ข่าวประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a desk writing on papers

Description automatically generated

นายณัฐพล รังสิตพล

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. อุตฯ ผนึกกำลัง 8 หน่วยงาน เสริมเงินทุนหนุนฮาลาลไทยส่งออก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2567)

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหารและการบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีรสชาติตามความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดมุสลิมที่มีประชากรจำนวนมากและมีแนวโน้มการบริโภคที่สูงขึ้นจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับปรุงและพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน ผ่านกระบวนการตรวจการรับรองฮาลาล รวมทั้งการบริการที่ต้องมีกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม และสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลตามมติคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ครั้งที่ 1/2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ ผ่านกิจกรรม "เรียนแล้ว รับรองได้ลงทุนง่าย ขายส่งออกเป็น" ภายใต้แนวคิดสานพลังแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ ในการสานพลังแหล่งเงินทุนจะประกอบด้วย 8 หน่วยงานประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมไปถึงการพัฒนาและส่งเสริมการทดสอบ และ การรับรองมาตรฐานฮาลาล โดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศให้มีศักยภาพ สามารถเติบโต และแข่งขันสู่สากลได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้แก่ สินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) วงเงิน 1,200 ล้านบาท และ สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ (คงกระพัน) วงเงิน 700 ล้านบาท และจะมีโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลวงเงิน 7 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือ ดีพร้อม (DIPROM) กล่าวว่า กรมฯ ได้สนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลผ่านการปรับปรุงและพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน เชื่อมโยงเครือข่ายแหล่งเงินทุน เสริมแกร่งด้วยหน่วยงานส่งเสริมความรู้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ฮาลาลไทยทั่วประเทศให้เติบโตในตลาดสากลอย่างยั่งยืน กรมฯ มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย (DIPROM Pay) เป็นต้น

 

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ

กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการกนอ.

 

2. กนอ.คุมเข้ม 71 นิคมฯ 1 ท่าเรือ เฝ้าระวังอุบัติภัยช่วงหยุดฉลองปีใหม่ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2567)

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการกนอ. เปิดเผยว่า กนอ. ได้รับนโยบายจากนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่แสดงความห่วงใยในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเฉลิมฉลอง และอาจมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย กนอ. จึงเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังและป้องกันอุบัติเหตุในทุกพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า พนักงานในนิคมฯ  ทุกคนจะได้ฉลองปีใหม่อย่างมีความสุขและปลอดภัย ทั้งนี้ กนอ. ได้ออกประกาศมาตรการความปลอดภัยรับเทศกาลปีใหม่ 2568 โดยสั่งการให้ 71 นิคมอุตสาหกรรม และ 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ "ฉลองอย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ และไม่ประมาท" เน้นย้ำความสำคัญของการเฝ้าระวัง ป้องกันอุบัติเหตุ และการรับมือเหตุฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตือนผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม เพิ่มความระมัดระวังอัคคีภัยและอุบัติเหตุจากการประกอบกิจการในช่วงฤดูหนาวและเทศกาลเฉลิมฉลอง เนื่องจากสภาพอากาศแห้งและมีการเร่งผลิตก่อนช่วงเทศกาล อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออัคคีภัยและอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น โดยกนอ.ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการดำเนินการ ดังนี้ คือ เพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติงานโดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงพร้อมแนะนำและเผยแพร่คู่มือด้านความปลอดภัย (http://reg3.diw.go.th/safety/คู่มือ) ตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักรตามกำหนด พร้อมให้ความรู้ด้านความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ เตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน ปฏิบัติตามแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันทีเมื่อเกิดเหตุ โดยแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ที่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมฯ หรือศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ศสป.) โทร 02-2072700 ต่อ 10401 ในเวลาราชการ หรือ083-9899565 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับไปยังผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม ให้คุมเข้มสถานประกอบการทุกแห่ง เฝ้าระวังอัคคีภัยช่วงเทศกาลโดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรงงานแป้งมัน โรงงานสิ่งทอ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ โรงงานผลิตกระดาษ โรงงานประกอบกิจการสี/ทินเนอร์ โรงงานทำพลุและดอกไม้เพลิง โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง โรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือประเภทอื่นๆ ขณะเดียวกันให้รณรงค์สร้างความตระหนักด้านความปลอดภัย ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และหากเกิดเหตุฉุกเฉินให้ปฏิบัติตามคำสั่งกนอ. ที่ 285/2565 และประสานงาน ศสป. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

A person sitting in a chair holding a tablet

Description automatically generated

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

 

3. ส่งออกพ.ย.พุ่ง 8.2% บวก 5 เดือนติด ลุ้นทั้งปีทำนิวไฮ 3 แสนล้านเหรียญ (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2567)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนพฤศจายน 2567 มีมูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.2% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 849,069 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 25,832.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.9% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 867,456 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 224.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 18,387.1 ล้านบาท รวม 11 เดือน ของปี 2567 (มกราคม - พฤศจิกายน) การส่งออก มีมูลค่า 275,763.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.1% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 9,695,455 ล้านบาท การนำเข้า มูลค่า 282,033.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.7% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 10,032,550 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 6,269.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 337,096 ล้านบาท สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกสินค้าเกษตร เพิ่ม 4.1% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 7.7% และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 9.5% ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ ตลาดหลัก เพิ่ม 8.3% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 9.5% จีน เพิ่ม 16.9% สหภาพยุโรป (27) เพิ่ม 11.2% CLMV เพิ่ม 21.0% ส่วนญี่ปุ่น ลด 3.7% และอาเซียน (5) ลด 1.5% ตลาดรอง เพิ่ม 7.1% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 18.3% ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 1.0% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 1.7% แอฟริกา เพิ่ม 13.8% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 31.8% และสหราชอาณาจักร เพิ่ม 12.0% ส่วนรัสเซียและกลุ่ม CIS ลด 5.3% และตลาดอื่นๆ เพิ่ม 29.0% ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มการส่งออกในเดือนธันวาคม 2567 คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี หากทำได้ประมาณ 24,300 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมกับยอด 11 เดือนที่ผ่านมา จะทำให้ทั้งปีส่งออกได้สูงถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.2% และจะเป็นตัวเลขส่งออกที่สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกเกิดในปี 2565 ที่ส่งออกได้มูลค่า 287,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น เจาะดูแล้ว พบว่า เป็นการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบประมาณ 70% ซึ่งเป็นการนำเข้ามาเพื่อผลิตและจำหน่ายในประเทศและส่งออกไม่มีอะไรน่ากังวล

อย่างไรก็ตาม สำหรับเป้าส่งออกปี 2568 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชน ทูตพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดเป้าไว้ที่ 2-3% ซึ่งเป็นเป้าที่ท้าทาย ท่ามกลางมาตรการ   กีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ยังไม่รู้ว่าจะออกมาในรูปแบบใด แนวโน้มการค้าโลกที่อาจชะลอตัว ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย ดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน แต่กระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว ทั้งการเดินทางไปหารือกับสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 การเตรียมยุทธศาสตร์ส่งออก 10 มาตรการ ที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลักดันการส่งออกในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่จะช่วยเพิ่มยอดส่งออก การขยายฐานตลาดการค้าใหม่ การผลักดันการเจรจา FTA ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค และการทำงานร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. อิสราเอลโกยเม็ดเงินลงทุนต่างชาติสูงถึง 1.18 หมื่นล้านดอลลาร์ในครึ่ง ปีแรก (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2567)

กระทรวงการคลังอิสราเอล เปิดเผยว่า เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอิสราเอลปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 แม้ว่าอิสราเอลเผชิญกับการทำสงครามกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา รวมทั้งการสู้รบกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนก็ตาม ทั้งนี้ ยอด FDI ในอิสราเอลในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน อยู่ที่ 1.18 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 ที่ระดับ 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านซามูเอล อับรามซัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกระทรวงการคลังอิสราเอล กล่าวว่า ข้อมูลในปี 2567 แสดงให้เห็นว่าอิสราเอลได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจำนวนมาก โดยคาดว่าสถานการณ์ด้านความมั่นคงและสภาพแวดล้อมทางการเมืองในอิสราเอลจะดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุน FDI ให้เพิ่มขึ้นด้วย

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)