ข่าวประจำวันที่ 22 เมษายน 2568

ข่าวในประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'เอกนัฏ' ลุยยกเลิกเหล็ก 'IF' จัดการอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญให้สิ้นซาก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 22 เมษายน 2568)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เรื่องเหล็กตกคุณภาพที่ผลิต โดย บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (SKY) ซึ่งโรงงาน   ได้ถูกปิดไปเมื่อเดือนธันวาคม 2567 พบข้อพิรุธหลายประเด็นในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่อง "ฝุ่นแดง" ซึ่งได้มีการขยายผลไปสู่การเพิกถอนสิทธิประโยชน์ BOI และการสืบสวนร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) โดยขอหมายศาลเข้าเก็บหลักฐาน เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ส่วนอีกประเด็นที่มีความสำคัญต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็ก คือ การทบทวนให้ยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็กที่ผลิตโดยกระบวนการใช้เตาอินดักชั่น Induction Furnace (IF) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ยาก รวมทั้งเป็นเตาแบบระบบเปิด สร้างมลภาวะฝุ่นและก๊าซพิษจากการผลิตเหล็กที่มากกว่า ถึงแม้ในทางทฤษฎีจะสามารถผลิตเหล็กที่มีคุณภาพได้ แต่ในกระบวนการผลิตจริง การควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอนั้นทำได้ยาก ผู้ประกอบการจะต้องใส่ใจและเข้มงวดในการใช้วัตถุดิบคุณภาพดี มีกระบวนการปรับปรุงควบคุมคุณภาพอย่างละเอียด ทั้งนี้ ไทยได้ออกมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก.เหล็กข้ออ้อย มารับรอง IF ตั้งแต่ปี 2559 ผู้ผลิตอย่าง SKY ได้รับ มอก.ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งนับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้นโยบายชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอย นำโดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบระงับการผลิตและจำหน่าย รวมทั้งอายัดเหล็กจากหลายบริษัทที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดพบว่าเป็นเหล็ก IF รวมถึงทาง SKY ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่ผลิตเหล็กจากเตา IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้มีคุณภาพที่ดีได้ โดยปัจจุบันเทคโนโลยีที่ผลิตเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า Electric Arc Furnace (EAF) ที่ใช้ไฟฟ้าในการหลอมเหล็ก จะสามารถดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ดีกว่าเตา IF และเป็นเตาแบบระบบปิด สร้างมลภาวะฝุ่นและก๊าซพิษน้อยกว่า ควบคุมคุณภาพได้ง่ายและสม่ำเสมอกว่า

อย่างไรก็ตาม สำหรับการหารือกับสมาคมผู้ผลิตเหล็กและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทราบว่า ปี 2567 ที่ผ่านมา ไทยมีกำลังการผลิตเหล็กด้วย EAF ถึง 4.3 ล้านตัน เพียงพอต่อความต้องการเหล็กเส้นในประเทศ 2.8 ล้านตัน จึงเห็นตรงกันว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรจะพิจารณายกเลิกเหล็กที่ผลิตแบบ IF ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หากมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือระบบเศรษฐกิจ คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) สามารถพิจารณาและมีมติ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม สามารถออกประกาศกระทรวงปรับแก้ไขยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ได้ โดยดำเนินการตามกรอบกฎหมายต่อไป

 

นายพรยศ กลั่นกรอง

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

 

2. กรอ.ผนึก 6 พันธมิตร ปล่อยกรีนโลน คาดผู้ประกอบการ 2,500 แห่เข้าร่วม (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 22 เมษายน 2568)

นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า  ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมสีเขียว ประจำปี 2568 โดยเดินสายจัดโรดโชว์ จำนวน 10 ครั้งทั่วประเทศ พร้อมผนึกกำลังพันธมิตร เพิ่มแรงจูงใจด้านการเงิน (กรีนโลน) แก่ผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 2,500 ราย โดยพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดโครงการ BDS ให้เงินอุดหนุนแบบร่วมจ่าย 50-80% สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท/ปี ให้แก่ SME ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนเครื่องมือประเมินองค์กรผ่าน Thailand 4.0 Checkup ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนยกระดับสู่ Industry 4.0 และโปรแกรม ITAP ของ สวทช. สนับสนุน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีตามโจทย์ของผู้ประกอบการ สนับสนุนค่าใช้จ่ายโครงการ 50% คำปรึกษาเชิงลึกผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว และธนาคารกรุงไทย เสนอสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย 3 ปี วงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท ปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเสีย สินเชื่อส่วนเกินไม่มีเพดาน ดอกเบี้ยคงที่ 3% ตลอดอายุโครงการ ขณะที่ SME D Bank ให้กู้ผ่านโครงการ สินเชื่อ "SME Green Productivity" สำหรับผู้ประกอบการคนงานไม่เกิน 200 คน หรือทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 3% นาน 3 ปี ระยะเวลาโครงการสูงสุด 10 ปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับ EXIM Bank เสนอสินเชื่อดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.5% สำหรับ 2 ปีแรก วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท แก่ SME ที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ มอบโครงการสินเชื่อลดโลกร้อน วงเงิน 1-20 ล้านบาท ไม่เกิน 7 ปี ดอกเบี้ย 3% 3 ปีแรก โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) สูงสุด 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 4-5% ไม่เกิน 10 ปี โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธรุกิจ (คงกระพัน) สูงสุด 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 5-7% ไม่เกิน 3 ปี

 

นายณัฐ วงศ์พานิช

ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

 

3. ค้าปลีกไทย หวั่นภาษีสหรัฐฯ ดันสินค้าจีนทะลักเข้าไทยมากขึ้น (ที่มา: โพสต์ทูเดย์, ประจำวันที่ 22 เมษายน 2568)

นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ค้าปลีกไทยเต็มไปด้วยความท้าทายจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกที่ลดลงต่อเนื่อง สะท้อนภาพการบริโภคที่ชะลอตัว ภาคท่องเที่ยวเติบโตลดลง และภาคส่งออกที่กำลังเผชิญกับกำแพงภาษี จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกร พบว่า ปี 2567 ภาคค้าปลีกมีมูลค่าราว 4 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนมูลค่าใน GDP สูงเป็นอันดับ 2 หรือคิดเป็น 16% ของขนาดเศรษฐกิจทั้งประเทศ ไม่เพียงเท่านั้นยอดขายภาคค้าปลีกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง โดยในช่วงปี 2567-2568 โตเฉลี่ย 3.4% (1.36 แสนล้านบาท) เทียบกับในช่วงปี 2565-2566 ที่โต 5.9% จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กำแพงภาษีสหรัฐฯ กำลังซื้อผู้บริโภคที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงการแข่งขันรุนแรงกับแพลตฟอร์มค้าปลีกต่างชาติอย่าง E-Commerce นอกจากนี้ ยังต้องจับตากำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยที่สหรัฐฯ มีแผนจะเพิ่มขึ้นเป็น 37% ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากกว่า 8-9 แสนล้านบาท แม้ล่าสุดสหรัฐฯ ได้ประกาศเลื่อนการบังคับใช้ภาษีดังกล่าวออกไป แต่ผลกระทบในระยะยาวยังต้องรอความชัดเจนจากการเจรจาระหว่างทีมไทยและสหรัฐฯ ทั้งนี้ สำหรับคนที่จะได้รับผลกระทบหนัก คือ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่มากกว่า 3.3 ล้านราย นอกจากต้องเผชิญความเสี่ยงจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะสินค้านำเข้าราคาถูกและด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ ที่เข้ามาผ่านทางอีคอมเมิร์ซและผู้ประกอบการรายย่อยข้ามแดน ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าแรง ต้นทุนโลจิสติกส์ ค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ซึ่งในแง่ของสินค้าราคาถูกเข้าไทย มีแนวโน้มว่าสินค้าจากจีนจะไหลเข้าไทยมากขึ้น จากศึกสงครามภาษีระหว่างสหรัฐ-จีน โดยจีน คือประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูงที่สุด จึงต้องหาตลาดใหม่เพื่อระบายสินค้า บวกกับปัญหาการผลิตเกินความต้องการภายในประเทศ ทำให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการส่งออกสินค้าจีน ซึ่งอาจสร้างผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการไทยจนถึงขั้นปิดกิจการหรือเลิกจ้างแรงงาน

อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ค้าปลีกฯ เสนอว่า ควรมีการป้องกันสินค้าราคาถูกและด้อยคุณภาพจากต่างประเทศมีการตรวจสอบสินค้านำเข้า 100% จากเดิมที่เป็นการสุ่มตรวจ อาจจะใช้เทคโนโลยีที่มีความแม่นยำเข้ามาช่วยตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่วางจำหน่ายในประเทศอย่างเข้มงวด เช่น การมีมาตรฐาน มอก. และฉลากต้องเป็นภาษาไทย รวมถึงปราบปรามธุรกิจนอมินี จำเป็นต้องเร่งหามาตรการเชิงรุกในการจัดการธุรกิจนอมินี (Nominee) ที่สวมสิทธิ์คนไทยในทุกระดับ ตั้งแต่รายย่อยถึงรายใหญ่ ครอบคลุมธุรกิจในหลายรูปแบบ เช่น ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงแรมศูนย์เหรียญ เพื่อยับยั้งการรั่วไหลของเม็ดเงิน และผลักดันให้รายได้จากภาคค้าปลีกหมุนเวียนกลับสู่ระบบเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทย และป้องกันการสวมสิทธิ์ผลิตสินค้าที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกไปสหรัฐ (Re-Export) ส่งผลให้ไทยเกินดุลสหรัฐ เป็นต้น

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ดัชนี PPI เกาหลีใต้มี.ค. ยังนิ่ง แม้ราคาน้ำมันโลกร่วง (ที่มา: สำนักข่าว อินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 22 เมษายน 2568)

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเกาหลีใต้อยู่ที่ระดับ 120.32 ในเดือนมีนาคม 2568 แทบไม่ขยับจากระดับ 120.33 ในเดือนกุมภาพันธ์ แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงก็ตาม โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า ดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนมีนาคม ซึ่งนับเป็นการขยายตัวเมื่อเทียบรายปีติดต่อกันยาวนานถึง 20 เดือน ทั้งนี้ BOK อธิบายว่า สำหรับสาเหตุที่ราคาผู้ผลิตโดยรวมยังทรงตัว เป็นเพราะราคาในหมวดสินค้าเกษตรและอาหารอื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยชดเชยผลกระทบจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากรัฐบาลชี้ว่า ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเป็นเกณฑ์อ้างอิงของเกาหลีใต้ในเดือนมีนาคม ลดลงถึง 7% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 72.49 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ดัชนีราคาอุปทานในประเทศ ซึ่งคำนวณจากทั้งราคาผู้ผลิตและราคานำเข้า ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)