ข่าวในประเทศ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
1. พิชัย โชว์วิชั่นที่ดาวอส ประกาศไทยพร้อมเปิดรับลงทุนจากนานาชาติ ร่วมมืออาเซียนเปลี่ยนสู่ยุคศก.ดิจิทัล (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 23 มกราคม 2568)
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมการเสวนา (Panelist) ในหัวข้อ Leaving Asia's Comfort Zone ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส โดยงานเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2025 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแลกเปลี่ยนในประเด็นการปรับตัวและใช้ประโยชน์จากการเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อนำพาประเทศเข้าสู่ยุคอัจฉริยะและสร้างความสามารถทางการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลก ร่วมกับนายกันคิมยอง (Gan Kim Yong) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ และประธานบริษัทด้านกฎหมายและเทคโนโลยีการเงินชั้นนำของโลก โดยได้แสดงความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการปรับตัวให้เท่าทันกับยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) และให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศให้มีทักษะประยุกต์ใช้ AI ให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์กล่าวเห็นด้วยที่ประเทศไทยมีศักยภาพและชื่นชมที่มีบทบาทสำคัญบนเวทีอาเซียนในการผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการผลักดันการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจทัลอาเซียน หรือ DEFA นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การปรับตัวให้เข้าสู่ยุค AI ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น พร้อมทั้งให้มุมมองว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างการพัฒนากำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้เพียงพอ และการลงทุนในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอย่างการลงทุนในอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) และอุตสาหกรรม PCB ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อน เนื่องจากมีความสำคัญในการเป็นแหล่งจัดเก็บข้อมูลอันมหาศาลที่ช่วยให้ AI มีความฉลาด หรือ Intelligence มากขึ้น ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับความสนใจจากบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนด้าน AI และ Cloud Computing ภายในประเทศ เช่น บริษัท G42 จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
อย่างไรก็ตาม นายพิชัยฯ ยังได้กล่าวถึงการยกระดับทักษะ (upskill) และการเพิ่มพูนทักษะ (reskill) ด้าน AI ให้แก่แรงงานได้เท่าทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แม้กระทั่งการพัฒนาทักษะ AI ให้กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือให้ประชากรกลุ่มนี้สามารถปรับตัวและไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของบุคลากรภายในประเทศเช่นกัน แต่ก็ยังต้องการดึงดูดบุคลากรด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงที่เป็นกลุ่ม Digital Nomad ให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกแก่กลุ่มคนเหล่านี้ ทั้งอินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง 5G ระบบสาธารณสุข healthcare ที่ดีรวมถึงแหล่งพักผ่อนสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง พร้อมกล่าวปิดท้ายว่า การเสวนานี้ถือเป็นโอกาสที่ตนได้แสดงความพร้อมของไทยในการเปิดรับความร่วมมือและการลงทุนจากนานาประเทศในอุตสาหกรรม AI ตลอดจนอุตสาหกรรม Data Center และ PCB และจะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสมาชิกอาเซียนให้ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีอัจฉริยะไปพร้อมกัน
น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
2. พณ.หารือสิงคโปร์รับมือเศรษฐกิจโลก (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 23 มกราคม 2568)
น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (STEER) ครั้งที่ 7 ร่วมกับ Ms.Wong Yoke Hui อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยไทยและสิงคโปร์ เห็นพ้องใช้เวทีทวิภาคีผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อรับมือความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก พร้อมสานต่อความร่วมมือด้านการค้า ขยายการลงทุน และเสริมความร่วมมือเศรษฐกิจ ใหม่ๆ โดยจะเร่งดำเนินการผลักดันให้มีผลลัพธ์สำคัญ เตรียมเสนอให้มีการประชุมรัฐมนตรีการค้าไทย-สิงคโปร์ ครั้งที่ 7 ในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 60 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสิงคโปร์ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายมุ่งเสริมความร่วมมือ อาทิ ขยายโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรไทยและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสิงคโปร์ เร่งพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานรองรับพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสำราญ และท่องเที่ยวใหม่ๆ การคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อบรรเทาปัญหาซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ หนุนใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล ผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพิ่มโอกาสลงทุนใหม่ๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนในภาคบริการและอุตสาหกรรมใหม่ โดยปี 2567 การค้าระหว่างไทย-สิงคโปร์ ช่วง 11 เดือนแรกปี 2567 มีมูลค่า 16,111 ล้านเหรียญสหรัฐ ลบ 5.27%
นายวิทยากร มณีเนตร
อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
3. ผู้ผลิตอาหารสัตว์ใช้มันเส้นเพิ่มขึ้น-คาดมันสำปะหลังราคาดีขึ้น (ที่มา: สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น., ประจำวันที่ 23 มกราคม 2568)
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากความร่วมมือกับภาคเอกชนและหอการค้าไทยเมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ถึงการผลักดันการใช้มันเส้นภายในประเทศในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ทดแทนการพึ่งตลาดส่งออก โดยเฉพาะมันเส้นที่สามารถเชื่อมโยงไปยังผู้ใช้ในภาคการผลิตอาหารสัตว์เพื่อผู้เลี้ยงสัตว์ในประเทศได้ ซึ่งผู้ผลิตเองมีความยินดีที่จะใช้มันเส้นเพิ่มขึ้นในสูตรอาหารสัตว์เพราะมันเส้นของไทยมีการพัฒนาขึ้นมาก รวมทั้งราคาขณะนี้ก็สามารถใช้ได้ในสูตรอาหารสัตว์ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น โดยภายหลังความร่วมมือดังกล่าว กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์และความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจากผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของไทยว่ามีการใช้มันเส้นเพิ่มขึ้นในการผลิตอาหารสัตว์ โดยในเดือนมกราคม 2568 นี้ มีการใช้มันเส้นเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมาถึง 15% และมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้มีการใช้มันเส้นในประเทศเต็มที่ คาดว่าจะสามารถใช้เพิ่มขึ้นได้อีก 15% ใน 2 – 3 เดือนหน้า ทั้งนี้ ถือเป็นข่าวดีที่อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ โดยเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการใช้วัตถุดิบภายในประเทศแทนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะมันสำปะหลังที่ขณะนี้มีราคาอยู่ในระดับที่ผู้ผลิตสามารถปรับสูตรการผสมอาหารสัตว์แล้วจะทำให้สามารถใช้มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมได้ ซึ่งผู้ผลิตเองก็ได้มีการปรับสูตรไว้รองรับแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะหารือร่วมกับผู้ผลิตรายอื่นในอุตสาหกรรมต่อไป ซึ่งการใช้วัตถุดิบในประเทศจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตเพราะมีความเสถียรภาพด้านราคาและอุปทานมากกว่าและเป็นส่วนสำคัญในการช่วยดูดซับผลผลิตและช่วยเหลือเกษตรกรได้ ซึ่งขณะนี้เรามีผู้ผลิตมันเส้นสะอาดกว่า 40 รายทั่วประเทศ จากความร่วมมือของสมาคมผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สามารถผลิตมันเส้นให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ โดยกรมการค้าภายในและสมาคมฯ จะร่วมกันดูแลการซื้อขาย ทั้งเรื่องคุณภาพและราคา ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้สถานการณ์มันสำปะหลังในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น
ข่าวต่างประเทศ
4. แบงก์ชาติมาเลเซียประกาศคงดอกเบี้ย เชื่อมั่นเศรษฐกิจยังเติบโต-เงินเฟ้อไม่น่าห่วง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 23 มกราคม 2568)
ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) เปิดเผยว่า ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมครั้งแรกของปี 2568 ในวันที่ 22 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะยังคงเติบโตได้ดี และอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ในปีนี้ ทั้งนี้ BNM ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% ในการประชุม ครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ทั้ง 24 ราย จากผลการสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ซึ่งคาดว่า BNM จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้ตลอดทั้งปี โดยนโยบายการเงินในปัจจุบันยังคงเอื้อต่อเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับการประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและการเติบโตในปัจจุบัน ซึ่ง BNM ระบุว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า มาเลเซียยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะปรับอัตราดอกเบี้ย แม้ธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินแล้วก็ตาม เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่งและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนภายนอก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยรัฐบาลมีแผนที่จะลดเงินอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของประเทศในกลางปี 2568
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)