ข่าวในประเทศ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
1. "พิชัย" หารือทูตญี่ปุ่น ดึงนักลงทุนเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมอนาคตยานยนต์-ดิจิทัล เร่งปิดดีล FTA ขยายตลาดส่งออก (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 22 มกราคม 2568)
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (นายโอตากะ มาซาโตะ) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ณ กระทรวงพาณิชย์ โดยตนรู้สึกดีใจที่นักลงทุนญี่ปุ่นจำนวนมากกลับเข้าสู่ไทย และญี่ปุ่นมีการลงทุนเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ลดการลงทุนในไทยภายหลังการรัฐประหารปี 2557 ไปร่วมทศวรรษ การได้พบกับท่านทูตมาซาโตะเป็นการช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน รวมถึงได้ฝากให้ช่วย ดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นให้ขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ญี่ปุ่นมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ ยานยนต์ยุคใหม่ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ AI ดาต้าเซนเตอร์ ดิจิทัล แผงวงจรพิมพ์ (PCB) การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ทั้งได้สานต่อการเจรจาหลังตนได้เยือนญี่ปุ่นดึงนักลงทุนและหารือกับผู้นำระดับสูงของรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งให้คำมั่นที่จะขยายตลาดการส่งออกผ่าน FTA ในกลุ่มประเทศที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกต่อไป ทั้งนี้ ไทยมุ่งหวังเป็นศูนย์กลางสำหรับการค้าและการลงทุน เป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่ และการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในวันนี้ตนจึงได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติมในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งยานยนต์สันดาปและยานยนต์ยุคใหม่ รวมทั้งอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ญี่ปุ่นมีศักยภาพ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ AI ดาต้าเซนเตอร์ ดิจิทัล แผงวงจรพิมพ์ (PCB)การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังเป็นนักลงทุนต่างชาติกลุ่มแรกที่เข้ามาลงทุนขนาดใหญ่ในไทยและมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานอุตสาหกรรมของไทย
อย่างไรก็ตาม ยังได้มีโอกาสหารือกับ นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และนายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และคณะ เพื่อความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐกับเอกชนให้ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตยานยนต์ของอาเซียน
นางอารดา เฟื่องทอง
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.)
2. คต.แก้ก.ม.ปลดล็อกนำเข้าหิน ขจัดอุปสรรคเพิ่มความสะดวกทางการค้า (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 22 มกราคม 2568)
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการ (ร่าง) ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้หินเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าในการดำเนินธุรกิจตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ในการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้า นอกจากนี้ การยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับ ดังกล่าวยังเป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกรณีความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) และความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) โดยมีผลให้สินค้าหินที่อยู่ในข่ายควบคุม 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) หินอ่อน ทราเวอร์ทิน อีคอสซิน และหินอื่นๆ พิกัดศุลกากร 25.15 ยกเว้นหินอ่อนก้อนเหลี่ยมพิกัดศุลกากร 2515.12.10 ที่มีรูปทรงมิติเป็นแท่งตันขนาดด้านกว้าง ยาว และสูง ตั้งแต่ด้านละ 50 เซนติเมตรขึ้นไป 2) หินอ่อน ทราเวอร์ทิน และอะลาบาสเตอร์ ตามพิกัดศุลกากร 6802.21.00 3) หินแกรนิต ตามพิกัดศุลกากร 6802.23.00 และ 4) หินอื่นๆ ตามพิกัดศุลกากร 6802.29.10 และ 6802.29.90 ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากกระทรวงพาณิชย์อีกต่อไป ทั้งนี้ เป็นไปตามมติที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพยากรธรณี กรมศุลกากร กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมหินอ่อนและแกรนิตไทย และสภาการเหมืองแร่ โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าวจะเป็นการลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการให้ได้รับความสะดวกทางการค้า ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรเตรียมความพร้อมรองรับการแข่งขันที่จะมีมากขึ้นในอนาคตด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ ประชาชน และผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่กองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป กรมการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 02-5475124 หรือสายด่วน DFT 1385
นายสนั่น อังอุบลกุล
ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และหอการค้าไทย
3. แนะดึงเอกชนร่วมเจรจา รับมือผลกระทบส่งออกจาก 'ทรัมป์ 2.0' (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 22 มกราคม 2568)
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และหอการค้าไทย เปิดเผยถึงนโยบายทรัมป์ 2.0 ว่า ทั้งรัฐบาลและธุรกิจเอกชนไทย ทราบดีถึงนโยบายการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อครั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ที่นำนโยบาย "America First" เน้นการปกป้องอุตสาหกรรมภายในของสหรัฐฯ และช่วงการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่สอง ยังมีการประกาศนโยบายและมาตรการที่ชัดเจน ซึ่งช่วงที่ผ่านมา มีการประเมินความเสี่ยงและได้หารือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนกันแล้วในเบื้องต้น ทั้งนี้ มองว่านโยบายของ ทรัมป์ 2.0 จะมีทั้งผลบวกและลบที่จะเกิดขึ้นในไทย แต่ก็ยังมองว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลที่ชัดเจน โดยเบื้องต้น จะเกิดการย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีน เพื่อต้องการหาตลาดทดแทนในการส่งออก ซึ่งประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์ดังกล่าว อาทิ การเข้ามาตีตลาดรถไฟฟ้าของจีน เป็นต้น ขณะที่ผลกระทบอีกด้านในรูปแบบของกำลังซื้อที่เกิดจากนโยบายการขึ้นกำแพงภาษี ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าทรัมป์จะมีการพิจารณาอย่างไร ซึ่งจะมีผลกระทบทั้งภาคการส่งออก และสินค้ารายเซกเตอร์ ที่อาจถูกทรัมป์จับตามากขึ้น ดังนั้น ไทยอาจโดนสองเด้ง ทั้งการขึ้นภาษีนำเข้า และไทยอาจถูกบังคับให้นำเข้าจากสหรัฐมากขึ้น เหล่านี้จะกระทบต่อความสามารถแข่งขันของธุรกิจไทย โดยปัจจุบันไทยส่งออกไปสหรัฐอันดับ 1 ที่ 18% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทย จึงเสนอให้ภาคเอกชน เป็นตัวแทนในทีมเจรจาที่รัฐบาลจัดตั้งเพื่อรับมือผลกระทบต่างๆ เพราะเอกชนเป็นผู้ที่อยู่ในสนามการค้าโดยตรง มีข้อมูลเชิงลึก สามารถสะท้อนปัญหาที่แท้จริงให้รัฐบาลใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนรับมือ พร้อมเจรจาต่อรองในสินค้าอื่นด้วย และเอกชนไทยเอง ก็มีการลงทุนในสหรัฐด้วย หากนำเอกชนมาช่วยให้ข้อมูลในทีมเจรจาจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐแน่นอน และแก้ปัญหาได้ตรงจุด ทั้งนี้ จากการพิจารณามาตรการของสหรัฐฯ ทีมเจรจาควรให้ความสำคัญกับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับสหรัฐ และส่วนหนึ่งก็มีผลต่อตัวเลขการส่งออกทางอ้อมของไทย อีกทั้ง ทีมเจรจาควรจะมีการพิจารณาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย เพื่อสร้างสมดุลทางการค้าและลดความเสี่ยงจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์
ข่าวต่างประเทศ
4. เฟดเข้าสู่ช่วง Blackout ก่อนประชุม FOMC สัปดาห์หน้า (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 22 มกราคม 2568)
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 28-29 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของเฟดในปีนี้ โดยกฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่าเป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง ทั้งนี้ นักลงทุนเทน้ำหนักเกือบ 100% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ในเดือนมิถุนายน และคงอัตราดอกเบี้ยจนสิ้นปี 2568
อย่างไรก็ตาม FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 28-29 มกราคม 2568 นี้ นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม และพฤษภาคม ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือนมิถุนายน และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในการประชุมที่เหลือจนสิ้นปี 2568
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)