ข่าวในประเทศ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์
ว่าการกระทรวงพาณิชย์
1. พาณิชย์สกัดสินค้าไร้มาตรฐาน ฟัน 747 นอมินี-นำเข้าลดวูบ 27% (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2567)
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 16 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานกำกับดูแลสินค้าไร้คุณภาพที่นำเข้าจากต่างประเทศ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งผ่านกรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (สมอ.) หลังจากผลการทำงานที่ผ่านมา ได้ผลเป็นอย่างดี สามารถแก้ไขปัญหาลดลงไปได้มาก ดูแลผู้บริโภคและผู้ประกอบการ SMEs ได้เป็นอย่างดี โดยล่าสุดได้หารือกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งจีนได้ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสินค้าไม่ได้คุณภาพ โดยกล่าวว่า "หากมีหนอนก็ต้องกำจัด เพื่อให้ป่าไม่ใหญ่สามารถเติบโตได้" ทั้งนี้ ได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ TEMU ก็ได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์แล้ว โดยใช้ชื่อบริษัท เวลโค เทคโนโลยี จำกัด และทางจีนก็ยินดีที่จะส่งเสริมการส่งออกสินค้า SMEs ไทยให้เข้าไปจำหน่ายในจีน ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรูปแบบใหม่ โดยเป็นการเข้ามาดำเนินการจดทะเบียนธุรกิจในไทย แต่ยังไม่ได้ดำเนินธุรกิจ ซึ่งหากจะประกอบธุรกิจก็จำเป็นจะต้องเข้ามาขออนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ภายใต้กฎหมายต่างด้าวของไทย หรือจะเข้ามาขอส่งเสริมการลงทุน กับสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประสานงาน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานอย่างเข้มข้น ทำให้สินค้าไร้คุณภาพเข้าสู่ประเทศลดลง โดยช่วงก่อนมีมาตรการเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เฉลี่ยเดือนละ 3,112 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบันการนำเข้าลดลงเหลือ 2,279 ล้านบาท ลดลง 27% ลดลงทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่มีมาตรฐาน สำหรับการแก้ไขปัญหานอมินี ได้แบ่งกลุ่มตรวจสอบธุรกิจที่มีความเสี่ยง 6 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจขนส่งทางบก ธุรกิจโกดังและคลังสินค้า ธุรกิจซื้อขายที่ดินเพื่อการเกษตร และธุรกิจอื่นๆ โดยผลการตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน - 4 ธันวาคม 2567 สามารถดำเนินคดี ได้ 747 ราย มูลค่าธุรกิจที่เข้าตรวจสอบ 11,720 ล้านบาท
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี
เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)
2. 'เอกนัฏ' กระตุ้นตัดอ้อยสด 100% ลดฝุ่นพิษ สอน.ดึงโดรน-เอไอ ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2567)
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน.เดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรม สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ตามนโยบาย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีเพื่อหารือร่วมกับคณะผู้บริหารของสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ สาขาไทยอุดร บ้านผือ บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และบริษัท โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม จำกัด และขอความร่วมมือสมาคมชาวไร่อ้อยฯ ลดการเผาอ้อยในช่วงเก็บเกี่ยว ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอของบจากรัฐบาลประมาณ 7,000 ล้านบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100%
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ยังได้ติดตามความก้าวหน้าการนำเทคโนโลยีด้านระบบอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เข้ามาใช้ในพื้นที่ปลูกอ้อย 10,000 ไร่ ของบริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด จังหวัดอุดรธานี ซึ่งบริษัททำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) กับ สอน. เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบเผาอ้อยเป็นไปอย่างยั่งยืน เป็นธรรมกับทุก ภาคส่วน และ สอน.ยังนำเทคโนโลยีปัญญา ประดิษฐ์ หรือเอไอ ติดตามและวิเคราะห์คุณภาพผลผลิตตัน ค่าความหวานของอ้อย เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลวางแผนเก็บเกี่ยวช่วงอ้อยมีคุณภาพสูงสุด โดยบริษัท ถือเป็น 1 ใน 10 โรงงานน้ำตาลนำร่องที่เหมาะสม อยู่ในพื้นที่ปลูกอ้อยหนาแน่น มีความพร้อมด้านวิสัยทัศน์ บุคลากร สิ่งสนับสนุนขั้นพื้นฐานต่อการใช้งานระบบ และมีการกระจายตัวของตำแหน่งโรงงานนำร่องทั่วถึง ช่วยให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. บีโอไอไฟเขียว Foxsemicon ยักษ์ใหญ่ไต้หวัน ลงทุน 1 หมื่นล.ตั้งฐานผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2567)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักรผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำของกลุ่ม Foxsemicon Integrated Technology Inc. (FITI) ในเครือของฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) หนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลกจากไต้หวัน และเป็นซัพพลายเออร์สำคัญของบริษัท Applied Materials ผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำระดับโลก โดย Foxsemicon ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมในนามบริษัท ยูนิค อินทิเกรตเต็ด เทคโนโลยี จำกัด มีมูลค่าเงินลงทุนในเฟสแรก 10,500 ล้านบาท ตั้งโรงงาน 2 แห่งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง โดยเป็นโรงงานแห่งที่ 4 ในโลกของกลุ่ม Foxsemicon โดยก่อนหน้านี้มีโรงงานอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Foxsemicon เป็นบริษัทไต้หวันที่เป็นผู้นำในการผลิตอุปกรณ์สำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์แบบครบวงจร มีขีดความสามารถตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักร โดยอาศัยจุดแข็งด้านเทคโนโลยีการผลิตที่มีความแม่นยำสูง และการผสมผสานระหว่างระบบเครื่องกล ระบบไฟฟ้า และระบบอัตโนมัติเข้าด้วยกัน โดยโรงงานในประเทศไทยจะมีการจ้างงานบุคลากรไทยกว่า 1,400 คน เพื่อผลิตอุปกรณ์และโมดูลที่มีความแม่นยำสูงสำหรับเครื่องจักรสำคัญที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (Wafer Fabrication) ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าส่งออกกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี และในระยะเริ่มต้นจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศในสัดส่วนกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งสิ้น โดยจะเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป
ข่าวต่างประเทศ
4. เกาหลีใต้เผยตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้น 123,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2567)
สำนักงานสถิติแห่งชาติของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า จำนวนผู้มีงานทำที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมีจำนวน 28.82 ล้านคน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้น 123,000 คนจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า ตัวเลขจ้างงานของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นมากกว่า 100,000 ตำแหน่ง เป็นครั้งแรกในรอบสามเดือนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 172,000 ตำแหน่ง ตามด้วย 123,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคม และ 144,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน แต่ชะลอลงเหลือ 83,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม ซึ่งการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนพฤศจิกายน มีสาเหตุมาจากการจ้างงานที่ลดลงในภาคส่วนสำคัญ เช่น การค้าส่งและค้าปลีก การก่อสร้างและการผลิต
อย่างไรก็ตาม สำหรับการจ้างงานในภาคก่อสร้างลดลง 96,000 ตำแหน่ง จากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่เจ็ด ส่วนการจ้างงานในภาคค้าส่งและค้าปลีกลดลง 89,000 ตำแหน่ง ซึ่งลดลงเก้าเดือนติดต่อกัน เนื่องมาจากความต้องการภายในประเทศที่ลดลง ขณะที่การจ้างงานในภาคการผลิตลดลงมากที่สุดในรอบ 18 เดือน โดยลดลง 95,000 ราย
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)