ข่าวประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2567

ข่าวในประเทศ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

1. ซอฟต์พาวเวอร์ไทยบุกญี่ปุ่น (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2567)

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการโปรโมตซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ณ Daikanyama T-Site กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ว่าได้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือและบันทึกความเข้าใจจำนวน 3 กิจกรรมประกอบด้วย 1. บันทึกความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ กับบริษัท MIARAWASHIYA LLC ในการเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่านมังงะ (การ์ตูน) ญี่ปุ่น 2. บันทึกความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับบริษัท KENELEPHANT Co.,Ltd. ในการจำหน่ายและเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์ผ่านตู้กาชาปอง (ไข่หยอดเหรียญ) และบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (SACIT) กับบริษัท OMITA ในการใช้ผ้าไทยภายใต้โครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ผลิตกิโมโนจำหน่ายทั่วญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม การลงนามดังกล่าวจะช่วยเชื่อมโยงวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่นเข้ากับไทย โดยจะมีสินค้าไทยเข้าไปอยู่ในกาชาปองของญี่ปุ่น 5 รายการ ได้แก่ น้องมะม่วง เบียร์ช้าง มาม่า เงาะกระป๋อง และรถไฟไทย สอดแทรกความเป็นไทยเข้าไปในการ์ตูนมังงะ และใช้ผ้าไทยมาทำชุดกิโมโนของญี่ปุ่น ช่วยสร้างการรับรู้สินค้าและวัฒนธรรมไทย นอกจากนี้การเดินทางมาญี่ปุ่นครั้งนี้ยังได้ประชาสัมพันธ์ยกระดับภาพลักษณ์แบรนด์สินค้าและบริการไทย (Think Thailand-Next Level) ณ ห้าแยกชิบูยา

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

 

2. 11 เดือนตั้งบริษัทใหม่เพิ่ม 2% ต่างชาติ 884 ราย เม็ดเงินลงทุน 2 แสนล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2567)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนพฤศจิกายน 2567 จำนวน 6,266 ราย เพิ่มขึ้น 287 ราย (4.80%) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และทุนจดทะเบียน 24,219.88 ล้านบาท ลดลง 1,053 ล้านบาท (4.17%) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 25,273 ล้านบาท ธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ส่วนการจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 11 เดือนของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีจำนวน 83,219 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (81,291 ราย) เพิ่มขึ้น 1,928 ราย (2.37%) ทุนจดทะเบียน 262,850 ล้านบาท ลดลง 284,006 ล้านบาท (51.93%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (546,856 ล้านบาท) และช่วง 11 เดือนที่ผ่านมามีการจัดตั้งธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 14 ราย เช่น กิจการค้าส่งและค้าปลีก จำหน่ายแว่นตาและอุปกรณ์ และกิจการ Data Center สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ 11 เดือน มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 884 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 202 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 682 ราย เงินลงทุนรวม ทั้งสิ้น 213,964 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,671 คน มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 281 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 161 ราย (134%) โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม (สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์) ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบส่วนประกอบและชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐานธุรกิจบริการชุบแข็ง ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนพลาสติก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจเชิงลึกมาทำการวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่งและธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัว โดยได้นำข้อมูลด้านการจดทะเบียนธุรกิจ เช่น จำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ผลประกอบการ (กำไร-ขาดทุน) การเลิกประกอบกิจการ รวมทั้ง ปัจจัยแวดล้อม อื่นๆ เช่น แนวโน้มธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ สถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และการแข่งขันของธุรกิจ ซึ่ง 5 ธุรกิจดาวรุ่ง ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกาย 2. กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและความบันเทิง 3. กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 4. กลุ่มธุรกิจ e-Commerce 5. กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ และ 5 ธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัว ได้แก่ 1. ธุรกิจการผลิตเหล็ก โลหะมีค่า และอัญมณี 2. ธุรกิจร้านค้าส่งค้าปลีกแบบออฟไลน์ (ร้านค้าโชห่วย) 3. ธุรกิจสื่อและการประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์ 4. ธุรกิจแปรรูปสินค้าทางการเกษตร 5. ธุรกิจตัวแทนและนายหน้า

 

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ

 

3. ทีเส็บเดินแผนเชิงรุกปี 68 หวังนักเดินทางไมซ์ทะลุ 34 ล้านคน (ที่มา:  แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2567)

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า สถานการณ์โดยรวมขณะนี้ถือได้ว่าเป็นขาขึ้นของการเดินทางระหว่างประเทศที่กำลังฟื้นตัวหลังจากโควิด-19 ซึ่งผลการดำเนินงานของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยปี 2567 พบว่ามีนักเดินทางไมซ์นานาชาติเข้าสู่ไทยเพิ่มขึ้น 41.89% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2566 เป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของเที่ยวบิน แนวโน้มการฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก มาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติของภาครัฐ สำหรับผลการดำเนินงานอุตสาหกรรมไมซ์ในปีงบประมาณ 2567 มีจำนวนนักเดินทางไมซ์ 25,350,288 คน เพิ่มขึ้น 43.47% จากปีงบประมาณ 2566 โดยเป็น             นักเดินทางไมซ์ภายในประเทศ 24,189,719 คน และนัก เดินทางไมซ์นานาชาติ 1,160,569 คน สร้างรายได้ให้ประเทศ รวมมูลค่า 148,341 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.27% จากปีงบประมาณ 2566 แบ่งเป็นรายได้จากนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 78,747 ล้านบาท และนักเดินทางไมซ์นานาชาติ 69,594 ล้านบาท ทั้งนี้ ปี 2568 ทีเส็บยังเดินหน้าทำการตลาดไมซ์เชิงรุกตามนโยบายรัฐบาล โดยแนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ได้แก่ การพัฒนาตำแหน่งของแบรนด์ไทย ในฐานะการเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานไมซ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง (High Value-AddedMICE Destination) โดยสอดแทรก Soft Power ในการยกระดับประสบการณ์ให้กลุ่มนักเดินทางไมซ์ มุ่งใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ เพิ่มการสร้างภาคีเครือข่ายกับ ผู้ประกอบการเพื่อสร้างเสถียรภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผลักดัน ไทยสู่จุดหมายปลายทางของการจัดงานอย่างยั่งยืน และมุ่งดึงงานขนาดใหญ่ที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวกที่วัดผลได้จริง รวมทั้งพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) อุตสาหกรรมไมซ์ที่ช่วยผลักดันทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันแบบไร้รอยต่อ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 ไทยจะได้เป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติขนาดใหญ่หลายงาน ซึ่งการได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพงานระดับโลกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเจ้าภาพ และสนับสนุนการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยอีกด้วย โดยตั้งเป้าหมายปีงบประมาณ 2568 ไทยจะมีนักเดินทางไมซ์รวม 34 ล้านคน ทำรายได้ 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 1.4 ล้านคน รายได้ 9.2 หมื่นล้านบาท และตลาดในประเทศ 32.6 ล้านคน รายได้ 1.08 แสนล้านบาท

 

ข่าวต่างประเทศ 

 

4. รัฐบาลเวียดนามวอนทุกฝ่ายร่วมมือผลักดัน GDP ปี 68 โตทะลุ 8% (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2567)

หนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์ (VNA) เปิดเผยรายงานว่า รัฐบาลเวียดนามเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อบรรลุอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มากกว่า 8% ในปี 2568 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐสภาตั้งไว้ที่ 6.5% โดยฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค การควบคุมเงินเฟ้อ และการรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยกล่าวว่า กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์จะต้องพยายามเพื่อให้บรรลุอัตราการเติบโตที่ราว 8% - 10% ทั้งนี้ จะมีการเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อรัฐบาลภายในไตรมาสแรกของปีหน้า นอกจากนี้ เวียดนามจะออกมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า GDP ของเวียดนามจะขยายตัว 6.5% ในปี 2568 ในขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าจะเติบโต 6.6

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)