ข่าวในประเทศ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
1. "พิชัย" เปิดเวที OECD หนุนการแข่งขันเสรี ดันไทยพร้อมร่วมเป็นสมาชิก ช่วยแข่งขันสร้างนวัตกรรม - ยกระดับเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตคนไทย (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2568)
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ได้หารือกับนายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งเดินทางเยือนไทย เพื่อเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเป็นสมาชิก เช่น การยกระดับมาตรฐานในทุกมิติ เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายตลาดต่างประเทศ และเข้าถึงองค์ความรู้ คำปรึกษา และความช่วยเหลือทางวิชาการจาก OECD โดยตรง ทั้งนี้ ไทยยืนยันความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนกระบวนการปรับปรุงภายใน เพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานของ OECD และผลักดันให้การเข้าเป็นสมาชิกบรรลุผลโดยเร็ว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เองจะสนับสนุนเต็มที่ ผ่านคณะกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการการค้าของ OECD เป็นต้น นอกจากนี้ ได้นำเสนอนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของไทย อาทิ การจัดทำ FTA ฉบับใหม่ การปรับโครงสร้างการส่งออกให้ทันสมัย และการส่งเสริมการลงทุนด้านนวัตกรรม เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารสมัยใหม่ ซึ่งได้รับข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์จากเลขาธิการ OECD เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันเสรีเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับนวัตกรรม และคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมชื่นชมบทบาทของ OECD ที่สนับสนุนไทยผ่านโครงการ Country Program Phase 2 โดยเฉพาะการเสริมศักยภาพคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และการปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันให้เทียบเท่าสากล
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
2. จับคู่เจรจาธุรกิจชิ้นส่วนอุตฯ บีโอไอคาดเงินสะพัดกว่า 2 หมื่นล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2568)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย เตรียมจัดงานนิทรรศการแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมระดับนานาชาติ "SUBCON Thailand 2025" ซึ่งถือเป็นงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นงานใหญ่ประจำปีที่บีโอไอจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ภายใต้แนวคิด "The Global Sourcing Excellence" เพื่อแสดงศักยภาพและความแข็งแกร่งของ Supply Chain ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย และเชื่อมโยงผู้ผลิตไทยให้เข้าถึงโอกาสในการเชื่อมต่อกับบริษัทระดับโลกในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เครื่องมือแพทย์ และอากาศยาน พร้อมร่วมกันผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น "ศูนย์กลางการจัดซื้อและรับช่วงการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน"สำหรับการจัดงานในปีนี้ ได้เชิญผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศกว่า 500 บริษัท จาก 11 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ลักเซมเบิร์ก และไทย เข้าร่วมกิจกรรมเชื่อมโยงและจับคู่ธุรกิจ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 8,000 คู่ คาดว่าจะเกิดมูลค่าการเชื่อมโยงกว่า 20,000 ล้านบาท และจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 45,000 คน โดยจะมีการเปิดพื้นที่พิเศษ "xEV Sourcing Zone" ให้กับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ในระดับ Tier 1 จำนวน 10 บริษัท เพื่อนำเสนอนโยบายจัดซื้อ และจัดแสดงชิ้นส่วนที่ต้องการจัดซื้อภายในประเทศ พร้อมจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย โดยเฉพาะกลุ่ม Tier 2 และ Tier 3 รวมทั้งพื้นที่แสดงศักยภาพการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ในอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าของ 2 ค่ายรถยนต์ ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยูและฉางอาน นอกจากนี้ บีโอไอจัดให้มีการสัมมนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย มากกว่า 20 หัวข้อ และเปิดเวทีสัมมนาพิเศษเรื่องทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในหัวข้อ "BOI SYMPOSIUM 2025: "Shaping the Future of xEV in Thailand: Opportunities for Innovation and Growth" พร้อมปาฐกถา เรื่อง "นโยบายและทิศทางการส่งเสริมการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนไทย สู่ศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต (xEV)" โดยเลขาธิการบีโอไอ และเสวนา "ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน: โอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย ปรับตัวอย่างไรให้ตอบโจทย์ตลาดโลก" โดยผู้บริหารระดับสูงจาก 6 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ได้แก่ เมอร์เซเดส-เบนส์ บีเอ็มดับเบิลยู ฮอนด้า โตโยต้า เอ็มจี และฉางอาน มาร่วมเวทีครั้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์การค้าโลกที่ทวีความรุนแรง ส่งผลให้เกิดการโยกย้ายฐานการผลิต และ การหาผู้ผลิตชิ้นส่วนใหม่ๆ ของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เพื่อปรับ Supply Chain ให้มีความยืดหยุ่นและสามารถรองรับปัญหาการกีดกันทางการค้าได้ดียิ่งขึ้น ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่จะต้องเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมระดับโลกเหล่านี้ให้ได้ ผ่านการเร่งสร้างเครือข่ายกับผู้ซื้อรายใหญ่ รวมถึงการเรียนรู้ความต้องการของผู้ซื้อ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้เป็นที่ยอมรับและคว้าโอกาสใหม่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
3. เงินเฟ้อเม.ย. ติดลบครั้งแรก ในรอบ 13 เดือน (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2568)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนเมษายน 2568 อยู่ที่ 100.14 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนเมษายนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -0.22% (YoY) ซึ่งถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 13 เดือน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า ประกอบกับการลดลงของราคาผักสด ในขณะที่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ราคายังคงสูงขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - เมษายน 2568) สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.75% ทั้งนี้ สนค.คาดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2568 มีโอกาสจะติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดล ทั้งนี้ การที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 2 เดือนนั้น ยังไม่ได้บ่งบอกว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2568 ที่ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน มีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก และมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ซึ่งในเดือนเมษายน 2568 ราคาสินค้าและบริการสำคัญมีความเคลื่อนไหวหลากหลาย โดยมีรายการที่ปรับขึ้นถึง 270 รายการ เช่น เนื้อสุกร ปลานิล กล้วยน้ำว้า กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำมันพืช ขนมหวาน ค่าเช่าบ้าน และน้ำมันดีเซล เป็นต้น สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 2 ปี 2568 สนค. คาดอยู่ในช่วง 0.1-0.2% ลดลงจากไตรมาสแรกที่เฉลี่ย 1.08% มีปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง การลดค่าไฟฟ้าของรัฐ และปริมาณผลผลิตผักสดที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่ดี
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ การส่งเสริมการตลาดจากภาคเอกชนก็ช่วยลดแรงกดดันด้านราคา ทั้งนี้ ยังต้องจับตาราคาน้ำมันดีเซลที่สูงกว่าปีก่อน และราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในเฟสถัดไปนั้น สนค. มองว่าจะไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากไม่มีผลต่อโครงสร้างต้นทุนของผู้ผลิตสินค้า
ข่าวต่างประเทศ
4. PMI ภาคบริการญี่ปุ่นเดือนเม.ย.กลับมาขยายตัว ยอดคำสั่งซื้อหนุน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2568)
au Jibun Bank เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่น พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 52.4 ในเดือนเมษายน จากระดับ 50.0 ในเดือนมีนาคม และสูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 52.2 ถือเป็นภาพรวมที่ดีขึ้นของภาคบริการ สวนทางกับภาคการผลิตที่ยังคงดูอ่อนแอ ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว โดยการฟื้นตัวของกิจกรรมในภาคบริการยังช่วยผลักดันให้ดัชนี PMI รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นสุดท้าย ดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ 51.2 ในเดือนเมษายน จาก 48.9 ในเดือนมีนาคม ซึ่งตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่าผลผลิตโดยรวมของภาคเอกชนในญี่ปุ่นได้กลับเข้าสู่ภาวะขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ธุรกิจใหม่ๆ ในภาคบริการก็เติบโตเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยบริษัทต่างๆ ให้ข้อมูลว่า ความต้องการของตลาดปรับตัวดีขึ้น สวนทางกับภาคการผลิตที่คำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวลงเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ท่ามกลางความวิตกเรื่องกำแพงภาษีสหรัฐฯ
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)