ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. "เอกนัฏ" ยัน พัฒนาอีอีซี ค่ายรถญี่ปุ่น ยึดไทยฐานผลิต (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการหาพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อรองรับการลงทุน โดยมองว่าเป็นโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมไทย เป็นช่วงจังหวะที่ดีที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการฟืนภาคอุตสาหกรรม ดันจีดีพีให้โตอย่างน้อย 1% ให้ได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ตนมอบให้กับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องทำงานควบคู่ไปกระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือ อีอีซี สำหรับเรื่องของที่ดินต้องดูที่ที่เหมาะสม ซึ่งหากไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่อีอีซี ทำอย่างไรให้ที่ดินที่อีอีซี มีพื้นที่สำหรับสร้างโรงงานใหม่ๆ ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป พบว่า มีข้อจำกัดในเรื่องผังเมือง ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะมีการแก้ปัญหาด้วยการร่างผังการนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมาเอง เพื่อไปต่อรองกับกระทรวงมหาดไทย และอีอีซี เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการขยายตัวของกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอย่างเหมาะสม เพราะถือเป็นจุดสำคัญ เป็นโอกาสสำคัญของประเทศ ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ เพื่อรองรับโอกาสตรงนี้ ก็จะไม่มีใครสนใจเข้ามาลงทุน และหากผลักดันเรื่องนี้ จะมีส่วนทำให้ภาคอุตสาหกรมีส่วนขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศโต 1% โดยที่ไม่ใช้เงินงบประมาณ แต่ใช้เงินจากบริษัทต่างชาติ และการติดขัดในเรื่องการออกใบอนุญาตให้มีการประกอบการ ซึ่งตนได้แก้ปัญหาให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เป็น one stop service เป็นจุดเชื่อมต่อกับส่วนราชการอื่นทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม พร้อมกันนี้ ได้มีการเดินสายไปพูดคุยกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นทุกค่าย ได้รับข่าวดีว่า หลายค่ายยืนยันว่า จะรักษาฐานการผลิตในไทย และจะมีการลงทุนเพื่อสร้างฐานและอัพเกรดฐานการผลิตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ และเมื่อกลับมาตนก็ไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยตนเอง เพื่อที่จะดูเรื่องโครงสร้างภาษีสรรพสามิต สิทธิประโยชน์ที่จะได้ใหม่ ต่อไปก็ดึงให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยกำหนดเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ถูกส่งต่อมายังธุรกิจคนไทย มาซื้อชิ้นส่วนของคนไทย รักษาการผลิตไว้ในประเทศ และมีการจ้างงาน และส่งต่อเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้วย และพร้อมทำงานกับทุกกระทรวง
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
2. บีโอไอเปิดโรงงานผลิต PCB หมื่นล. (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2567)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมพิธีเปิดโรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board : PCB) ของบริษัท คอมเปค (ประเทศไทย) จำกัด ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (สุวรรณภูมิ) จังหวัดสมุทรปราการ ว่าบริษัท คอมเปค เป็นผู้ผลิต PCB อันดับ 5 ของโลกจากไต้หวัน ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเมื่อเดือนธ.ค.2566 ได้ก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่บนพื้นที่ 112 ไร่ เงินลงทุนในเฟสแรก 10,417 ล้านบาท โดยจะเริ่มเดินเครื่องผลิตในประเทศไทยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 เป็นต้นไป มีการจ้างงานบุคลากรไทยทันทีประมาณ 600 คน และจะขยายการจ้างงานถึงกว่า 1,500 คนในปีหน้า มีผลิตภัณฑ์หลักคือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิด Multilayer Printed Circuit Board ซึ่งสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้สูงสุดถึง 34 ชั้นในแผงวงจรเดียว ทำให้สามารถสร้างระบบที่มีความซับซ้อนและเสถียรภาพ (Reliability) สูง สำหรับใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการประสิทธิภาพสูงหรือมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก เช่น ระบบสื่อสารและดาวเทียม รถยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ สมาร์ตโฟน และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกถึงกว่า 90% คิดเป็นมูลค่าส่งออกกว่า 6,600 ล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2566 – พฤศจิกายน 2567) มีผู้ผลิตในอุตสาหกรรม PCB ระดับโลกได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยมีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 107 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 173,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ มาจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น โดยมีแผนเดินเครื่องการผลิตตั้งแต่ปลายปีนี้ ต่อเนื่องถึงปีหน้า ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิต PCB อันดับ 1 ในอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล
ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้)
3. 4 ปัจจัยพาไทยไปต่ออีก 5 ปี เชื่อ 'ทรัมป์' โอกาสของไทย (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2567)
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยในงานสัมมนา โค้งสุดท้ายลงทุน ThaiESG ว่า 4 เครื่องยนต์ ที่นำไปสู่โอกาสระยะยาวของไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า คือ 1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ฟื้นต่อเนื่องและทำให้เกิดการลงทุนด้วยความสบายใจหลังจากเงินเฟ้อเข้าสู่ภาวะปกติและมีการลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ปี ทำให้ภาคส่งออกดีขึ้น 2. การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่เชื่อว่าปีนี้เข้ามาทั้งหมด 40 ล้านคน แม้จีนจะยังไม่กลับมาเท่าเดิมแต่มีอินเดียและรัสเซีย ตะวันออกกลาง ที่เพิ่มเข้ามาทำให้เห็นว่าท่องเที่ยวไทยไม่ได้พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่ง 3. การลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเห็นได้จากตัวเลขสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่า 9 เดือนปีนี้มีการลงทุนในไทยกว่า 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% โดยที่ประมาณ 450,000 ล้านบาทเป็นโครงการของต่างชาติ ทั้งการลงทุนด้านอีวี ดาต้าเซ็นเตอร์ และอื่นๆ ซื้อเมื่อบริษัทแม่เข้ามาลงทุน ก็มีโอกาสที่บริษัทลูกจะตามเข้ามา และ 4. ตลาดในเอเชียและอาเซียนจะเป็นตลาดการค้าในอนาคตที่ตลาดใหญ่ครึ่งหนึ่งของทั่วโลกหลังจากหลายๆ ประเทศมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จทั้งหมด ทั้งนี้ อาเซียนจะเป็นเป้าหมายของการลงทุนที่ดีที่สุดและยิ่งทรัมป์เข้ามาจะดีกับไทยและเป็นโอกาสแม้จะได้รับผลกระทบจากกำแพงแต่บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ผู้ผลิตอเมริกาไม่สามารถขยายกำลังการผลิตทดแทนความต้องการได้ ซึ่งส่งผลดีกับไทยเพราะสินค้าจีนแพงขึ้น 60% แต่ของไทยแพงขึ้นเพียง 20% ซึ่งถูกกว่า และจะไม่เกิดสงครามการเมืองระหว่างประเทศ ฉะนั้นแสงสว่างของไทยปีหน้าคือท่องเที่ยว ส่งออก ปีถัดไปมาจากการลงทุนของเงินทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ในปี 2567 เป็นปีที่ดีของการลงทุน จากปัจจัยดอกเบี้ยขาลงและจากตัวเลขกว่า 700 กองทุนที่มีทั้งหมด พบมากกว่า 80% เป็นบวก และมากกว่า 30% ของกองทุนทั้งหมดมีการเติบโตมากกว่า 10% และตลาดหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 70% เป็นบวกเช่นกัน อีกทั้งปี 68 ถือเป็น ปีที่ 2 ของดอกเบี้ยขาลง ที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจไทย และภาพตลาดหุ้นไทยเชื่อว่าเงินจะเข้ามาในไทยอีเอสจีค่อนข้างมากยังเป็นปีที่ดีของตราสารหนี้และดีกว่าเงินฝาก
ข่าวต่างประเทศ
4. ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการสหรัฐพุ่งสูงสุดรอบ 33 เดือนในธ.ค. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2567)
เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.6 ในเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 33 เดือน จากระดับ 54.9 ในเดือนพฤศจิกายน โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะหดตัว ทั้งนี้ คำสั่งซื้อใหม่ดีดตัวขึ้น และการจ้างงานปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ขณะที่ภาคธุรกิจเพิ่มความเชื่อมั่นรับคาดการณ์นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะเอื้อต่อภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม สำหรับดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 48.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด ในรอบ 3 เดือน จากระดับ 49.7 ในเดือนพฤศจิกายน โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะหดตัว ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 38 เดือน จากระดับ 56.1 ในเดือนพฤศจิกายน โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการยังคงมีการขยายตัว
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)