ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. กนอ.จับมือมณฑลอานฮุย ผลักดันการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการความร่วมมือไทย-จีน "Two Countries, Twin Parks" ระหว่าง กรมพาณิชย์ มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายหยาง เปิ่นชิง รองอธิบดีกรมพาณิชย์ มณฑลอานฮุย กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทั้งนี้ ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจทั้งสองประเทศมีความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่น การผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันมีนักลงทุนจีนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในนิคมอุตสาหกรรมของไทยแล้ว แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ในการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือทวิภาคี ซึ่งการลงนามครั้งนี้มุ่งหวังสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ส่งเสริมการค้าการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม พัฒนาแพลตฟอร์มการลงทุนและการค้าสองทาง ร่วมมือวิจัยพัฒนาและผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เช่น พลังงานใหม่, วัตถุดิบใหม่, อาหารปลอดภัย) เปิดระเบียงการค้าระหว่างประเทศ โดยพร้อมอำนวยความสะดวกทางศุลกากร และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนจีน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า โครงการความร่วมมือไทย-จีน "Two Countries, Twin Parks" เป็นการสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทย-จีน ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiatives : BRI หรือ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" โดยมุ่งเน้นสร้างแพลตฟอร์มการลงทุน การค้า และการให้บริการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน มั่นใจว่า MOU ฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการชักจูงนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของไทยเพิ่มขึ้น
นายวันชัย พนมชัย
เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
2. คุมลวดชุบแข็ง-เหล็กแผ่นเคลือบ สมอ.ติวเอกชนก่อนบังคับใช้ปี 68 (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2567)
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ได้รับมอบนโยบายจาก นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ออกมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กไทยแบบครอบคลุม และสนับสนุนการใช้มาตรการตอบโต้และปกป้องทางการค้า ดังนั้น จะเพิ่มความเข้มข้นในการยกระดับการควบคุมสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในปี 2567-2568 จะประกาศเพิ่มอีก 58 มาตรฐาน จากปัจจุบัน 144 มาตรฐาน และที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ อีก 4 มาตรฐาน ได้แก่ ลวดชุบแข็ง และอบคืนตัวสำหรับคอนกรีต อัดแรง และเหล็กแผ่นเคลือบอีก 3 มาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ลวดชุบแข็งและอบคืนตัวสำหรับคอนกรีตอัดแรงใช้ในโครงสร้างอาคารหรือสะพาน บังคับใช้วันที่ 12 มีนาคม 2568, เหล็กแผ่นเคลือบ ในอุตสาหกรรมบังคับใช้ 3 มาตรฐาน ได้แก่ เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีทางไฟฟ้า หรือเหล็ก EG เริ่มวันที่ 12 มีนาคม 2568 เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธี จุ่มร้อน หรือเหล็ก GI และเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน หรือเหล็กอลูซิงค์ บังคับใช้วันที่ 10 มิถุนายน 2568 โดย สมอ.จะให้ผู้ประกอบการในกระบวนการยื่นขออนุญาตวันที่ 3-4 ธันวาคม 2567 นี้
นายธนวรรธน์ พลวิชัย
ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
3. ดัชนี CPI ขยับขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ประชาชนยังวิตกเรื่องรายได้-หวั่นตกงาน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2567)
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 อยู่ในระดับ 56.9 เพิ่มจาก 56.00 ในเดือนตุลาคม ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือและภาคอีสาน คลี่คลายลง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 50.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ในระดับ 54.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต 66.1 แต่ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลปัญหาการเมืองในประเทศ และค่าครองชีพแพง ปัญหาเศรษฐกิจโลก มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 39.6 เป็น 40.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 64.0 มาอยู่ที่ระดับ 64.9 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือนทุกรายการ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในอนาคตได้ หากรัฐบาลขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่องและไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติมทั้งความเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนให้เห็นว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและจะทยอยปรับตัวดีขึ้นตามสัญญาณเศรษฐกิจที่ควรจะเป็นแต่ยังไม่ถึงกับฟื้นตัวเต็ม ซึ่งผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ข่าวต่างประเทศ
ฃ4. ญี่ปุ่นเผยความเชื่อมั่นผู้ผลิตรายใหญ่ฟื้นตัวในไตรมาส 4/2567 (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2567)
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ (ทังกัน) ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 14 ในไตรมาส 4/2567 จากระดับ 13 ในไตรมาส 3/2567 โดยดัชนีทังกันปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบสองไตรมาส ทั้งนี้ ดัชนีทังกันซึ่งเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่นของบริษัทต่างๆ ในภาคการผลิต เช่น บริษัทในอุตสาหกรรมรถยนต์และบริษัทเทคโนโลยีนั้น อยู่ในระดับสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวเกียวโดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 12 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัทนอกภาคการผลิตซึ่งรวมถึงภาคบริการนั้น ปรับตัวลงแตะระดับ 33 ในไตรมาส 4 จากระดับ 34 ในไตรมาส 3 โดยผลสำรวจของ BOJ ยังระบุด้วยว่า บริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.4% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 3 เดือนก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้านั้น ดัชนี CPI จะเพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเพิ่มขึ้น 2.2% ในอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)