ข่าวประจำวันที่ 17 เมษายน 2568

ข่าวในประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์

 

1. เสริมเขี้ยวเล็บแฟรนไชส์ ปั๊มหน้าใหม่อาชีพอิสระ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 17 เมษายน 2568)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แฟรนไชส์เป็นธุรกิจเป้าหมายของรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น และได้มอบแนวทางปฏิบัติให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งและขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการส่งเสริมให้นักลงทุนและประชาชนใช้เป็นทางเลือกนำไปลงทุนประกอบธุรกิจเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ สร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้การส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์มาอย่างต่อเนื่อง โดยการให้ความรู้เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถประกอบกิจการได้อย่างมั่นคงราบรื่นแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม 2 ระดับ คือ 1. กิจกรรม สัมมนาเชิงปฏิบัติการ การบริการจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) 2. กิจกรรม ยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard) นอกจากการให้ความรู้กับผู้ขายแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์เซอร์แล้ว กรมยังให้ความรู้แก่ผู้ต้องการลงทุนหรือผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) อีกด้วย โดยจะมีการจัดอบรมวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ ประกอบกับแฟรนไชส์แบรนด์ดังมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อสร้างให้แฟรนไชส์ซีรุ่นใหม่เริ่มต้นสร้างธุรกิจด้วยแฟรนไชส์อย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจุบัน มีธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard) จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 545 ราย แบ่งเป็น 5 ประเภทธุรกิจ คือ อาหาร 248 ราย เครื่องดื่ม 106 ราย การศึกษา 68 ราย บริการ 66 ราย ค้าปลีก 33 ราย ความงามและสปา 24 ราย

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โฆษกกระทรวงพาณิชย์

 

2. สนค.เผยหลายปัจจัยหนุน ค่าขนส่งทางถนนไตรมาสแรกพุ่ง 2.7% (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 17 เมษายน 2568)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ. สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 จากต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับอัตราค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว โดยคาดว่าในระยะต่อไป ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน อาจปรับตัวลดลงจากมาตรการลดราคาพลังงานของภาครัฐ ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาภาระต้นทุนของผู้ประกอบการขนส่งได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามกิจกรรมการผลิต ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 เป็นการสูงขึ้นของค่าบริการขนส่งในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้น 3.0% จากการสูงขึ้นของค่าบริการขนส่งสินค้ากลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม อุปกรณ์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้น 1.1% จากการสูงขึ้น ของค่าบริการขนส่งสินค้ากลุ่มถ่านหินและลิกไนต์ และปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้น 0.3% จากการสูงขึ้นของค่าบริการขนส่งสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สำหรับดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามประเภทรถ ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 เพิ่มขึ้น 1.7% (YOY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 เป็นการสูงขึ้นเกือบทุกประเภทรถที่บริการขนส่งสินค้า ได้แก่ รถบรรทุกวัสดุอันตราย สูงขึ้น 3.3% รถบรรทุกของเหลว สูงขึ้น 2.2% รถตู้บรรทุก สูงขึ้น 2.1% รถกระบะบรรทุก สูงขึ้น 1.7% รถบรรทุกเฉพาะกิจ สูงขึ้น 1.6% และรถพ่วง สูงขึ้น 1.1% สำหรับดัชนีค่าบริการขนส่งโดยรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาวราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ยังคงเป็นเรื่องของต้นทุนที่ยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งราคาน้ำมันดีเซล และการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการเติบโตของธุรกิจการค้าออนไลน์ ทำให้ความต้องการและปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนหลักด้านการขนส่งของผู้ประกอบการเนื่องจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้กำหนดแนวทางการดูแลราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้สอดรับกับสถานการณ์และความเหมาะสม มีมติปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงรวม 1 บาท ภายในเดือนเมษายน 2568 ประกอบกับการแข่งขันของธุรกิจขนส่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้เกิดการแข่งขัน

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

3. BOI ถอนสิทธิ 'ซิน เคอ หยวน' ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริง (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 17 เมษายน 2568)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีหนังสือถึงบีโอไอ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 แจ้งว่า บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายตาม พ.ร.บ. โรงงานอุตสาหกรรมฯ และ พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฯ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว และมีมติให้เพิกถอนการใช้สิทธิประโยชน์เป็นการชั่วคราว โดยไม่กระทบกับสิทธิประโยชน์ที่ได้ใช้ไปแล้วของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ซึ่งได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตเหล็กแท่ง (Billet) ตามบัตรส่งเสริมเลขที่ 1235(2)/2556 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 โดยให้มีผลนับแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ จนกว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะมีหนังสือแจ้งมายังสำนักงานว่าอนุญาตให้บริษัทกลับมาดำเนินการผลิตได้ ทั้งนี้ หากกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเพิกถอนหนังสือรับรองการประกอบกิจการโรงงานแล้ว สำนักงานจะนำเสนอคณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไป เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ในระหว่างที่กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานอื่นๆ ยังตรวจสอบรายละเอียดและดำเนินการตามกฎหมายไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ สำหรับประเด็นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็ก บีโอไอได้ยกเลิกการส่งเสริมเหล็กเส้นสำหรับงานก่อสร้าง เช่น เหล็กเส้น และเหล็กข้ออ้อย มาตั้งแต่ปี 2543 ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กอื่นๆ บีโอไอได้เฝ้าระวังและได้หารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับภาวะผลิตภัณฑ์เหล็กล้นตลาด และปัญหาการทุ่มตลาดในอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กก่อสร้าง โดยในปีที่ผ่านมา บอร์ดบีโอไอได้ออกประกาศยกเลิกการส่งเสริมการผลิตเหล็กหลายประเภท เช่น เหล็กแท่ง เหล็กลวด เหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ บีโอไอย้ำจุดยืนในการส่งเสริมกิจการที่มีความสำคัญต่อการสร้างซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย กิจการที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเกิดประโยชน์ต่อประเทศในด้านต่างๆ เช่น การจ้างงาน การพัฒนาบุคลากรไทย การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนา การเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบในประเทศ การส่งออกเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของซัพพลายเชน รวมทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการในประเทศ

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงดอกเบี้ย 2.75% วันนี้ หวังพยุงค่าเงินวอน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 17 เมษายน 2568)

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.75% ในการประชุมวันนี้ (17 เมษายน 2568) โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาเสถียรภาพของสกุลเงินวอน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีศุลกากรของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยคณะกรรมการ BOK ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยแม้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศอ่อนแอลงก็ตาม โดยการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ BOK ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 นอกจากนี้ การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยยังมีขึ้นในช่วงเวลาที่สกุลเงินวอนมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยเงินวอนเผชิญกับการผันผวนนับตั้งแต่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศคู่ค้าทุกประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา เงินวอนอ่อนค่าลงแตะระดับ 1,487.6 วอนต่อดอลลาร์ในการซื้อขายระหว่างวัน ซึ่งเป็นการอ่อนค่าลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า BOK อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 29 พฤษภาคม 2568 หลังจากมีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)