ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'เอกนัฏ' ถกซาอุฯ พลิกโฉมอุตสาหกรรมแร่ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 17 มกราคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมเสวนาโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในงาน Future Minerals Forum 2025 (FMF 2025) เพื่อร่วมกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมแร่พลังงานสะอาด พร้อมด้วยรัฐมนตรีและผู้แทนรัฐบาลจากประเทศต่างๆ กว่า 86 ประเทศ ที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 14-16 มกราคมที่ผ่านมา ว่า การจัดประชุมโต๊ะกลม FMF 2025 มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือถึงทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่และโลหะเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำและการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด มีความจำเป็นต้องใช้แร่เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าความต้องการใช้แร่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก (Critical minerals) มีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างน้อย 2 เท่า ในปี 2573 (ค.ศ.2030) ขณะที่ประเทศไทยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเช่นกัน ไทยจึงมีบทบาทในฐานะผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จากแร่ จัดหาแร่ที่ผลิตอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงสร้างกลไกรองรับการหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสิ่งที่ประเทศไทยสนับสนุนและยืนยันมาตลอดคือการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์ โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชนในพื้นที่และการสนับสนุนการพัฒนายั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีเรื่องแร่แห่งอนาคต หรือ Future Minerals Forum 2025 ครั้งที่ 4 ซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพ มีรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจากกว่า 86 ประเทศทั่วโลก อาทิ บราซิล แอฟริกาใต้ คองโก อินเดีย อียิปต์ อิตาลี ไนจีเรีย กาตาร์ ปากีสถาน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน มาเลเซีย ไทย โมร็อกโก อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เข้าร่วม มีการหารือ 3 ด้าน ได้แก่ 1. การพัฒนาแนวทางการทำเหมืองแร่อย่างยั่งยืนของภูมิภาค 2. การสร้างเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) รองรับการดำเนินงานเชิง กลยุทธ์ด้านแร่ และ 3. การสร้างกรอบการพัฒนาด้านแร่กลุ่ม Critical minerals และพัฒนาโซ่มูลค่าในพหุภูมิภาค เพื่อร่วมกำหนดแนวทางดำเนินความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ช่วยให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเกิดขึ้นตามเป้าหมาย
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ
กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.
2. กนอ.เซ็นสัญญาร่วมมือ PIN ตั้งนิคมฯ ปิ่นทอง 8 รับลงทุนอุตฯ เป้าหมาย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 17 มกราคม 2568)
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า กนอ. ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานโครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 8) กับ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค (PIN) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของ กนอ. ในการร่วมมือกันดำเนินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 8) ซึ่งจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของกนอ. โดยเป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตอุตสาหกรรมบนฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพ และความพร้อมของบริษัท ปิ่นทองฯ เชื่อว่า นิคมฯ แห่งนี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน รวมทั้งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินงานร่วมกับ กนอ. มาอย่างยาวนาน ประกอบกับ บริษัทฯ มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมมาหลายโครงการฯ ซึ่งปัจจุบันมีถึง 7 โครงการฯ และโครงการนี้เป็นโครงการที่ 8 เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมสะอาด และรวมถึงอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 8) ตั้งอยู่ในตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พื้นที่ประมาณ 1,101-3-96.3 ไร่ เป็นรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน พัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภคภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ทั้งนี้ เมื่อมีการพัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ภายใต้เงินลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ประมาณ 2,100 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ภายในโครงการมีการออกแบบระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน พร้อมจัดสรรพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่สีเขียวอย่างลงตัว คาดสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2570 ภายหลังเปิดดำเนินโครงการคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ประมาณ 33,400 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 8,350 คน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. BOI เล็งเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจค่ายรถ EV ใช้ชิ้นส่วน SME ไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 17 มกราคม 2568)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้หารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เพื่อส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ ในประเทศให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยการจูงใจให้ใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ ที่ผลิตโดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นคนไทย (ไทยคอนเทนต์) จากเดิมมีเพียงข้อกำหนดการใช้ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ ถ้าต่อไปใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตโดยเอสเอ็มอีคนไทย จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นไปอีก คาดว่าภายใน 2 เดือนนี้จะได้ข้อสรุป ก่อนเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมาก ต้องการเห็นไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ในทุกประเภท ทั้งไอซีอี อีวี ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านเหตุที่เน้นการส่งเสริมอีวี เนื่องจากอีวี ยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย จึงต้องออกมาตรการส่งเสริมออกมาต่อเนื่อง เพราะไทยต้องการเปลี่ยนสถานะจากผู้นำเข้าเป็นผู้ผลิตแทน เพื่อรักษาความเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของโลก จึงต้องออกมาตรการสนับสนุนผูกเงื่อนไข ต้องผลิตในประเทศ ไม่เช่นนั้นไทยจะมีสถานะเป็นเพียงผู้นำเข้า และนำเข้าจากจีน ภาษี 0% ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-จีน ซึ่งปัจจุบันนี้ถือว่า ประสบความสำเร็จที่มีนักลงทุนหลายแบรนด์ หลายประเทศ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม สำหรับนสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมในการสร้างสมดุลทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และอุตสาหกรรม ไอซีอี เป็นการดำเนินการควบคู่กันทั้ง 2 ประเภท ล่าสุดได้หารือร่วมกับส.อ.ท. และสมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อออกมาตรการส่งเสริมให้ใช้ไทยคอนเทนต์ เป็นมาตรการอีกชั้นหนึ่งออนท็อปเพิ่มเติม ตอนนี้กำลังหารือกับส.อ.ท. และสมาคมชิ้นส่วนฯ เพื่อออกแบบกลไกว่ามีวิธีการดูอย่างไร เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคนไทยตัวจริงได้ประโยชน์ เมื่อตกผลึกแล้วจะเสนอบอร์ดพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ จะมีกิจกรรมส่งเสริมการเชื่อมโยงซัพพลายเชนในประเทศต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งทางบีโอไอจะหาแนวทาง หรือมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมที่สุด เพื่อเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และติด 1 ใน 10 ของโลก
ข่าวต่างประเทศ
4. เศรษฐกิจอังกฤษกลับมาขยายตัวได้ 0.1% ในเดือนพ.ย. แต่ยังน่าผิดหวัง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 17 มกราคม 2568)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจอังกฤษเริ่มกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2567 แต่ยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามขจัดความกังวลว่าประเทศกำลังประสบปัญหาเงินเฟ้อสูงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว (Stagflation) โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่หดตัวลง 0.1% ทั้งในเดือนกันยายน และตุลาคม ซึ่งตัวเลขเดือนพฤศจิกายน ต่ำกว่าคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.2% นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจยังคงซบเซากว่าในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนก่อนที่พรรคแรงงานจะเข้ามาบริหารประเทศ ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวยิ่งตอกย้ำความกังวลว่า เศรษฐกิจอังกฤษยังคงเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อสูงควบคู่กับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเศรษฐกิจอังกฤษขยายตัวขึ้นเพียง 2 ครั้งในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่ที่พรรคแรงงานขึ้นเป็นรัฐบาล ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลง 0.2% มาอยู่ที่ 1.2214 ดอลลาร์ หลังการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ONS ระบุว่า เศรษฐกิจจะหยุดนิ่งเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน เว้นเสียแต่ว่า GDP จะเติบโตอย่างน้อย 0.07% ในเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งดูเป็นไปได้ยาก โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตในไตรมาส 4/2567 ลงเหลือ 0%
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)