ข่าวประจำวันที่ 29 มกราคม 2568

ข่าวในประเทศ

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ

กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.

 

1. กนอ.ยุคใหม่ ลุย 3 โปรเจกต์สุดลํ้า ฝ่าโลกเดือด (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 29 มกราคม 2568)

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า กนอ. ได้ริเริ่มโครงการต่างๆ 3 โครงการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้ 1. โครงการ Carbon Camp: โครงการนี้เปรียบเสมือน “บูทแคมป์” ที่ช่วยให้โรงงานในนิคมฯ มีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำบัญชีคาร์บอน วิเคราะห์และประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต รวมถึงการรายงานบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ 2. โครงการส่งเสริมสนับสนุนโรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม : โครงการนี้มุ่งเน้นการยกระดับการดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ การลดการใช้พลังงานและทรัพยากรน้ำ รวมถึงการลดมลพิษทางอากาศและทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และ 3. โครงการสร้างเครือข่ายโรงงานลดก๊าซเรือนกระจก: กนอ. เชื่อมั่นในพลังของ “การรวมกลุ่ม” จึงจัดตั้งเครือข่ายโรงงานลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี ในการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการร่วมมือกันวิเคราะห์ศักยภาพ กำหนดมาตรการ และประเมินความคุ้มค่าในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ นอกจากการส่งเสริมโรงงานต่างๆ แล้ว กนอ. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนา Green Supply Chain ภายในนิคมอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการจัดการระบบสาธารณูปโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบน้ำประปา โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ เช่น ระบบ SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) เพื่อควบคุมการสูญเสียน้ำ และระบบรีไซเคิลน้ำ เพื่อนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ ช่วยลดการใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติ และ ระบบบำบัดน้ำเสีย โดยการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณมลพิษ ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรักษาคุณภาพน้ำและระบบนิเวศ

อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นของ กนอ. ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หลายประการ เช่น SDG 9: อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน: การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีสะอาดในภาคอุตสาหกรรม SDG 11: เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน: การพัฒนา Green Supply Chain ในระบบสาธารณูปโภค SDG 12: การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน: การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และลดของเสียจากกระบวนการผลิต SDG 13: การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม SDG 6: น้ำสะอาดและสุขาภิบาล: การบริหารจัดการน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

 

นางอารดา เฟื่องทอง

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

 

2. ค้าชายแดนผ่านแดนคึกคัก ปี 67 เม็ดเงินสะพัดกว่า 1.8 ล้านล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 29 มกราคม 2568)

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ทั้งปี 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 1,815,666 ล้านบาท ขยายตัว 6.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นการส่งออก 1,048,479 ล้านบาท (+6.9%) และการนำเข้า 767,188 ล้านบาท (+5.1%) โดยไทยได้ดุลการค้าในปี 2567 ทั้งสิ้น 281,291 ล้านบาท สำหรับการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ในปี 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 976,921 ล้านบาท (+5.1%) เป็นการส่งออก 602,132 ล้านบาท (+3.8%) การนำเข้า 374,789 ล้านบาท (+7.2%) และไทยได้ดุลการค้ารวม 227,343 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนกับมาเลเซีย มีมูลค่าสูงสุด 306,679 ล้านบาท(+6.8%) รองลงมา คือ สปป.ลาว 286,775 ล้านบาท (+10.1%) เมียนมา 208,937 ล้านบาท (-5.3%) และกัมพูชา 174,530 ล้านบาท (+7.9%) สำหรับสินค้าส่งออกชายแดนสำคัญในปี 2567 ได้แก่ น้ำมันดีเซล 41,025 ล้านบาท (+2.2%) น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ 19,575 ล้านบาท (-0.5%) และน้ำยางข้น 15,915 ล้านบาท (+38.1%) ขณะที่สินค้านำเข้าชายแดนสำคัญในปี 2567 ได้แก่ เชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น พลังงานไฟฟ้า 75,290 ล้านบาท (+9.8%) ก๊าซธรรมชาติ 65,236 ล้านบาท (-8.3%) และผักและของปรุงแต่งจากผัก (เช่น มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง) 23,560 ล้านบาท (+9.8%)

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 ถือเป็นปีทองของการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย มูลค่าการค้ารวมมากกว่า 1.815 ล้านล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ อัตราการขยายตัวกว่า 6.1% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่อัตราเฉลี่ย 4% ต่อปี ตามเป้าประสงค์หลักของ "ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567 - 2570" ที่จะขยายมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนเป็น 2 ล้านล้านบาทต่อปี ในปี 2570" ทั้งนี้ ตลอดปี 2567 ที่ผ่านมากรมฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการค้าชายแดนและผ่านแดนตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลไกความร่วมมืออนุภูมิภาคระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ส่งเสริมเศรษฐกิจตามแนวชายแดน อำนวยความสะดวกทางการค้า และเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก โดยพร้อมเดินหน้าผลักดันต่อเนื่องในปี 2568 ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ที่มุ่งเน้นผลักดันให้เดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกและการค้าชายแดนให้เติบโตยิ่งขึ้น

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมลแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ปี 68 ยอดผลิตรถ 1.5 ล้านคัน EV เพิ่มขึ้นตามกติกาชดเชยนำเข้า (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 29 มกราคม 2568)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,468,997 คัน ลดลง 19.95% จากปี 2566 โดยแบ่งเป็นผลิตเพื่อส่งออกได้ 1,009,141 คัน ลดลง 12.07% ผลิตเพื่อ จำหน่ายในประเทศ 459,856 คัน ลดลง 33.09% โดยยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ ปี 2567 มียอดขาย 572,675 คัน ลดลง 26.18% จากปี 2566 ซึ่งลดลงจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินจากหนี้ครัวเรือนสูง หนี้เสียรถยนต์ยังเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจ ขยายตัวในอัตราต่ำ โดยล่าสุดมียอดปฏิเสธสินเชื่อกว่า 70% ส่วนยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 1,019,213 คัน ลดลง 8.80% สำหรับปี 2568 ส.อ.ท. ได้ประมาณกการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 1.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 2.11% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1 ล้านคัน เท่ากับ 66.66% ของยอดการผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 5 แสนคัน เท่ากับ 33.34% ของยอดการผลิตทั้งหมด โดยเป้าการผลิตเพื่อการส่งออก จำนวน 1 ล้านคัน ลดลงจากปีก่อน 0.91% เนื่องจากปัจจัยลบเรื่องของความชัดเจนในมาตรการด้านการค้าและอื่นๆ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะขึ้นภาษีอากรนำเข้าอีกมากน้อยแค่ไหน รวมถึงคู่แข่งในประเทศคู่ค้ามีมากขึ้น และประเทศคู่ค้ามีการผลิตรถกระบะซึ่งอาจลดคำสั่งซื้อและอาจส่งออกแทนประเทศไทยจากการผลิตรถกระบะลดลง ส่วนเป้าหมายการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จำนวน 5 แสนคัน ซึ่งปีที่แล้วที่ผลิตได้ 459,856 คัน เป้าเพิ่มขึ้น 8.73% จากปัจจัยบวกการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชดเชยการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าโครงการ EV 3.0 ในอัตรา 1.5 เท่า รวมทั้ง เศรษฐกิจในประเทศขยายตัว 2.4-2.9% อีกทั้ง มีการคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากปี 2567 นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรรวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมบางกลุ่มขยายตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังปัจจัยลบจากความเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมทั้งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม จะยังคงลดลงหรือไม่เพราะมีสัดส่วนถึง 30% ของเศรษฐกิจในประเทศและมีแรงงานถึง 16% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจซื้อในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของหนี้สาธารณะอยู่ใน ระดับสูงอาจจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และค่าครองชีพยังทรงตัวในระดับสูงซึ่งจะส่งผลต่ออำนาจซื้อของประชาชน

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a red white and blue design

Description automatically generated

 

4. เงินเฟ้อออสซี่ชะลอตัวใน Q4/67 หนุนคาดการณ์แบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ยเดือนหน้า (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 29 มกราคม 2568)

สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย เปิดเผยรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ขยายตัวในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี ในไตรมาส 4/2567 ซึ่งอาจเปิดทางให้ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า โดยดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.2% ในไตรมาส 4 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% ส่วนเมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 2.4% ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5% ทั้งนี้ สำหรับดัชนี CPI พื้นฐาน ขยับขึ้นเพียง 0.5% ในไตรมาส 4 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 และต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% ส่วนเมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 3.2% ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.3%

อย่างไรก็ตาม ดัชนี CPI ที่ออกมาต่ำกว่าคาดส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่า มีโอกาส 80% ที่ธนาคารกลางออสเตรเลียจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากปัจจุบันที่ระดับ 4.35% ในการประชุมครั้งต่อไป  ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ ซึ่งจะเป็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)