ข่าวประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2568

ข่าวในประเทศ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

1. "พิชัย" มั่นใจกล่อมมะกันเคลิ้ม (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2568)

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยบนเวทีสัมมนา TNN 16 Dinner Talk "Mission Thailand ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ" ถึงความกังวลของภาคเอกชนต่อนโยบายการค้าและมาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯ ว่ารัฐบาลติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยตนในฐานะทีมเจรจายืนยันว่าได้มีการติดต่อกับนายจามิสันกรีเออร์ (Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจทีมของรัฐบาลนำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทีมกระทรวงพาณิชย์ที่นำ โดยนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ทำงานกันหนัก มีรายละเอียดการเจรจาทุกขั้นตอน เชื่อว่า ไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กันมายาวนาน จะหาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกันได้แน่นอน และมั่นใจว่าจะสามารถเจรจาได้สำเร็จ โดยในขณะนี้บริษัทสหรัฐฯ รายใหญ่ เช่น Western Digital, Seagate และบริษัทอื่นๆ ซึ่งลงทุนในไทย ได้เข้าหารือและให้ข้อมูลเพื่อช่วยไทย เตรียมข้อเสนอที่ชัดเจน ไทยไม่ได้อยู่ใน 10 อันดับแรกของผู้ส่งออกสินค้า ที่ได้รับผลกระทบ การเจรจาจึงง่ายขึ้น และจะดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว โดยในวิกฤตินี้ไทยยังมีโอกาสช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากประเทศอื่นในสินค้าบางรายการ เช่น ถุงมือยาง ยางรถยนต์ ผลิตภัณฑ์จากยาง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลไม้แปรรูป ที่ไทยสามารถเพิ่มยอดส่งออกได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการป้องกันปัญหาสินค้าสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิด ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังเข้มงวดการออกเอกสารรับรองถิ่นกำเนิด (Certificate of Origin) เพื่อให้สินค้าที่ส่งออกเป็นสินค้าจากไทยจริงไม่ใช่สินค้านำเข้ามาเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยแล้วส่งออกได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานออกหนังสือรับรอง Form C/O สำหรับสินค้าเฝ้าระวังไปสหรัฐฯ เพียงหน่วยงานเดียว

นางอารดา เฟื่องทอง

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

 

2. ค้าชายแดนผ่านแดนคึกคัก 3 ด. โต 10.6% (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2568)

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนมีนาคม 2568 ว่า มีมูลค่าการค้ารวม 167,348 ล้านบาท ขยายตัว 10.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการส่งออก 91,767 ล้านบาท หรือบวก 4.4% และการนำเข้า 75,581 ล้านบาท บวก 18.1% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนมีนาคม 2568 ทั้งสิ้น 16,186 ล้านบาท ส่งผลให้ 3 เดือนแรกของปี 2568 การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนมีมูลค่าการค้ารวม 466,842 ล้านบาท บวก 10.6% เป็นการส่งออก 255,825 ล้านบาท บวก 9.2% การนำเข้า 211,018 ล้านบาท บวก 12.5% และไทยได้ดุลการค้า 44,807 ล้านบาท ทั้งนี้ การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ เดือนมีนาคม 2568 มีมูลค่าการค้ารวม 92,630 ล้านบาท บวก 4.5% เป็นการส่งออก 55,799 ล้านบาท บวก 0.1% การนำเข้า 36,831 ล้านบาท บวก 12% และไทยได้ดุลการค้ารวม 18,967 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนกับ สปป.ลาว มีมูลค่าสูงสุด 28,803 ล้านบาท บวก 7.8% รองลงมา คือ มาเลเซีย 27,171 ล้านบาท บวก 1.9% เมียนมา 18,435 ล้านบาท ลบ 5.9% และกัมพูชา 18,219 ล้านบาท บวก 16.7% ซึ่งสินค้าส่งออกชายแดนสำคัญในเดือนมีนาคม 2568 ได้แก่ น้ำมันดีเซล 4,141 ล้านบาท สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ (เช่น กากถั่วเหลือง นมผงเด็ก) 1,522 ล้านบาท และเครื่องดื่มอื่นๆ (เช่น นม UHT นมถั่วเหลือง) 1,435 ล้านบาท ทำให้ 3 เดือนแรกของปี 2568 การค้าชายแดนมีมูลค่ารวม 262,970 ล้านบาท บวก 5.0% เป็นการส่งออก 157,147 ล้านบาท บวก 2.0% และการนำเข้า 105,823 ล้านบาท บวก 9.7%

อย่างไรก็ตาม การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยยังรักษาแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องตลอด 3 เดือนแรกของปี 2568 โดยในเดือนมีนาคม 2568 การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวได้ดี อาทิ ฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ 10,621 ล้านบาท บวก 14.6% เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ 2,741 ล้านบาท บวก 19.1% และแผงวงจรไฟฟ้า 1,634 ล้านบาท บวก 102.0% ในขณะที่การส่งออกสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ก็ยังขยายตัวได้ดีเช่นกัน อาทิ ยางแท่ง TSNR 4,159 ล้านบาท บวก 3.8% น้ำยางข้น 3,340 ล้านบาท บวก 27.1% และยางสังเคราะห์ 1,987 ล้านบาท บวก 90.2% รวมถึงการส่งออกสินค้าผลไม้ อาทิ ทุเรียนสด 2,318 ล้านบาท บวก 9.0% ลำไยสด 484 ล้านบาท บวก 160.3% และมะม่วงสด 332 ล้านบาท บวก 70.3%

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

 

3. รัฐ-เอกชนระดมสมอง อัพอุตฯไฟฟ้า- PCB- เซมิคอนดักเตอร์ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2568)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดการประชุมระดมสมอง (Focus Group) เรื่อง "การยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมไฟฟ้า แผงวงจรพิมพ์ (PCB) และเซมิคอนดักเตอร์" ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จังหวัดปทุมธานี มีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคเอกชน อาทิ สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งในช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้การดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาคการส่งออกเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในตลาดโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยการจัดกิจกรรมระดมสมองสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า แผงวงจรพิมพ์ (PCB) และเซมิคอนดักเตอร์ในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีในการร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ความรู้ และความเห็นกับผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการยกระดับภาคการส่งออกของไทย โดยจะนำข้อมูล ความเห็น ประเด็นท้าทาย โอกาส และข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมการประชุมระดมสมองมาผนวกกับผลการศึกษาส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการปรับโครงสร้างและยกระดับภาคการส่งออกของไทย สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการส่งออกมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ช่วยกระตุ้นภาคการผลิตให้ขยายตัว สร้างการจ้างงาน และนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกในการกระตุ้นการผลิตเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยในปี 2567 การส่งออกสินค้าสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ 10.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 56.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และในไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม) การส่งออกมีมูลค่า 2,757,249 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% โดยมีแรงหนุนหลักจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม และการเร่งนำเข้าเพื่อเตรียมพร้อมรองรับมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ แต่วันนี้สถานการณ์การค้าเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรง ทั้งทางด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น รวมถึงนโยบายกำแพงภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อประเทศต่างๆ ที่ยังคาดการณ์ได้ยาก

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ญี่ปุ่นเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงาน ฉุดอัตราว่างงานปีงบ 67 ลดเหลือ 2.5% (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2568)

รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยของญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2567 ลดลง 0.1 จุดเปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2.5% นับเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบสองปี ท่ามกลางภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2568 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 30,000 คน เหลือ 1.75 ล้านคน ในทางกลับกัน จำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 370,000 คน ส่งผลให้ยอดรวมผู้มีงานทำแตะระดับ 67.93 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มมีการจัดเก็บข้อมูลที่เทียบเคียงได้ในปี 2496 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายละเอียดของผู้ว่างงาน พบว่าจำนวนผู้ที่ถูกเลิกจ้างโดยนายจ้างลดลง 20,000 คนจากปีงบประมาณ 2566 เหลือ 220,000 คน ขณะที่จำนวนผู้ที่ลาออกจากงานโดยสมัครใจ ซึ่งมักเป็นการย้ายงานเพื่อโอกาสที่ดีกว่า ยังคงทรงตัวอยู่ที่ 750,000 คน ซึ่งถึงแม้ภาพรวมทั้งปีดูดีขึ้น แต่หากมองเฉพาะเดือนมีนาคม อัตราการว่างงานกลับขยับขึ้นเล็กน้อยจาก 2.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ 2.5%

อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน ข้อมูลอีกด้านจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ แสดงให้เห็นถึงอัตราส่วนตำแหน่งงานว่างต่อผู้สมัครงาน (Job Availability Ratio) โดยเฉลี่ยในปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 1.25 ลดลง 0.04 จุดจากปีก่อนหน้า โดยตัวเลขนี้บ่งชี้ว่า มีตำแหน่งงานเปิดรับ 125 ตำแหน่งต่อผู้หางานทุก 100 คน

                    

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)