ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. พัฒนาอุตฯ ชีวภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 9 ธันวาคม 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เยี่ยมชมโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ และโครงการตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ณ บริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ ทั้งนี้ ตามนโยบายภาครัฐได้ส่งเสริมมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย และโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นกลไกในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่มี เป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สุทธิ เป็นศูนย์ในปี 2065 ซึ่งบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด ได้ดำเนินโครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ในพื้นที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยโครงการระยะที่ 1 ได้เริ่มดำเนินการในปี 2567 มีวัตถุดิบหลัก คือ อ้อย ผลิตภัณฑ์หลัก คือ เอทานอลและพลังงานชีวมวล ส่วนโครงการระยะที่ 2 เป็นการลงทุนระบบสาธารณูปโภคเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท NatureWorks จากสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพคาร์บอนต่ำ (Polylactic acid : PLA) รายใหญ่ ของโลก ได้ใช้น้ำตาลทรายดิบเป็นวัตถุดิบจากนอกพื้นที่โครงการฯ โดยระยะที่ 1 ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบอยู่แล้ว หากสามารถปรับปรุงโรงงานให้ผลิตน้ำตาลทรายดิบเพื่อใช้ในพื้นที่โครงการ จะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ นอกจากนี้ทางบริษัทฯ มีการวางแนวทางก่อสร้าง และทดลองเดินเครื่องจักร คาดจะเริ่มได้ ในปี 2568 พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดเอทานอลไปสู่พลาสติกชีวภาพอากาศยานรวมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ได้ให้ข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินงานสำคัญภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 ของปี 2566 ผ่าน 4 มาตรการหลัก คือ 1. ขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน โดยมีการปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 เพิ่มกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในบัญชีท้ายกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน (ฉ.2) พ.ศ. 2564 ปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 และปรับปรุงผังเมืองเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพ 2. เร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ โดยผลักดันการลงทุนในพื้นที่มีศักยภาพ EEC มูลค่าโครงการลงทุนใน Bio Hub กว่า 164 แสนล้านบาท 3. กระตุ้นอุปสงค์ ออกมาตรการคลังสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพ ออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ผลักดันตราสัญลักษณ์พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ และ 4. สร้างเครือข่าย CoBE โดยจัดตั้งศูนย์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ณ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี สร้างเครือข่ายด้านงานวิจัยอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ 77 หน่วยงาน เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ 17 หน่วยงาน และเทคโนโลยีเชิงลึกการเกษตร 15 มหาวิทยาลัย จัดทำหลักสูตรพัฒนาอบรมบุคลากรชีวภาพกว่า 850 ราย
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 ตาม มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย คาดจะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม ชีวภาพในประเทศกว่า 190,000 ล้านบาท เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 85,000 บาทต่อคนต่อปี มีการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรกว่า 800,000 ครัวเรือน และมีการผลิตและจ้างแรงงานที่มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญสูงกว่า 20,000 ตำแหน่ง
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM)
2. DIPROM จับมือจังหวัดโคจิร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 9 ธันวาคม 2567)
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ดีพร้อมได้ต้อนรับ นายโอคาดะ ทาดาอากิ อธิบดีกรมการค้าอุตสาหกรรมและแรงงาน จังหวัดโคจิ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งคณะ ที่ได้เดินทางมาเข้าเยี่ยมคารวะและประชุม หารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างจังหวัด โคจิและดีพร้อม โดยจังหวัดโคจิเป็น 1 ใน 4 จังหวัดของภูมิภาคเกาะชิโกกุ มีธรรมชาติรายล้อม ทั้งภูเขา ทะเล และแม่น้ำ ทำให้มีชื่อเสียงด้านการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมป่าไม้ มาเป็นเวลายาวนาน มีพืชเศรษฐกิจ คือ ส้มยูซุ และมะเขือเทศ รวมทั้งยังมีความเชี่ยวชาญด้านการทำประมงและปลาทูน่า ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดโคจิถือเป็นจังหวัดอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ที่มีการปลูกพืชโดยใช้โรงเรือนเกษตรแบบ Green House ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับ อุปกรณ์ดิจิทัลอื่นๆ ได้ ทำให้ช่วยประหยัด พลังงาน และควบคุมคุณภาพของผลผลิต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามจังหวัดโคจิก็ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ประสบกับภัยทางธรรมชาติค่อนข้างบ่อย ทำให้เกิดแรงผลักดันในการพัฒนาเทคโนโลยี ป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. เทคโนโลยีเพื่อเตรียมการก่อนเกิดภัยพิบัติ 2. เทคโนโลยีสำหรับเผชิญภัยพิบัติ และ 3. เทคโนโลยีเพื่อการบรรเทาทุกข์หลังเกิดภัยพิบัติ โดยทั้งหมดนี้กำลังได้รับความสนใจจากนานาประเทศ เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยก็กำลังประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ดังนั้นหากทางจังหวัดโคจิสามารถที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีในการป้องกันภัยพิบัติมาสู่ประเทศไทยได้นั้น ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นทุกปี อีกทั้งยังสามารถสร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรมได้อีกด้วย ว่ากระบวนการผลิตจะไม่หยุดชะงักเนื่องจากปัญหาดังกล่าว โดยเป็นไปตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ
กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ.
3. เผย 14 นิคมอุตฯ พร้อมโชว์ข้อมูลจัดการกากเรียลไทม์ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 9 ธันวาคม 2567)
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นได้พัฒนาแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กนอ. เองก็มีการพัฒนาระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมแบบทันสถานการณ์ หรือเรียลไทม์ มาตั้งแต่ปี 2562 โดยเริ่มนำร่องในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเป็นแห่งแรก เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยระบบนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตรวจสอบเส้นทางการขนส่งกากอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ณ สถานที่รับกาก ลดโอกาสการลักลอบทิ้ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชน และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและสังคม สอดคล้องกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับล่าสุด เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ กนอ. ได้ขยายผลระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมแบบเรียลไทม์ใน 14 นิคมอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของอุตสาหกรรมที่สะอาด สอดรับแนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจบีซีจี และความเป็นกลางทางคาร์บอนที่เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมนานาชาติ แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวและความเป็นกลางทางคาร์บอน
ข่าวต่างประเทศ
4. ญี่ปุ่นปรับเพิ่มประมาณการ GDP ไตรมาส 3/67 เป็น 1.2% จากเดิม 0.9% (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 9 ธันวาคม 2567)
สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 3/2567 ขยายตัว 1.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าขยายตัวเพียง 0.9% และแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.0% โดยการใช้จ่ายด้านทุน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ภายในประเทศ ลดลงเพียง 0.1% ในไตรมาส 3 ซึ่งดีกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าลดลง 0.2% ส่วนการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลข GDP นั้น เพิ่มขึ้น 0.7% น้อยกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าปรับตัวขึ้น 0.9% ขณะที่ยอดส่งออกดีดตัวขึ้น 1.1% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ที่ขยายตัวได้ดีเกินคาดเป็นสนับสนุนมุมมองของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงขยายตัวปานกลาง
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ จะจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดก่อนที่การประชุมนโยบายการเงินของ BOJ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 นี้ โดยข้อมูลดังกล่าวรวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 4/2567 ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2567 ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า คณะกรรมการ BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในเดือนมกราคมปีหน้า นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลข GDP ไตรมาส 4/2567 ของญี่ปุ่นจะขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)