ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. สมอ.จ่อคุม "ตู้น้ำร้อนน้ำเย็นฯ-แอร์" หลัง ครม. สั่งควบคุมสินค้า 3 รายการ (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 21 มกราคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 เห็นชอบให้สินค้า 3 รายการ ได้แก่ เครื่องทอดน้ำมันท่วม เตาไมโครเวฟ และเครื่องหนีบผม-ยืดผมไฟฟ้า เป็นสินค้าควบคุมตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน เนื่องจากเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประชาชนนิยมใช้ในชีวิตประจำวันกันอย่างแพร่หลาย จึงต้องเข้มงวดให้มีความปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้น เดิมทั้ง 3 รายการ เป็นสินค้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ควบคุมอยู่แล้ว โดยในปีที่ผ่านมา สมอ. ได้ยึดอายัดไดร์เป่าผม และเครื่องหนีบผมที่ไม่ได้มาตรฐาน มูลค่ากว่า 8.2 ล้านบาท ซึ่งการทบทวนแก้ไขมาตรฐานในครั้งนี้ เพื่อให้มีความทันสมัยสอดคล้องตามเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ตลอดจนสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบไทย
อย่างไรก็ตาม นอกจากสินค้า 3 รายการข้างต้นแล้ว ในการประชุม ครม. ครั้งต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอให้ควบคุมสินค้าอีก 2 รายการ คือ ตู้น้ำร้อนน้ำเย็นสำหรับบริโภค และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะตู้น้ำร้อนน้ำเย็นสำหรับบริโภค เป็นที่นิยมนำไปใช้อย่างแพร่หลายภายในโรงเรียน ในอดีตที่ผ่านมาได้เกิดเหตุไฟฟ้าช็อตเด็กๆ เสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องดำเนินการควบคุมอย่างเข้มงวด และในปีนี้จะประกาศมาตรฐานบังคับเพื่อควบคุมสินค้าเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ระบบยึดเหนี่ยว ผู้โดยสารเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้าทำให้ของเหลวร้อน ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร กระดาษสัมผัสอาหาร บันไดเลื่อน และทางเลื่อนอัตโนมัติ เป็นต้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
2. ทวงรัฐเร่งเยียวยาหลังปรับค่าแรง (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 21 มกราคม 2568)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเมื่อเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 90.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 91.4 เนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลง จากการเร่งผลิตในเดือนก่อนหน้าประกอบกับในเดือนธันวาคมมีวันทำงานน้อย และมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่วม และสภาพอากาศแปรปรวนในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงต้นทุนราคาวัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ความต้องการบริโภคในประเทศชะลอลง สะท้อนจากยอดขายสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2567 หดตัว 31.34% ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ผู้ผลิตสินค้าภาคอุตสาหกรรมยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีนเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศและในภูมิภาคอาเซียนทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง ส่งผลให้ภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.5 ลดลงจากครั้งก่อนคาดว่าอยู่ที่ระดับ 96.7
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.จึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ โดยขอให้จัดตั้งวอร์รูมเพื่อเตรียมแนวทางรับมือกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบกับภาคการส่งออก รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการขยายตลาดกับสหรัฐฯ ให้ภาครัฐออกมาตรการเยียวยา สำหรับเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา และเร่งขยายผลความสำเร็จจากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปไปสู่การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป เพื่อขยายโอกาสทางการค้า
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์
3. พณ.ชูปีทองสินค้าเกษตร-บริโภคหอมแดง (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 21 มกราคม 2568)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าหอมแดงของไทยอย่างต่อเนื่อง และหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ตอบรับนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการติดตามเฝ้าระวังช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด เชื่อมโยง และกระจายหอมแดงออกนอกแหล่งผลิต การผลิตหอมแดงของไทย โดยข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปีเพาะปลูก 2566/67 มีปริมาณผลผลิต 148,239 ตัน ลดลงร้อยละ 0.72 จากปีก่อนหน้า แหล่งเพาะปลูกสำคัญ ได้แก่ ศรีสะเกษ (ร้อยละ 51.77 ของผลผลิตทั้งหมด) เชียงใหม่ (ร้อยละ 21.78) อุตรดิตถ์ (ร้อยละ 5.21) พะเยา (ร้อยละ 4.42) และอื่นๆ (ร้อยละ 16.82) สำหรับปีเพาะปลูก 2567/68 คาดการณ์ว่า จะมีผลผลิต 152,221 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69 จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ สถานการณ์การค้าในปี 2566 ไทยส่งออกหอมแดงปริมาณ 15,324 ตัน เป็นมูลค่า 12.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 29.38 จากปีก่อนหน้า โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย (ร้อยละ 48.31 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) เวียดนาม (ร้อยละ 18.28) สิงคโปร์ (ร้อยละ 12.53) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 7.51) และอื่นๆ (ร้อยละ 13.38) สำหรับช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) ไทยส่งออกหอมแดงปริมาณ 14,728 ตัน มูลค่า 12.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 19.59 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม นายพิชัยได้สั่งการให้กรมการค้าภายในดูแลสินค้าเกษตร มุ่งหวังผลักดันราคาให้เป็นปีทองของสินค้าเกษตร ผ่านกลไกการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ในการกำกับดูแลการค้าให้มีประสิทธิภาพ โดยหอมแดงไทยเป็นสินค้าคุณภาพดี เป็นที่รู้จัก มีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมอาหารและยา โดยมีสรรพคุณทางยาที่ใช้ในตำรับยาสมุนไพร อีกทั้งรัฐบาลให้ความสำคัญในฐานะพืชเกษตรเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หอมแดง ยังเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนการผลิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการผลผลิตในช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก การพัฒนาการค้าสินค้าหอมแดง จึงควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและการเก็บรักษาที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน รวมถึงสนับสนุนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าที่สอดรับกับความต้องการของตลาด
ข่าวต่างประเทศ
4. ดัชนีราคาผู้ผลิตเกาหลีใต้ธ.ค. 67 พุ่ง 2 เดือนติด เหตุเงินวอนอ่อน-น้ำมันแพง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 21 มกราคม 2568)
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเกาหลีใต้ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนธันวาคม 2567 ทำสถิติเพิ่มขึ้นรายเดือนสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากเงินวอนที่อ่อนค่าลง และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนี PPI ในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนพฤศจิกายน ที่เพิ่มขึ้น 0.1% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ดัชนี PPI เดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นถึง 1.7% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 แล้ว ซึ่งดัชนี PPI ถือเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญที่สามารถบ่งบอกถึงแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อได้ เพราะราคาที่ผู้ผลิตตั้งนั้นส่งผลโดยตรงต่อราคาขายปลีกที่ผู้บริโภคต้องจ่ายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนี PPI เดือนธันวาคมสูงขึ้นนั้นมาจากราคาสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ และประมงที่เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับความต้องการสินค้าที่มากขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.3% และราคาค่าไฟฟ้า ก๊าซ และสาธารณูปโภคอื่นๆ ก็ปรับตัวสูงขึ้น 0.4% ส่วนราคาในภาคบริการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.1% และอีกปัจจัยสำคัญคือค่าเงินวอนที่อ่อนค่าลงอย่างมาก โดยในเดือนธันวาคม ค่าเงินวอนอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 1,434.42 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐ จาก 1,393.38 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤศจิกายน ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเป็นราคาน้ำมันดิบอ้างอิงของเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 0.9% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 73.23 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนธันวาคม
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)