ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. เขตนวัตกรรมมูลค่าสูงยกระดับการแข่งขันประเทศ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมหารือกับ นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย และเลขานุการกฎบัตรไทย และคณะผู้บริหาร เกี่ยวกับการร่วมผลักดันแผนพัฒนา "เขตนวัตกรรมมูลค่าสูง" ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจนวัตกรรมและสร้าง ขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ เขตนวัตกรรมมูลค่าสูงเป็นแนวทางสำคัญที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจ ยังช่วยกระจายโอกาสให้กับพื้นที่ต่างๆ ในการดึงดูดการลงทุนและพัฒนาศักยภาพของชุมชนในระดับพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาเขตนวัตกรรมมูลค่าสูงต้องอาศัยการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมสนับสนุนในทุกมิติ ทั้งการออกแบบนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน เช่น การลดหย่อนภาษี การสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนา และการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ กระทรวงจะผลักดันให้โครงการเขตนวัตกรรมมูลค่าสูงกลายเป็นโครงการนำร่องที่สามารถแสดงศักยภาพและเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศได้ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการหารือในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการกำหนดทิศทางของประเทศในการพัฒนานวัตกรรมให้เป็นแกนหลักของเศรษฐกิจอนาคต โดยกระทรวงจะนำข้อเสนอนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาและผลักดัน แผนพัฒนา "เขตนวัตกรรมมูลค่าสูง" เพื่อให้เป็นนโยบายระดับชาติที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในเวทีโลกได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับการหารือครั้งนี้ได้มีการเสนอแนวทางการพัฒนา 6 กลุ่มยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมอาหารมูลค่าสูง อุตสาหกรรมยาและสมุนไพร บริการสุขภาพ และอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ โดยเน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาเพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ครบวงจร โดยแผนพัฒนานี้ยังมุ่งสร้างความเชื่อมโยงกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยระยะสั้นจะเน้นการวางโครงสร้างพื้นฐาน ระยะกลางขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการลงทุน และระยะยาวจะพัฒนาเขตนวัตกรรมให้เป็นต้นแบบระดับประเทศที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมครบวงจร โดยการหารือครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในการผลักดันเขตนวัตกรรมมูลค่าสูงให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมสร้างโอกาสให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
2. 'พิชัย' เดินสายบรรยายสร้างความเชื่อมั่นนักธุรกิจญี่ปุ่น (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2567)
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ให้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ บรรยายหัวข้อ "การเมืองและเศรษฐกิจไทย ในศตวรรษที่ 21 และนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน" หรือ "Thai Politics and Economy in the 21st Century and the Policy Direction of the Current Government" โดยมีนักลงทุน สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการค้า การลงทุน นักวิชาการ นักศึกษาญี่ปุ่น และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟัง ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว (Komaba Research Campus) ประเทศญี่ปุ่น โดยไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันมากว่า 600 ปี และความสัมพันธ์ทางการทูตถึง 137 ปี ที่ประเทศไทยพัฒนาได้ทุกวันนี้ก็เพราะนักลงทุนญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทย ตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 นักลงทุนญี่ปุ่นหายไป แต่พอเรามีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ การลงทุนญี่ปุ่นก็เริ่มกลับมาใหม่ ซึ่งการมาประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ต้องการให้กระแสการลงทุนจากญี่ปุ่นมาไทยโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวันก่อนได้ร่วมประชุม "ASEAN-Japan Economic Co-Creation Forum 2024" ตามคำเชิญของ Mr. MUTO Yoji (นายมูโตะ โยจิ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น พร้อมรัฐมนตรีของเวียดนามและเลขาธิการอาเซียน ได้มีโอกาสเจอนักลงทุนรายใหญ่ ของญี่ปุ่น 10 กว่าราย ทั้ง GS Yuasa International, Extrabold Corporation, Hitachi, Scheme Verge, SIIX, Mitsubishi Electric Corporation และ Softbank เป็นต้น รวมถึง JETRO, JICA, แบงก์กรุงเทพในญี่ปุ่น สำนักงาน BOI โตเกียว และ เจโทร ไจก้า ชวนให้มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับการยืนยันว่าจะมาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตแค่ 1.9% ซึ่งต่ำมากส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนจากต่างประเทศที่หายไป แต่ปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไตรมาสที่แล้ว จีดีพีขยายตัว 3% และไตรมาสนี้น่าจะขยายตัวได้ 4% แต่จีดีพีไทยต้องโตอย่างน้อย 5% ขึ้นไป ต่อเนื่องไปอีก 20 ปี ถึงจะหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง และการส่งออกไทยเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บวกถึง 14.6% คาดว่า การส่งออกทั้งปีของปีนี้จะเติบโตได้ถึง 5% และการลงทุนในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมาสูงที่สุดในรอบ 10 ปี สิ้นปีนี้น่าจะแตะ 1 ล้านล้านบาท เพราะรัฐบาลไทย มีนโยบายส่งเสริมในอุตสาหกรรมไฮเทค ที่ไทยได้รับความสนใจมากอย่าง PCB Data Center และ AI ซึ่งญี่ปุ่นกำลังจะมีการลงทุนเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของญี่ปุ่นในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยจะทุ่มงบประมาณกว่า 10 ล้านล้านเยน (2.2 ล้านล้านบาท) และไทยหวังว่า จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชนของญี่ปุ่นด้วย
นางดวงดาว ขาวเจริญ
รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม)
3. "ดีพร้อม" ยกระดับเกษตรกร (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2567)
นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) เปิดเผยว่า ในปี 2568 ดีพร้อมได้จัดทำโครงการการยกระดับภาคการเกษตรของไทยสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจรมูลค่าสูง (Agro Solutions) เพื่อยกระดับผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืชเศรษฐกิจให้มีความโดดเด่นและตอบโจทย์กับการบริโภค ทั้งนี้ แผนดังกล่าว ดีพร้อมจะนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาการเกษตรให้เป็น Smart Farmer (นักธุรกิจเกษตรสมัยใหม่)โดยมีการกำหนดรูปแบบแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Valueadded) ให้แก่ผลผลิตการเกษตรผ่านการแนะนำการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำมาช่วยแก้ปัญหาการทำเกษตรอย่างถูกต้อง และสร้างมาตรฐานการผลิตและแปรรูปสินค้าทางการเกษตร โดยจะสร้างตลาดใหม่เป็นศูนย์รวมการกระจายสินค้าทางการเกษตรและสร้างธุรกิจใหม่จากการเกษตร เช่น การนำของเสียจากธุรกิจเกษตรหนึ่งไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอีกธุรกิจการเกษตรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบเกษตรกรรมเดิมไปสู่เกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ทั้งนี้ ล่าสุด ดีพร้อมได้ดำเนินการกับพืชเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และ โดยเฉพาะโกโก้ ที่ถือเป็นพืชครบวงจรที่สร้างคุณค่าในทุกด้านตั้งแต่ต้นน้ำที่เริ่มจากการปลูกการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมไปสู่กลางน้ำที่เปลี่ยนผลผลิตดิบให้กลายเป็นวัตถุดิบคุณภาพผ่านกระบวนการหมักตากแห้ง และการคั่วอย่างประณีตจนถึงปลายน้ำที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย อาทิ ช็อกโกแลตระดับพรีเมียมผงโกโก้เข้มข้น หรือผลิตภัณฑ์ความงามที่เต็มไปด้วยคุณค่าแห่งธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันโกโก้ยังมีคุณสมบัติที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารที่เป็นทางเลือกใหม่ของพฤติกรรมผู้บริโภคที่รักสุขภาพโดยดีพร้อมได้วางแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมโกโก้ ในระยะ 3 ปี (ปี2567-2569) มีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตในแต่ละภูมิภาคเพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโกโก้ในอาเซียน คาดว่า จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ 8,000 ล้านบาท
ข่าวต่างประเทศ
4. สื่อญี่ปุ่นเผย "ฮอนด้า-นิสสัน" เตรียมประกาศเริ่มเจรจาควบรวมกิจการในวันนี้ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2567)
สำนักข่าว จิจิ เพรส (Jiji Press) ของญี่ปุ่น เปิดเผยรายงานว่า บริษัทฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) และนิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) เตรียมประกาศการเริ่มเจรจาควบรวมกิจการในวันนี้ โดยบริษัทผลิตรถยนต์ทั้งสองแห่งพยายามหาทางอยู่รอดท่ามกลางภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยในรายงานระบุว่า ฮอนด้าและนิสสันจะจัดประชุมคณะกรรมการบริหารในวันนี้ เกี่ยวกับการเจรจาควบรวมกิจการ และจากนั้นจะมีการแถลงข่าวร่วมกัน โดยคาดว่าบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (Mitsubishi Motors) ซึ่งเป็นพันธมิตรของนิสสัน จะเข้าร่วมการประชุมด้วย สำหรับการควบรวมกิจการระหว่างฮอนด้า นิสสัน และมิตซูบิชิ จะสร้างกลุ่มบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกเมื่อพิจารณาจากยอดขาย รองจากโตโยต้า (Toyota) และโฟล์คสวาเกน (Volkswagen) รวมทั้งจะเป็นการทำข้อตกลงที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การก่อตั้งบริษัทสเตลแลนทิส (Stellantis) ในปี 2564
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์นิกเกอิรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ฮอนด้าและนิสสันกำลังเจรจา เพื่อควบรวมกิจการกัน ซึ่งจะส่งผลให้มีการจัดตั้งบริษัทรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกเมื่อพิจารณาในแง่ของปริมาณการผลิตรถยนต์ ท่ามกลางการแข่งขันที่เป็นไปอย่างดุเดือดในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่ครองตลาดโดยบริษัทคู่แข่งในต่างประเทศ ซึ่งแหล่งข่าวเปิดเผยกับนิกเกอิว่า ฮอนด้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสอง และนิสสัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสามของญี่ปุ่น กำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งบริษัทโฮลดิง โดยมีเป้าหมายที่จะผนึกกำลังเป็นพันธมิตรด้านการผลิตรถยนต์เพื่อท้าชนกับบริษัทเทสลา (Tesla Inc) ของสหรัฐฯ และบริษัทผลิตรถ EV ของจีน เช่น บีวายดี (BYD)
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)