร้างรายได้และเป็นการกระจายมูลค่าเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะ "เกษตรอุตสาหกรรม" โดยจะมุ่งสนับสนุนทั้งพืชเศรษฐกิจเดิมและพืชเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งโกโก้ที่สามารถสร้างมูลค่าตั้งแต่ผลสด เมล็ดแห้ง และการแปรรูป ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจอีกกว่า 8 พันล้านบาท พร้อมชูต้นแบบความสำเร็จ โกโก้วัลเล่ย์ ธุรกิจโกโก้ครบวงจรตั้งแต่การปลูก แปรรูป การสร้างแบรนด์ และแหล่งท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้ให้ครัวเรือนโดยรอบกว่า 300 ครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่โกโก้เริ่มได้รับความนิยมในไทย ยังเป็นแรงจูงใจในหลายด้าน เช่น โมเดลธุรกิจคาเฟ่ ท่องเที่ยว คนรุ่นใหม่ที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการเกษตร รวมถึงการจ้างงานในชุมชนที่มากขึ้น ทั้งนี้ ใน 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยมีผลผลิตโกโก้รวมทั้งหมด 1,016.78 ตัน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
2. พิชัยเร่งปั๊มการค้า-ปี 68 ลุยเอฟทีเอ 6 ประเทศ (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2567)
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แผนงานการเดินหน้าจัดทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ปี 2568 กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าเต็มที่ เพื่อเร่งขยายการค้า และการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทยด้วยการเร่งรัดการจัดทำเอฟทีเอกับประเทศใหม่ๆ เพิ่มจากเอฟทีเอ ที่ไทยได้ลงนามแล้ว 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ โดยฉบับที่ 15 ไทย-ศรีลังกา คาดมีผลใช้บังคับในไตรมาสแรกของปี 2568 ซึ่งในปี 2568 เร่งรัดจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 6 กรอบความร่วมมือ ได้แก่ 1. เอฟทีเอ ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศคือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ตั้งเป้าจะลงนามในช่วงการประชุม World Economic Forum หรือการประชุมดาวอส 2024 ช่วงระหว่างวันที่ 20-24 มกราคม 2568 ซึ่งน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะให้เกียรติเป็น สักขีพยาน ถือเป็น FTA กับประเทศยุโรปฉบับแรก โดย EFTA เป็นตลาดศักยภาพ กำลังซื้อสูง โดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การทำ FTA กับ EFTA จะขยายโอกาสการค้าการลงทุน สนับสนุนการพัฒนายกระดับมาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 2. เอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ขณะนี้เจรจาแล้ว 3 รอบ ล่าสุดเดือนมิถุนายน 2567 และมุ่งหวังจะสรุปการเจรจาภายในปี 2568 หากสำเร็จเชื่อจะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยใน EU ปรับโครงสร้างการผลิตและบริการไทย สู่การผลิตและบริการใหม่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งดึงดูดการลงทุนเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมในอาเซียน และยกระดับมาตรฐาน/กฎระเบียบให้เป็นมาตรฐานสากล 3. เอฟทีเอไทย-สาธารณรัฐเกาหลี การเจรจาคืบหน้ามากเป็นไปตามแผน ตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาในปี 2568 4. เอฟทีเอ ไทยภูฏาน เน้นเปิดเสรีการค้าสินค้า เจรจาแล้ว 3 รอบ ตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในปี 2568 5. เอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา ทั้งสองฝ่ายผลักดันให้สรุปผลอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2568 และ 6. เอฟทีเอ ไทย-UAE ตั้งเป้าปิดดีลปี 2568
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย
3. หอการค้าหนุนรัฐมาถูกทาง ดึงอุตสาหกรรมโลกใหม่เข้าไทย ชี้มาตรการดึงดูดใจเดิมเพียงพอ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2567)
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า กรณีการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมในประเทศไทย อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ หรือปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เริ่มเห็นการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น เพราะไทยถือว่ามีความเป็นกลาง ทำให้ผลิตจากไทยแล้วสามารถส่งออกไปได้หลากหลายประเทศทั่วโลก แต่ต้องสร้างความชัดเจนในประเทศต้นทาง ดำเนินการกฎเกณฑ์ของโลกที่ตั้งไว้ อาทิ ต้องมีโลคอลคอนเทนต์ อย่างน้อย หากสามารถดูแลจัดการได้ จะสามารถส่งออกไปได้ทุกที่ รวมถึงต้องดูกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้น กลาง ปลายน้ำ ที่ต้องทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างแท้จริง เพราะวัตถุดิบบางอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ส่วนที่สามารถใช้ในประเทศได้ ก็อยากให้ใช้ในประเทศมากที่สุด ทั้งวัตถุดิบ และความรู้ความสามารถของคนไทยเป็นหลัก เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างมูลค่า เพิ่มงานให้กับคนในประเทศก่อน ทั้งนี้ ในด้านมาตรการจูงใจผ่านมาตรการต่างๆ มองว่าเราให้สิทธิพิเศษเพื่อส่งเสริมการเข้ามาลงทุนมากพอแล้ว ถือว่าได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลค่อนข้างดี หลังจากนี้คงต้องดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม แต่จากมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถือว่าได้รับการยกเว้นภาษีหลายปีแล้ว เป็นแรงจูงใจขั้นต้นที่ทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่า ในปีแรกจะไม่มีภาระด้านภาษีต้องแบกรับ ในส่วนของอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมโลกเก่าในประเทศไทย ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และเทคโนโลยีเอไอ ถือเป็นอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ทั่วโลกกำลัง ให้ความสนใจ จะเข้ามาเติมอุตสาหกรรมเก่าของไทยที่โครงสร้างเริ่มไม่ทันสมัย และไม่ตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็ว การดึงดูดธุรกิจเหล่านี้เข้ามาในไทยมากขึ้น ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการมากแล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่กำลังศึกษาการจัดเก็บจาก 20% เป็น 15% และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะพิจารณาจาก 35% เหลือ 15% เท่ากัน เพื่อจูงใจการทำงานในประเทศไทยนั้น เบื้องต้นมองว่าวิธีเดิมที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษียังเป็นตัวดึงดูดให้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากพอสมควรแล้ว ด้านนี้จึงไม่ได้เป็นห่วงมากนัก สิ่งสำคัญที่สุดเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ต้องรักษาให้ดี เพื่อให้เราสามารถส่งออกสินค้าไปค้าขายกับต่างประเทศได้แบบไม่มีสะดุด ซึ่งรัฐบาลจะสามารถจัดเก็บภาษีจากธุรกิจเหล่านี้ได้อยู่แล้ว
ข่าวต่างประเทศ
4. สหรัฐฯ ขาดดุลลดลงในเดือนต.ค. แตะ 7.384 หมื่นล้านดอลล์ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2567)
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยรายงานว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าเดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ 7.384 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 8.38 หมื่นล้านดอลลาร์ ในเดือนกันยายน ซึ่งดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในการสำรวจของวอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) คาดการณ์ไว้ที่ 7.48 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ทางด้านมูลค่าการส่งออกหดตัวลง 1.6% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2.6572 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าลดลงถึง 4% เหลือ 3.3956 แสนล้านดอลลาร์ แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม ตัวเลขขาดดุลการค้ายังคงสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2566 ถึง 8.07 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 12.3%
อย่างไรก็ตาม แม้ภาคบริการจะขยายตัว ทั้งจากการส่งออกภาคการท่องเที่ยวและบริการธุรกิจบางประเภท รวมถึงการนำเข้าบริการด้านการท่องเที่ยวและทรัพย์สินทางปัญญา แต่การค้าภาคสินค้ากลับหดตัวลงมากกว่า โดยการส่งออกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ลดลง 1.2 พันล้านดอลลาร์ และการส่งออกรถยนต์นั่งลดลง 1.3 พันล้านดอลลาร์ แต่ในทำนองเดียวกัน การนำเข้าคอมพิวเตอร์ลดลง 3.7 พันล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้ารถยนต์ เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ลดลง 1.6 พันล้านดอลลาร์
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)