ข่าวประจำวันที่ 11 เมษายน 2568

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a desk with a microphone

AI-generated content may be incorrect.

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ

กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.

 

1. กนอ.กำชับนิคมฯ คุมเข้ม ป้องกันอุบัติภัยช่วงหยุดสงกรานต์ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 11 เมษายน 2568)

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ได้สั่งให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ กำชับโรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่ง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอัคคีภัยและอุบัติเหตุอย่างเคร่งครัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวัน และขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูร้อน สภาพอากาศแห้งแล้งและมีอุณหภูมิสูง ส่งผลให้อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักรของโรงงานทำงานหนักขึ้น อาจก่อให้เกิดอัคคีภัย/อุบัติเหตุได้ หากไม่มีการซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ตามแผน รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานช่วงเทศกาลสงกรานต์มีจำนวนน้อยกว่าวันทำงานปกติ หากเกิดอุบัติเหตุจะก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายแก่ชีวิต ทรัพย์สินของโรงงาน สภาพแวดล้อมภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม และอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ได้กำชับเพิ่มเติมให้ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม ดำเนินการดังนี้ 1. เตรียมพร้อมบุคลากร, อุปกรณ์, ระบบสาธารณูปโภค, และช่องทางประสานงานรับมืออุบัติเหตุ/ภัยพิบัติ ตามแผนป้องกันฯ 2. สร้างความตระหนักผู้ประกอบการเรื่องป้องกันอัคคีภัย/อุบัติเหตุ และกำกับดูแลการซ่อมบำรุง 3. ตรวจโรงงานเสี่ยงสูงให้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย 4. รายงานเหตุฉุกเฉินต่อศูนย์เฝ้าระวังฯ ตลอด 24 ชม. และ 5. เตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน/เพลิงไหม้ พร้อมติดต่อประสานงานได้ตลอดช่วงสงกรานต์

 

A person in a suit with his arms crossed

AI-generated content may be incorrect.

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)

 

2. ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม 'ดิจิทัล' พุ่ง (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 11 เมษายน 2568)

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ดีป้าสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลไตรมาส 1/2568 และไตรมาส 4/2567 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ระดับ 50.1 ปรับตัวดีขึ้นจาก 48.8 ของไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากปัจจัยด้านผลประกอบการ ด้านปริมาณการผลิตด้านการจ้างงาน และด้านการลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน ปัจจัยด้านคำสั่งซื้อและด้านต้นทุนประกอบการปรับลดลง ทั้งนี้ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่านโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท และ Easy E-Receipt 2.0 ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลง การย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ และ                      การแข่งขันด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระดับโลก ล้วนส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลไตรมาสแรกปีนี้กลับสู่ระดับเชื่อมั่นอีกครั้ง หลังตกลงไปสู่ระดับไม่เชื่อมั่นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 แต่บรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยังมีความกังวลต่อการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าต่างประเทศ และการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับเทคโนโลยีเกิดใหม่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่น

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวาริน รัชนานุสรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น กล่าวว่า ดิจิทัลสตาร์ตอัพไทยยังเผชิญความท้าทายการเข้าถึงแหล่งทุน ขาดที่ปรึกษาเชิงลึก เครือข่ายระดับนานาชาติที่จำกัด และกลไกภาครัฐที่ยังไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ ภาคธุรกิจดั้งเดิมยังไม่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ การพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติจึงเลี่ยงไม่ได้ โอกาสของไทยคือการพัฒนาโปรแกรมรูปแบบใหม่เชื่อมโยงผู้มีไอเดียธุรกิจกับผู้มีทักษะเทคโนโลยี สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน ซึ่งไทยมีศักยภาพในการพัฒนา

 

A person in a suit and tie

AI-generated content may be incorrect.

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT

 

3. ส่งออกอัญมณี-เครื่องประดับไทย โล่งหลังทรัมป์เลื่อนภาษีตอบโต้ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 11 เมษายน 2568)

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า แนวโน้มตัวเลขการส่งออกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คาดยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐที่เร่งนำเข้า เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องภาษี แต่ผลจากการที่สหรัฐ ได้เริ่มเก็บภาษีนำเข้า 10% แล้ว คงต้องจับตาดูว่า จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ในเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไปอย่างไร เพราะเดิมอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยต่ำมากแค่ 0-6.5% เท่านั้น แต่ยังดีที่ไม่เจอ 36% เพราะถูกชะลอออกไป 90 วัน ซึ่งทำให้ส่งออกหายใจได้คล่องขึ้น และต้องติดตามดูสถานการณ์ต่อไปว่าจะสามารถเจรจาปรับลดอัตราภาษีได้หรือไม่ ทั้งนี้ สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 มูลค่า 2,298 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 104.23% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 4 เดือน หากรวมทองคำ มูลค่า 4,032 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 121.29% การส่งออกรวม 2 เดือนแรก 2568 ไม่รวมทองคำ มูลค่า 3,232 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 73.22% รวมทองคำ มูลค่า 6,134 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 102.32% การส่งออกเฉพาะทองคำมีมูลค่า 934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 26.395% จากการส่งออกไปเก็งกำไร ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีของสหรัฐ ทำให้ราคาทองคำทำสถิติสูงสุดที่ 2,937 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ส่งผลส่งออกทองคำ 2 เดือน รวม 2,102 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 73.74% โดยตลาดส่งออกสำคัญ สหรัฐแรงสุดเพิ่ม 31.61% จากการเร่งนำเข้า ลดความเสี่ยงจากมาตรการภาษี เพราะในเดือนเมษายน ยังไม่รู้ว่าสหรัฐจะประกาศขึ้นภาษีกับไทยในอัตราเท่าใด ส่วนเยอรมนี เพิ่ม 8.56% อิตาลี เพิ่ม 4.37% สหราช อาณาจักร เพิ่ม 13.80% ญี่ปุ่น เพิ่ม 4.37% ส่วนฮ่องกง ลด 8.09% เบลเยียม ลด 21.24% กาตาร์ ลด 46.92% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 29.99%

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการส่งออกสินค้าแพลทินัม เพิ่ม 155,712.30% ส่วนใหญ่ไปอินเดีย เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 12.18% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 40.99% พลอยก้อน เพิ่ม 11.17% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 22.34% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 14.17% กลุ่มพลอยขยายตัวเพราะซื้อไปลงทุน เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 2.98% เครื่องประดับทอง ลด 11.99% ส่วนเพชรก้อน ลด 33.86% เพชรเจียระไน ลด 29.48% เพราะส่งออกไป ฮ่องกง เบลเยียม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลดลง

 

ข่าวต่างประเทศ

A close up of a flag

AI-generated content may be incorrect.

 

4. สหรัฐเผยดัชนี CPI +2.4% เดือนมี.ค. ต่ำกว่าคาดการณ์ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 11 เมษายน 2568)

กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมีนาคม 2568 ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% จากระดับ 2.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวลง 0.1% ในเดือนมีนาคม สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าปรับตัวขึ้น 0.1% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.0% จากระดับ 3.1% ในเดือนกุมภาพันธ์

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนมีนาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.2% ในเดือนกุมภาพันธ์

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)