ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. นิคมเฮ! รับนโยบาย 'ทรัมป์' หนุนย้ายฐานผลิตมาไทย (ที่มา: ทันหุ้น, ประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการพิจารณาใช้มาตรการทางภาษี เพื่อตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่ก่อภัยคุกคามต่อสหรัฐอเมริกาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นการพิจารณาย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ซึ่งมีระบบสาธารณูปโภคครบครัน มีระบบขนส่งที่ทันสมัยทั้งท่าเรือ ทางรถไฟ ถนนวงแหวน - ทางหลวงพิเศษเชื่อมต่อครบครันจึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ฯลฯ เดินหน้าเจรจาเชิญชวนนักลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ มีมูลค่าสูง อุตสาหกรรมไฮเทค กลุ่มผู้ประกอบการที่มีความพร้อมเข้ามาลงทุนระยะยาวในไทย โดยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรีไฟฟ้า (BEV) รวมถึงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในประเทศปรับไปสู่การผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ไฮบริด (HEV) รวมถึงเชื้อเพลิงไฮโดรเจน (FCEV) 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดึงการลงทุนอุตสาหกรรมต้นน้ำ อาทิ แผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) การออกแบบวงจรรวม พัฒนาจากการรับจ้างผลิต (OEM) เพิ่มให้มีการออกแบบ (ODM) 3. อุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าสูง ที่รวมทั้งอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการเกษตร เป็นอุตสาหกรรมนำการเกษตร 4. อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและป้องกันภัยพิบัติ โดยสนับสนุนให้ไทยซื้อของไทยและพัฒนาต่อยอดไปสู่ตลาดส่งออก และ 5. อุตสาหกรรมการแพทย์
อย่างไรก็ตาม เพื่อพัฒนาให้พื้นที่ 3 จังหวัด ใน EEC ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ และขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการ และผังเมือง ในการเปิดพื้นที่ "สีเหลือง" ตามแผนผัง EEC ซึ่งเป็นพื้นที่ประเภทชุมชนชน และเศรษฐกิจชุมชนรวมกว่า 2.07 ล้านไร่ เพื่อแบ่งบางส่วนมากำหนดลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ที่สามารถใช้เพื่อการตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้ ซึ่งความต้องการพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมใน EEC ที่เพิ่มขึ้นทำให้ปัจจุบันพบข้อจำกัดของการจัดทำให้ที่ดินมีราคาแพงมากจนอาจไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้ การเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมจะเป็นข้อต่อรองที่รัฐบาลเสนอให้กับเอกชนผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม แลกกับการเปิดพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมให้ผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะ เพื่อเตรียมพร้อมในการรับช่วง (Subcontract) การผลิตของบริษัทขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
2. หลายกลุ่มสินค้าราคาเพิ่มขึ้น หลังตลาดต้องการสูง-ต้นทุนพุ่ง-ผลผลิตน้อย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีราคาผู้ผลิตของไทย เดือนมกราคม 2568 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2567 กลับมาขยายตัวเล็กน้อยจากราคาสินค้า หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่มีทิศทางเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลกและความต้องการของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และราคาสินค้าหมวดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่แม้ว่าปัจจุบันจะได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในตลาดผู้ส่งออก แต่ก็กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก สภาพเศรษฐกิจของตลาดปลายทาง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลให้ภาพรวมของราคาผู้ผลิต ยังคงมีความผันผวนในระดับที่ทรงตัว หรืออาจจะมีความเคลื่อนไหวไม่มาก ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมกราคม 2568 เท่ากับ 111.1 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2567 สูงขึ้น 0.7% เมื่อกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้า หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้น 2.0% จากสินค้าสำคัญที่ปริมาณผลผลิตในตลาดโลกลดลง ในขณะที่ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ยางพารา ผลปาล์มสด สับปะรดโรงงาน สุกรมีชีวิต และกุ้งแวนนาไม สำหรับสินค้าที่ราคาปรับลดลง เช่น ข้าวเปลือกเจ้า อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หัวมันสำปะหลังสด พืชผัก เนื่องจากปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้น 0.6% จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญที่เกิดจากต้นทุนเพิ่มขึ้นและเคลื่อนไหวตามตลาดโลก และมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น ทองคำ อุปกรณ์กีฬา กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ กลุ่มยานยนต์ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ (รถกระบะ และรถบรรทุกขนาดเล็ก) กลุ่มสิ่งทอ (ผ้าใยสังเคราะห์ และเครื่องนอน) ส่วนการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร (เนื้อสุกร เนื้อปลาสดแช่แข็ง ปลาป่น มันเส้น และน้ำตาล) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี เม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกุมภาพันธ์ 2568 คาดว่าจะสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1. ความต้องการบริโภคในภาพรวมของประเทศที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว 2. ภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มจะขยายตัวจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่วนปัจจัยกดดันที่สำคัญยังคงเป็น 1. ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน 2. การแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาด ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ประกอบกับฐานราคาสินค้าเกษตรในปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ปัจจัยด้านราคาพลังงาน อัตราแลกเปลี่ยน และผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังคงมีความไม่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในทิศทางใดซึ่งจะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายวิกรม กรมดิษฐ์
ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA
3. อมตะรับจีนลงทุนขายที่เกิน 2,500 ไร่ (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568)
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า ยอดขายที่ดินในปี 2568 จะเติบโตขึ้นจากปี 2567 ที่ทำได้มากกว่า 2,500 ไร่ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจีนที่จะย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนจีนมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ โดย AMATA ได้มีการเตรียมความพร้อมในการขยายพื้นที่ต่อเนื่อง ขณะที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา AMATA ได้ร่วมมือกับ 6 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จให้บริการผู้ประกอบการแบบครบวงจร (Government All-Service Center ) อย่างเป็นทางการ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี เพื่อเพิ่มความสะดวกในการให้บริการกับนักลงทุนที่เข้ามา และเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกที่จัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เพื่อมุ่งยกระดับการให้บริการครบวงจรกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ลดขั้นตอน อุปสรรคในการขอใบอนุญาตต่างๆ เพิ่มความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในพื้นที่ EEC พร้อมดึงนักลงทุนสู่ฐานผลิตสำคัญของประเทศ ซึ่งการจัดตั้งศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ เป็นกลไกที่สำคัญที่จะเอื้อต่อการลงทุน เพราะพื้นที่การลงทุนในภาคตะวันออก มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ ทั้งการนำเข้า และส่งออกสินค้า นับเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค ดังนั้น การอำนวยความสะดวกในด้านการขอใบอนุญาตต่างๆ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการให้บริการ ให้สอดรับกับภาวะการแข่งขัน และยังคงรักษาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับ “Government All-Service Center” ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านการอนุมัติ และอนุญาต จากหน่วยราชการที่มีประสิทธิภาพ สู่การพัฒนาประเทศในยุคที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว และทันสมัยอย่างแท้จริง
ข่าวต่างประเทศ
4. PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้าย UK ม.ค. หดตัว 4 เดือนติด (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568)
S&P Global เปิดเผยผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของ UK โดยระบุว่า ปรับตัวขึ้นจาก 47.0 ในเดือนธันวาคม 2567 มาอยู่ที่ 48.3 ในเดือนมกราคม 2568 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นที่ 48.2 เล็กน้อย แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว โดยดัชนีความเชื่อมั่นฟื้นตัวได้เพียงเล็กน้อยจากจุดต่ำสุดในรอบ 2 ปี ในเดือนธันวาคม ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานทรุดตัวแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจดัชนี PMI ภาคการผลิต พบว่า เดือนที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ เผชิญกับ แรงกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อด้านต้นทุนการจัดซื้อทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี โดยผู้ประกอบการยังคงทยอยปรับราคาสินค้าขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ส่วนทางด้านผู้ประกอบการรายเล็กได้รับผลกระทบหนักที่สุด ทั้งด้านผลผลิตและคำสั่งซื้อที่ทรุดตัว อีกทั้งยังต้องปลดพนักงานออกมากที่สุดด้วย
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)