ข่าวประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2568

ข่าวในประเทศ

A person holding a microphone

AI-generated content may be incorrect.

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. อุตฯ ร่วมมือ KTR ยกระดับเทคโนโลยีการผลิต (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2568)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ลงนามความร่วมมือด้านการมาตรฐานกับ Korea Testing & Research Institute (KTR) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการทดสอบและวิจัย ที่ดำเนินงาน ร่วมกับสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการมาตรฐาน การตรวจสอบรับรองในด้านความปลอดภัย โดยมุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีสีเขียว และความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งปัจจุบัน สมอ. กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (BCG) แล้ว จำนวน 757 มาตรฐาน เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์มือสอง ปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก ฉนวนกันความร้อน ฟิล์มติดกระจกประสิทธิภาพพลังงาน เครื่องย่อยสลายขยะชีวภาพด้วยจุลินทรีย์ ระบบสูบน้ำด้วยระบบเซลล์แสงอาทิตย์ กระจกสะท้อนแสง ยางล้อสูบลม และคอนกรีตผสมเสร็จสำหรับสภาพแวดล้อมทางทะเล เป็นต้น ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านการมาตรฐานของไทยในระดับสากล โดยเฉพาะมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสีเขียวและความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานของประเทศไทยที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรเทาปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับอุตสาหกรรมไทย ให้แข่งขันได้ในระดับนานาชาติได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 13 ของไทย โดยในปี 2567 มีมูลค่าการค้าทวิภาคี รวมกว่า 15,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 520,586 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.64% จากปี 2566 โดยสินค้าส่งออกหลักของไทยที่ส่งไปสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และน้ำตาลทราย รวมทั้งยังเป็นผู้ลงทุนสำคัญอันดับที่ 11 ของไทย มีมูลค่าการลงทุนรวม 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,325 ล้านบาท ในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กกล้าและวัตถุดิบ เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี เครื่องจักรและยานพาหนะ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมการแพทย์

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง สมอ. กับ KTR ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการมาตรฐาน การตรวจสอบและรับรองในสาขาความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีสีเขียวและความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดสัมมนา ทางวิชาการ กระบวนการทดสอบ การฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานตามแนวปฏิบัติสากล รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตามที่คู่ภาคีมีความสนใจร่วมกัน ถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างสองหน่วยงาน โดยหลังจากนี้จะดำเนินการจัดประชุมวางแผนจัดกิจกรรมทางวิชาการด้านการมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองต่อไป

 

นายณัฐพล รังสิตพล

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

2. ปั๊มเศรษฐกิจอีสานตอนบนพันล้าน (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2568)

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบและเห็นชอบในหลักการโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ได้แก่ จังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร หรือที่เรียกกันในชื่อ "กลุ่มจังหวัดสนุก" ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอ 2 โครงการสำคัญ (ใน 21 โครงการ) รวมงบประมาณทั้งสิ้น 113.4 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้สูงถึง 1,134 ล้านบาท ได้แก่ 1. โครงการสนุกไรซ์พลัส "SNUK RICE PLUS" ในอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวมูลค่าสูง งบประมาณ 61.4 ล้านบาท มีเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวในพื้นที่ภาคอีสาน ด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตให้ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูป และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากข้าว นอกจากนี้ จะมีการนำผลพลอยได้ (By-product) และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า เช่น แป้งรำข้าว ผลิตภัณฑ์จากแกลบ หรือเยื่อข้าว โดยการสร้างแบรนด์ "สนุกไรซ์" ให้เป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาค และ 2. โครงการบีฟวัลเลย์ "Beef Valley" งบประมาณ 52 ล้านบาท เน้นยกระดับอุตสาหกรรมโคเนื้อในกลุ่มจังหวัดสนุกให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปโคเนื้อที่มีมาตรฐานระดับโลก มีเป้าหมาย ในการพัฒนาคุณภาพเนื้อโคในทุกมิติ ตั้งแต่สายพันธุ์ วิธีการเลี้ยง การจัดการหลังการเชือด และการแปรรูป

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ จะมีการสร้างแบรนด์ "SNUK Beef Valley" พัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปโคเนื้อ   เน้นเป็นคนรุ่นใหม่และผู้ประกอบการในพื้นที่ 200 คน 130 กิจการ 130 ผลิตภัณฑ์ และสร้างโมเดลต้นแบบ 3 กิจการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และจัดกิจกรรมด้าน การตลาดผ่านเทศกาลเนื้อ "สนุก Beef Festival" รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์

 

3. รัฐอัดฉีดโปรเจ็กต์ดันราคาวัสดุ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2568)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2568 เท่ากับ 113.1 เทียบกับเดือนเมษายน 2567 สูงขึ้น 0.8% ซึ่งมีสาเหตุจากความต้องการใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทั้งโครงการใหม่และโครงการต่อเนื่อง รวมทั้งความต้องการใช้ในการซ่อมแซมอาคารและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยกดดันคือ การชะลอตัวของ ภาคอสังหาฯที่เข้มงวดอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงหนี้ครัวเรือนทรงตัวสูง ทั้งนี้ สำหรับหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้น 0.9% จากการสูงขึ้นของไม้พื้น ไม้แบบ วงกบประตู และวงกบหน้าต่าง หมวดซีเมนต์ สูงขึ้น 4.1% จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้น 1.1% จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง และคอนกรีตผสมเสร็จ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลง 2.6% จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย เหล็กตัว H และท่อเหล็กดำ หมวดกระเบื้อง ลดลง 1.2% จากการลดลงของกระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา กระเบื้องเคลือบบุผนัง และกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้น 0.2% จากการสูงขึ้นของสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง และน้ำมันเคลือบแข็งภายในและภายนอก หมวดสุขภัณฑ์ ลดลง 1.7% จากการลดลงของโถส้วมชักโครก ฝักบัวอาบน้ำ และราวจับสแตนเลส หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้น2.1% จากการสูงขึ้นของสายไฟฟ้า VCT สายส่งกำลังไฟฟ้า NYY เครื่องตัดไฟอัตโนมัติ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้น 5.9% จากการสูงขึ้นของยางมะตอย และวัสดุธรรมชาติ (หิน ดิน ทราย)

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม มีแนวโน้มสูงขึ้น ปัจจัยจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐส่งผลให้ก่อสร้างภาครัฐขยายตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น ขยายมาตรการลดค่าโอนและจดจำนอง เหลือ 0.01% ผ่อนปรนเกณฑ์ LTV เป็นต้น ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ภาคอสังหาฯ ฟื้นตัว รวมทั้งความต้องการใช้เหล็กได้มาตรฐานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. อินโดนีเซียว่างงานพุ่งแตะ 7.28 ล้านคนในเดือนก.พ. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2568)

สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซีย เปิดเผยรายงานว่า อินโดนีเซียมีจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นหลายหมื่นคน สู่ระดับ 7.28 ล้านคน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 คิดเป็นสัดส่วน 4.76% ของกำลังแรงงานทั้งหมด 153.05 ล้านคน ทั้งนี้ ทางด้านอมาเลีย อดินิงการ์ วิดยาสันติ หัวหน้าสำนักงานสถิติฯ แถลงข่าวว่า "แรงงานไม่ได้ถูกดูดซับเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งหมด ทำให้มีผู้ว่างงานอยู่ 7.28 ล้านคนในปัจจุบัน โดยบางส่วนลาออกจากงานและยังหางานใหม่ไม่ได้ ขณะที่บางส่วนเป็นแรงงานใหม่ที่ยังไม่ได้งานทำ" โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก เผชิญกับการเลิกจ้างจำนวนมากในระยะหลัง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ขณะที่หัวหน้าสำนักงานสถิติฯ ได้อ้างอิงข้อมูลของรัฐบาลที่แสดงให้เห็นว่า คนงานที่ถูกเลิกจ้างและยังคงว่างงานส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย กรรม

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ สำนักงานสถิติฯ ยังรายงานด้วยว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียโตช้าลงสู่ระดับ 4.87% ในไตรมาส 1/2568 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2564      

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)