ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. สั่งขยายร้านมอก.ทั่วประเทศ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ขยายร้าน มอก. ให้มากขึ้น จากปัจจุบันมีแล้วกว่า 13,045 ร้านค้าทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้ สมอ.ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มอีก 500 ร้านค้า รวมเป็น 13,545 ร้านค้าทั่วประเทศ โดยเฉพาะในห้างโมเดิร์นเทรด และร้านค้ารายย่อย เนื่องจากปัจจุบันมีสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงต้องออกมาตรการปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ และดูแลความปลอดภัยในการใช้สินค้าให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าราคาถูกแต่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาแย่งตลาดผู้จำหน่ายในประเทศ ทั้งนี้ ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ประกอบการที่จงใจกระทำความผิด ลักลอบผลิต นำเข้า และจำหน่ายสินค้าด้อยคุณภาพไม่มีมาตรฐาน ทั้งที่วางจำหน่ายตามร้านค้าในท้องตลาด รวมถึงช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 – กุมภาพันธ์ 2568 ได้ดำเนินการตรวจยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานไปแล้วกว่า 490 ล้านบาท สำหรับร้าน มอก. จะเป็นการคัดเลือกสินค้าที่ได้มาตรฐาน มอก. เช่น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติก สินค้าอุปโภคบริโภค มาจำหน่ายภายในร้าน เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น ซึ่งมีทั้งห้างสรรพสินค้าโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ ล่าสุดได้มอบใบรับรองร้าน มอก. ให้แก่ ศูนย์บริการยานยนต์ฟิท ออโต้ ภายใต้การบริหารงานของ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ซึ่งให้บริการด้านยานยนต์ และจำหน่ายยางรถยนต์และน้ำมันเครื่องที่ได้มาตรฐาน มอก. แสดงถึงเจตนารมณ์ในการทำธุรกิจอย่างถูกกฎหมายและมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานแก่ผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีร้านจำหน่ายเข้าร่วมร้าน มอก. ทั่วประเทศ จำนวน 53 ราย 13,045 ร้าน เช่น ห้างแม็คโคร ของบริษัท ซีพี แอ็กตร้า 145 ร้าน, ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ของ บมจ.ซีพี ออลล์ 12,569 ร้าน, ร้านไดโซ ของ บริษัท ไดโซ ซังเกียว (ประเทศ ไทย) 91 ร้าน, ศูนย์บริการ ค็อกพิท ของ บริษัท บริดจสโตน เอ.ที.ซี (ประเทศไทย) 89 ร้าน และปลีก 48 ราย 55 ร้าน นอกจากนี้ ศูนย์บริการฟิท ออโต้ ได้สมัครเข้าร่วมเป็นร้าน มอก. จำนวน 96 ร้าน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าควบคุม ที่จำหน่าย ได้แก่ ยางล้อรถยนต์ น้ำมันเครื่องมอเตอร์ไซค์ สมอ. จึงขอเชิญชวนร้านค้าทั่วประเทศ ที่เห็นถึงความสำคัญของการจำหน่ายสินค้าที่มีมาตรฐานให้แก่ประชาชนผู้บริโภค เข้าร่วมเป็นร้าน มอก.ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่เลือกซื้อมีคุณภาพได้มาตรฐาน มอก.
นายพิชัย นริพทะพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
2. “พาณิชย์” บุกแอฟริกาใต้ ดันส่งออกข้าวไทย 7,300 ล้านบาท (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2568)
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและเอกชน อาทิ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย บริษัท เยนเนอรัล มิลล์คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด บริษัท ไทย แกรนลักซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไรซ์ จำกัด เดินทางเยือนสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 24 – 30 มีนาคม 2568 เพื่อขยายตลาดข้าวไทยและสินค้าไทยในแอฟริกาใต้ พร้อมกระชับความร่วมมือทางการค้ากับภาครัฐและเอกชนของแอฟริกาใต้ ซึ่งไทยถือเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก และแอฟริกาใต้เป็นตลาดสำคัญในภูมิภาคแอฟริกา โดยในปี 2567 ไทยส่งออกข้าวไปยังแอฟริกามากถึง 3.37 ล้านตัน คิดเป็น33.88% ของการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด โดยเฉพาะแอฟริกาใต้ที่นำเข้าข้าวจากไทยถึง 833,000 ตัน หรือ 8.38% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวนึ่ง ข้าวขาว และข้าวหอมมะลิไทย การเดินทางครั้งนี้มีเป้าหมายหลักคือการรักษาและขยายตลาดข้าวไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นอกจากการบรรลุข้อตกลงซื้อขายข้าว กระทรวงพาณิชย์ยังเตรียมเจรจากับหน่วยงานสำคัญของแอฟริกาใต้ อาทิ กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และการแข่งขันของแอฟริกาใต้ และ The Western Cape Tourism, Trade and Investment Promotion Agency (Wesgro) เพื่อผลักดันการค้าระหว่างสองประเทศ รวมถึงประชุมกับบริษัทผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของแอฟริกาใต้ เช่น Tastic Rice Corporation Ltd., Goldkeys International (Pty) Ltd. และ Jumbo Prepackers (Pty) Ltd. ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าข้าวไทยรวมกันมากกว่า 25%นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังจัดงาน “Thailand Ultimate Friendship” เพื่อมอบรางวัลให้แก่ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของแอฟริกาใต้ ตอกย้ำความเป็นพันธมิตรทางการค้าข้าวที่แข็งแกร่ง พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ข้าวไทยผ่านการมอบ ตรารับรอง Thai SELECT ให้แก่ร้านอาหารไทยในแอฟริกาใต้ และประชาสัมพันธ์ เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย (ตราเขียว) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการขายข้าว แต่เป็นการขยายโอกาสทางการค้าของไทยไปสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะในตลาดแอฟริกาใต้ ซึ่งเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ที่ผ่านมาไทยได้ส่งออกสินค้าไปขาย 5 ลำดับแรก เช่น รถยนต์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ, ข้าว, เครื่องยนต์สันดาปภายใน, เครื่องจักรกล และผลิตภัณฑ์ยา ในส่วนสินค้าเกษตรอื่นๆเช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และเครื่องเทศสมุนไพร ทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้สินค้าไทยเดินหน้าต่อไป
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
3. ปั้นสินค้าเกษตรอุตฯ สร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจชุมชน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2568)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ตามนโยบายของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการยกระดับเกษตรกรรมสู่เกษตรอุตสาหกรรม ด้วยการนำระบบบริหารจัดการทางอุตสาหกรรมมาใช้ในการแปรรูป และพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรพื้นฐานสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน (One Province One Agro -Industrial Community : OPOAI-C) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรไทย มีความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างหน่วยเศรษฐกิจ (Economic Unit) เป็นพลังตัวบวกและตัวคูณทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นภายในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าไปพัฒนาเกษตรกร จำนวน 723 กลุ่ม กว่า 2,434 ราย ผ่านกิจกรรมอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร เช่น การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการตลาด และการบริหารจัดการองค์กรสู่ความยั่งยืน อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดสร้างแผนธุรกิจ และจัดทำร่างต้นแบบผลิตภัณฑ์กว่า 229 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น ประเภทอาหาร 143 ผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่ม 41 ผลิตภัณฑ์ สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 22 ผลิตภัณฑ์ ของใช้/ของประดับ/ของที่ระลึก 22ผลิตภัณฑ์ ผ้า/เครื่องแต่งกาย 1 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรที่เกี่ยวข้องกว่า 44 ล้านบาท และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในชุมชนกว่า 223 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวิสาหกิจชุมชนโดยเฉพาะการยกระดับเกษตรกรสู่เกษตรอุตสาหกรรมมูลค่าสูงเพื่อส่งต่อความสำเร็จทั้งมิติด้านเศรษฐกิจและมิติทางสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่มองแค่ผลความสำเร็จในด้านธุรกิจเท่านั้น แต่ยังต้องมีส่วนร่วมในการสร้างงานและรายได้ให้กับคนในชุมชน มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งใช้วัตถุดิบและอัตลักษณ์ของพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ในสินค้าและบริการ โดยบทบาทการส่งเสริมผู้ประกอบการคนตัวเล็ก พัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน และเอสเอ็มอีเชื่อมโยงกับตลาดกว้างและห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม นับเป็นภารกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม
ข่าวต่างประเทศ
4. ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการขั้นต้นออสเตรเลียแตะไฮรอบ 7 เดือน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2568)
S&P Global เปิดเผยผลสำรวจว่า กิจกรรมทางธุรกิจของออสเตรเลียขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 7 เดือน โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เติบโตแข็งแกร่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 29 เดือน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นของออสเตรเลีย ปรับตัวขึ้นแตะ 51.3 ในเดือนมีนาคม 2568 สูงสุดในรอบ 7 เดือน จากระดับ 50.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว โดยธุรกิจใหม่เติบโตเร็วขึ้น แม้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศจะชะลอตัวลงจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ในส่วนของการจ้างงาน บริษัทต่างๆ เพิ่มการจ้างพนักงานใหม่เพื่อรองรับปริมาณงานที่มากขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกพิจารณารายภาค ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นของออสเตรเลียอยู่ที่ 51.2 เพิ่มขึ้นจาก 50.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นอย่างโดดเด่น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นของออสเตรเลียก็ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 52.6 จาก 50.4 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 29 เดือนเช่นกัน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)