ข่าวในประเทศ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
1. 'พิชัย' ดัน 7 มาตรการ เร่งส่งออก-ปิดดีล FTA ไทย-ยุโรป (ที่มา: เนชั่นออนไลน์, ประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2568)
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งขับเคลื่อนนโยบายตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2568 ที่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งท่านนายกฯ ได้กำชับให้ส่งเสริมและผลักดันสินค้าเกษตรไทย เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาด และเพื่อให้เกษตรกรขายได้ราคาสูงสุด รวมถึง การหาคู่ค้าหรือตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีอยู่กับประเทศต่างๆ ให้ได้มากที่สุด โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำ 7 มาตรการ 25 แผนงานล่วงหน้า ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การตลาด การส่งออก ไปจนถึงการแปรรูปและอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อระบายผลไม้ 950,000 ตัน ไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่กับการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ภายในประเทศอย่างเข้มข้น ได้กำชับไปยังกรมการค้าภายในให้ดำเนินมาตรการเชิงรุก จัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ร่วมกับห้างค้าปลีกชั้นนำตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาล อาทิ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เซ็นทรัล เดอะมอลล์ ห้างในเครือซีพีแอ็กซ์ตร้า เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้เกษตรกรโดยตรง และเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตของพี่น้องเกษตรกร กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้ร่วมมือกับ 3 สมาคมใหญ่ ได้แก่ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าโครงการนี้เพื่อนำปุ๋ยคุณภาพดีมาลดราคาสูงสุดกระสอบละ 50 บาท ครอบคลุมพืชทุกชนิด รวมกว่า 79 สูตร ปริมาณกว่า 10.06 ล้านกระสอบ จากผู้ประกอบการ 26 รายทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 30 กันยายน 2568 อีกด้วย ทั้งนี้ ในส่วนการเจรจา FTA ได้เร่งเดินหน้าโครงการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และอาเซียน-แคนาดา โดยตั้งเป้าสรุปให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยมีความตกลงทางการค้ากับกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และเสริมแต้มต่อให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยขยายตลาดใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลสำเร็จของ FTA เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคม 2568 การส่งออกของไทยขยายตัวถึง 17.8% คิดเป็นมูลค่า 29,548.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดันยอดส่งออกไตรมาสแรกโต 15.2% รวมมูลค่า 81,532.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเห็นได้ว่า การสรุปและลงนามข้อตกลง FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ที่มีประเทศมีกำลังซื้อสูงอย่างสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ เมื่อเดือนมกราคม 2568 มีความสำคัญมาก เป็นสัญญาณเชิงบวกต่อการโอกาสทางการค้าระหว่างกันในอนาคต โดยการส่งออกของไทยไปยังตลาดสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวต่อเนื่อง ในเดือนมกราคม 852% เดือนกุมภาพันธ์ 235% และเดือนมีนาคม 497%
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์
ปลัดกระทรวงพาณิชย์
2. พณ.แก้สินค้าเกษตรตกต่ำ (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2568)
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2568 ซึ่งมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวมทั้งหามาตรการรับมือผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ โดยให้ เดินหน้าขยายเอฟทีเอเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ สำหรับประเด็นการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำนั้น ได้เน้นย้ำให้พาณิชย์จังหวัดประสานหน่วยงานราชการและเอกชน ช่วยกันการระบายผลผลิตออกจากแหล่งผลิต ส่วนมาตรการรับมือภาษีสหรัฐ ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพิจารณาแนวทางการแก้ไขอุปสรรคทางการค้า ร่วมกัน ส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจำเป็นและสนับสนุนให้ ผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนในสหรัฐมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ได้นำระบบดิจิทัลมาใช้ โดยเตรียมเปิดตัว แอปพลิเคชั่น 'MOC Go' เพื่อติดตามสถานะของผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้บริการได้แบบเรียลไทม์ และ 'Super App' ที่รวบรวมบริการของกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมดไว้ในแอปพลิเคชั่นเดียว ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลและบริการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ช่วยลดขั้นตอนและเวลาในการติดต่อกับภาครัฐ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. ภาคเอกชนปรับลดเป้า GDP ไทยปี 68 เหลือ 2.0-2.2% (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2568)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนพฤษภาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบถึงสถานการณ์สงครามการค้ากดดันเศรษฐกิจโลกปี 2568 โตต่ำกว่าคาด โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการเติบโตของจีดีพีโลกปี 2568 ลงจาก 3.3% เหลือ 2.8% พร้อมเตือนว่าการกีดกันทางการค้าจะส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกเติบโตเพียง 1.7% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าช่วง European crisis เมื่อปี 2554 โดยมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ กดดันภาคการส่งออก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและ SME ภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บจะกระทบสินค้าส่งออกหลายกลุ่ม หากถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ที่อัตรา 36% มูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ อาจจะหายไปสะสมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาทภายใน 10 ปี ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวที่ 2.0-2.2% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 2.4-2.9% ปัจจัยหลักจากผลกระทบของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยประเมินภายใต้สถานการณ์ ที่ไทยถูกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ที่อัตรา 10% ในช่วงไตรมาส 2/68 (หลังมีการเลื่อนขึ้นภาษีเต็มรูปแบบออกไป 90 วัน) และอัตราภาษีในครึ่งปีหลังยังอยู่ที่ 10% ที่ส่งผลให้มูลค่า การส่งออกทั้งปีเติบโตเพียง 0.3-0.9% จากประมาณการเดิมที่ 1.5-2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำที่ 0.5-1.0% ลดลงจากประมาณการเดิมเช่นกัน แต่ถ้าไทย ถูกเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 36% ในครึ่งปีหลัง จีดีพีปี 2568 จะโตเพียง 0.7%-1.4% เหตุจากการส่งออกทั้งปีอาจหดตัวได้มากถึง -2%
อย่างไรก็ตาม กกร. มองว่า นอกเหนือจากการที่ไทยจะต้องเร่งเจรจากับสหรัฐในเรื่องการปรับลดกำแพงภาษีแล้ว ยังต้องติดตามผลการเจรจาของประเทศคู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซียด้วย เพราะหากประเทศเหล่านี้สามารถเจรจาขอยกเว้นหรือลดอัตราภาษีนำเข้าได้ต่ำกว่าไทย ก็อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ในช่วง 32.5-32.7 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าระดับที่ธุรกิจแข่งขันได้ โดยมองว่าควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป และการสื่อสารฯเชิงรุก เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถรับรู้และปรับตัวได้ทันการณ์
ข่าวต่างประเทศ
4. พาวเวลส่งสัญญาณ เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยหากข้อมูลเศรษฐกิจสนับสนุน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2568)
นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยว่า ได้มีการจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินในวันพุธ (7 พฤษภาคม 2568) โดยกล่าวว่า ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจ แต่เขามองว่าเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง พร้อมกับกล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังคงมีเป็นไปได้หากมีข้อมูลเศรษฐกิจสนับสนุน แต่เฟดไม่สามารถตัดสินใจล่วงหน้าเกี่ยวกับนโยบายการเงินได้ จนกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากร พาวเวล กล่าวว่า "เรายังไม่เห็นข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง" ทั้งนี้ นโยบายชุดใหม่ทั้งหมดของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงมีการพัฒนา และผลกระทบต่อเศรษฐกิจยังคงไม่แน่นอนอย่างมาก หากการปรับขึ้นภาษีศุลกากรในอัตราสูงที่ได้ประกาศไว้นั้น ยังคงมีผลบังคับใช้ ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และทำให้การว่างงานปรับตัวสูงขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ นั้น เป็นการสะท้อนถึงช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาที่เกิดขึ้นในครั้งเดียว แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ว่าผลกระทบต่อเงินเฟ้ออาจจะเกิดขึ้นเป็นเวลาที่ยาวนานขึ้น ทั้งนี้ พาวเวลเชื่อว่าเฟดอยู่ใน "สถานะที่ดี" ที่จะรอดูว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมาตรการภาษีศุลกากรของรัฐบาลทรัมป์จะเป็นไปเช่นไร
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)