ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'แจ้งอุต' รับปัญหาผ่านไลน์ดึง ปชช. ปราบโรงงานเถื่อน (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 31 มกราคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ เอาจริงเอาจังกับการนำเทคโนโลยี มาใช้เพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมทั้งการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการให้การประกอบกิจการเป็นเรื่องง่าย และเพิ่มความคล่องตัวสำหรับประชาชนทั่วไปในการติดต่อกับกระทรวงอุตสาหกรรมจึงมอบหมายให้คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม หาแนวทางขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหา "ทราฟฟี่ฟองดูว์" (Traffy Fondue) จัดทำช่องทางร้องเรียนออนไลน์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในชื่อ "แจ้งอุต" เป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นการเพิ่มช่องทางแจ้งเรื่องและตามติดสถานะของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมแบบทันใจ ยกระดับการมีส่วนร่วมภาคประชาชนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้โปร่งใส เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า "แจ้งอุต" สามารถสแกนผ่าน QR Code และ Link ร้องเรียน 6 ด้าน คือ 1. โรงงาน (ปัญหาโรงงานกลิ่นเหม็น/เสียงดัง/ฝุ่นละออง/ถนนและระบบสาธารณูปโภคนิคมอุตสาหกรรม) 2. อ้อย (ปัญหาเผาอ้อย/รถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกิน) 3. เหมือง (ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) 4. มาตรฐานสินค้า 5. บริการอุตสาหกรรม (ร้องเรียนบริการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) และ 6. ด้านอื่นๆ
นายภาสกร ชัยรัตน์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
2. พัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หนุนไทยขึ้นแท่น EV Hub เอเชีย-แปซิฟิก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 31 มกราคม 2568)
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.เตรียมจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ (Workshop) ในโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ : ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ยานยนต์สมัยใหม่ ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สำหรับผู้สูงวัย โดยการสัมมนาจะจัดขึ้นในประเทศไทยช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งจะเชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจากประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคแม่โขง - ล้านช้างเข้าร่วมพร้อมรองรับการเข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยพัฒนาทักษะ เสริมสร้างนวัตกรรม และเตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการสัมมนา สศอ.พร้อมด้วยคณะผู้แทนสถาบันยานยนต์ และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย รวมถึงผู้แทนภาคเอกชนจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง มณฑลเหอเป่ย และนครเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อดำเนินกิจกรรมการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ขับเคลื่อนการเสริมสร้างสมรรถนะทรัพยากรมนุษย์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม รวมถึงขยายเครือข่ายกับหน่วยงานด้านอุตสาหกรรมในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และระบบขับขี่อัตโนมัติระหว่างอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง ทั้งนี้ จากการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนทำให้ได้ทราบถึงข้อมูลนโยบายด้านการพัฒนาและการจัดการห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ การผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ การบริการหลังการขาย รวมถึงการจัดการซากยานยนต์และชิ้นส่วนหลังจากหมดอายุการใช้งานเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน ซึ่งมีทั้งนโยบายออกไปลงทุนทำตลาดในต่างประเทศ และเน้นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในจีน โดยมีเป้าหมายในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะอุปทานในฝั่งวัตถุดิบของชิ้นส่วนสำคัญ
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้จีนยังให้ความสำคัญกับการสร้างความพร้อมด้านโครงสร้าง พื้นฐานสำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วประเทศ และระบบหัวชาร์จไฟที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงมาตรการสนับสนุนการผลิตและใช้งานยานยนต์พลังงานสะอาดระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งช่วยเพิ่มผลิตภาพในการผลิตและลดการใช้ทรัพยากร ตลอดจนระบบนิเวศของศูนย์ทดสอบและการรับรองมาตรฐานที่สามารถจำลองการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของรถยนต์ได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของค่ายรถยนต์ต่างๆ ให้มีการทดสอบคุณภาพของยานยนต์และชิ้นส่วนให้สอดรับกับมาตรฐานของจีนและมาตรฐานสากล
นายสมชาย พรรัตนเจริญ
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย
3. กาแฟ 'ผง-กระป๋อง' พาเหรดขึ้น 5% (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 31 มกราคม 2568)
นายสมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคว่า สินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์กาแฟ ทั้งในส่วนของกาแฟผง และเครื่องดื่มกาแฟบรรจุกระป๋องและบรรจุขวด ยังมีแนวโน้มราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน เนื่องจากราคาเมล็ดกาแฟ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในตลาดโลกปรับราคาสูงขึ้น จากปริมาณผลผลิตโลกที่ลดลง ขณะที่ประเทศไทยเองมีการนำเข้ากาแฟดิบเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกาแฟในปริมาณมาก โดยล่าสุดผู้ผลิตและจำหน่ายกาแฟรายใหญ่ ซึ่งเป็นเจ้าตลาดของไทยได้แจ้งขอปรับขึ้นราคากาแฟผงสำเร็จรูปอีก 5% ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ขณะที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มกาแฟ ก็แจ้งขอปรับขึ้นราคาอีก 5% เช่นกัน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2568 ส่งผลให้ราคาเครื่องดื่มกาแฟบรรจุกระป๋องจะปรับราคาเพิ่มขึ้น เฉลี่ยกระป๋องละ 2 บาท คือปรับจากกระป๋องละ 15 บาท เป็น 17 บาท
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์กาแฟมีการทยอยปรับราคามาตั้งแต่ช่วงปีก่อน โดยผู้ผลิตเองก็ไม่กล้าขึ้นราคาแรงๆ ครั้งเดียวเพราะกลัวกระทบยอดขาย จึงใช้วิธีทยอยปรับขึ้นราคาทีละน้อย และทยอยปรับมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการปรับลดขนาดบรรจุลงด้วย ส่วนสินค้าข้าวสารบรรจุถุงนั้นแม้ว่าราคาข้าวเปลือก และราคาส่งออกข้าวขาวของไทยจะปรับลดลง แต่ผู้ผลิตก็ยังไม่ได้การแจ้งปรับลดราคาจำหน่ายมายังผู้ค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของระบบราคาสินค้าในประเทศไทย ที่มีแต่การปรับราคาขึ้น แต่ไม่มีปรับราคาลงแม้ว่าราคาวัตถุดิบจะลดลง
ข่าวต่างประเทศ
4. ยอดค้าปลีกญี่ปุ่นขยายตัวแรงขึ้นแตะ 3.7% ในเดือนธ.ค. 67 (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 31 มกราคม 2568)
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยรายงานตัวเลขเบื้องต้นว่า ยอดค้าปลีกเดือนธันวาคม 2567 เติบโต 3.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นมูลค่า 16.123 ล้านล้านเยน สูงกว่าเดือนก่อนที่เติบโต 2.8% ทั้งนี้ เมื่อพิจารณายอดค้าปลีกเป็นรายหมวด พบว่าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 1.7%, เครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้น 4.9% และเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 5.1% โดยในภาพรวม ยอดขายเชิงพาณิชย์เติบโตขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน แตะที่ 57.219 ล้านล้านเยน ด้านการค้าส่งขยายตัว 3.5% มีมูลค่า 41.096 ล้านล้านเยน
อย่างไรก็ตาม หากเทียบเป็นรายเดือนโดยใช้ตัวเลขที่ปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว ยอดค้าปลีกเดือนธันวาคม 2567 หดตัวลง 0.7% สวนทางกับเดือนพฤศจิกายนที่เพิ่มขึ้น 1.9%
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)